SHARE

คัดลอกแล้ว

สภาพฝนตกหนักจนถนนหลายสายในเมืองกรุงจมอยู่ใต้น้ำอยู่หลายชั่วโมงในช่วงไม่กี่วันนี้ ดูจะเป็นฝันร้ายสำหรับคนกรุงเทพฯ อยู่ไม่น้อยนับตั้งแต่เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554

 

มวลน้ำครั้งนั้น ได้กลายเป็นบทเรียน และนโยบายการจัดการภัยพิบัติในเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุโมงค์ระบายน้ำยักษ์ ที่ก่อนหน้านั้นผู้บริหารของกทม. ก็ออกมายืนยันหนักแน่นว่าจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองหลวงได้อย่างแน่นอน

 

จนเหตุการณ์ “น้ำรอระบาย” เมื่อกลางปีที่แล้วทำให้หลายคนใจเต้นไม่เป็นจังหวะอีกครั้งว่า “ระบบป้องกัน” หรือ “ระบายน้ำ” ที่คุยนักคุยหนา จะเอาอยู่หรือเปล่า และยิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อเมืองกรุงจมน้ำซ้ำแล้วซ้ำอีกในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา

 

นอกจากความเซ็งในอารมณ์แล้ว หลายคนยังสงสัยอยู่ว่า ตกลงอุโมงค์ระบายน้ำที่เคยถูกโฆษณาด้วยความภูมิใจ ทำไมถึง “เอาไม่อยู่” 

 

หรือถ้าไม่ใช่อุโมงค์ยักษ์ กรุงเทพมหานครมีเครื่องมืออะไรอีกบ้างไหม ในการรับมือกับน้ำฝนที่ถาโถมลงมาชนิดไม่ลืมหูลืมตาอย่างนี้

 

ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจกายภาพของ “บางกอก” บ้านเราก่อนว่า เป็นที่ลุ่มต่ำ และแอ่งกะทะที่มีความสูงต่ำไม่เท่ากันหลายจุด บางแห่งระดับเท่ากับระดับน้ำทะเล เช่น ถนนสุขุมวิท ถนนเพชรบุรี ถนนรามคำแหง ทำให้เมื่อฝนตกลงมาอย่างหนักจึงเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ได้ง่าย และไม่สามารถระบายออกเองได้ตามธรรมชาติต้องใช้เครื่องสูบน้ำช่วยสูบออก

 

การเติบโตของเมืองที่รวดเร็วทำให้พื้นที่รับน้ำเดิมลดลง แทนที่ด้วยตึกสูงจำนวนมาก เมื่อรวมกับปัญหาดินทรุดตัวจากการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ จึงยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะ “น้ำท่วมขัง” ได้ง่าย

 

bkk

 

ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของกรุงเทพฯ แบ่งออกเป็น 2 ระบบ คือ คันป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ กับ ระบบระบายน้ำท่วมขัง ซึ่งรองรับปริมาณฝนได้ไม่เกิน 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ประกอบไปด้วย ท่อ ประตู คู คลอง กระจายอยู่ทั่วพื้นที่

 

สำหรับ อุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำ ที่หลายคนคาใจนักหนา อันที่จริงแล้ว อุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ ปัจจุบันมี 7 แห่งด้วยกัน ความยาวรวม 19 กิโลเมตร มีประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 155.50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างเพิ่มเติมอีก 5 แห่ง 

bkk

 

bkk

 

แม้จะมีระบบรองรับ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยแวดล้อมอย่าง “ขยะ” หรือแม้แต่ตะกอนไขมันภายในท่อระบายน้ำทั่วกรุงเทพฯ ที่ถูกแชร์กันทั่วโลกออนไลน์อยู่นั้น ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการ “ปิดกั้น” ทางน้ำ ซึ่งปัจจุบัน กทม. ต้องรับมือกับปริมาณขยะเฉลี่ยราว 13,000 ตันต่อวัน

 

ยังไม่นับความพังของ “ผังเมือง” ที่เป็นปมปัญหาที่แก้ไม่เคยตกตลอดเวลาที่ผ่านมา

 

แถมด้วยอีกประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ เรื่องของงบประมาณบริหารจัดการน้ำของกรุงเทพมหานครซึ่งตลอด5 ปีที่ผ่านมา (2555-2559) กรุงเทพมหานคร โดย สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ได้ใช้งบประมาณเพื่อบริหารจัดการและแก้ปัญหาน้ำท่วมไปแล้วทั้งสิ้น 27,335,243,762 บาท

 

เรื่องนี้รายงานผ่านผลสรุปจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณบริหารจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมดังกล่าวพบว่า กทม. ใช้ งบการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลักๆ คือ งบงานบริหารทั่วไป อย่าง ค่าใช้จ่ายทั่วไปด้านการระบายน้ำ, งบงานพัฒนาระบบระบายน้ำได้แก่ โครงการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง และระบบต่างๆ เพื่อป้องกันน้ำท่วม แผนแม่บทระบบระบายน้ำ จ้างที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างอุโมงค์ และสารสนเทศระบายน้ำ, งบงานจัดการระบายน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม อย่าง อาคารที่ทำการ ปรับปรุงสถานีสูบน้ำ ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำในเขต กทม. และ งบงานจัดการคุณภาพน้ำ

 

ทั้งนี้ภายใต้งบในส่วนของงานจัดการระบายน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมนั้นได้กระจายไปยังสำนักงานเขตต่างๆ จำนวน 50 เขต รวมกว่า 4 พันล้านบาท โดยสำนักงานเขตที่ได้รับงบระบายน้ำ และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมมากที่สุด ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ เขตบึงกุ่ม ได้งบกว่า 482 ล้านบาท, เขตสายไหม ได้งบกว่า 168 ล้านบาท, เขตลาดกระบัง ได้งบกว่า 143 ล้านบาท, เขตลาดพร้าวได้งบกว่า 129 ล้านบาท และเขตจอมทองได้งบกว่า 128 ล้านบาท

 

จนถึงวันนี้คนกรุงก็คงได้แต่หวังว่า เม็ดเงินภาษีที่เสียไปจะคุ้มค่ากับการแก้ปัญหา “น้ำรอระบาย” โดยไม่ต้องยกครัวย้ายหนีไปอยู่บนดอยอย่างที่อดีตผู้ว่าฯ ท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้

 

บทความวันที่ 02 มิ.ย. 2560

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า