SHARE

คัดลอกแล้ว

จบลงแล้วสำหรับละคร “เพลิงบุญ” ฮิตกันไปทั่วบ้านทั่วเมือง  ใครๆ ก็พูดถึง “ฤกษ์”  “ใจเริง” และ “พิมพ์”

 

ใจเริง” นั้นเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่ทะยานอยาก  เธอทำทุกอย่างเพื่อให้มั่งมีและได้สิ่งที่อยากครอบครอง  แต่ฉากจบของเธอนั้นไม่สวยงามเอาเสียเลย เมื่อเธอถูกขายโดยอดีตสามีให้กับ “มาเฟียรัสเซีย” นามว่า “ปีเตอร์” และอยู่ในฐานะภรรยา

 

“ปีเตอร์” เป็นมาเฟียรัสเซีย  เราได้รู้จากบริบทตัวละครคร่าวๆ ว่าทำอาชีพผิดกฎหมายหลายอย่าง และหนึ่งในนั้นคือการ “ค้าอาวุธสงคราม” ซึ่งอาชีพนี้ทำให้ “ปีเตอร์” ร่ำรวยอย่างมหาศาล

 

ซึ่งตามบท “ปีเตอร์” เป็นโรคจิตประเภทหนึ่งที่ชื่นชอบความรุนแรงในการมีเพศสัมพันธุ์ ซึ่ง “ใจเริง” ก็ต้องทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส แต่เธอก็แลกมาด้วยการจับจ่ายอย่างไม่อั้นโดยบัตรเครดิตที่ไม่จำกัดวงเงินของ ” ปีเตอร์”

 

และเธอก็แสดงออกถึงความรักลูกในช่วงสุดท้ายของชีวิต โดยทำพินัยกรรม ยกทรัพย์สินที่เธอซื้อมาทั้งหมดจากเงินของ “ปีเตอร์” ให้กับลูกของเธอที่เกิดกับฤกษ์

 

ละครจบลง หลายคนให้อภัยกับสิ่งเลวร้ายที่เธอเคยกระทำ เพราะความ “รักลูก” ในตอนสุดท้ายของละคร ส่วนอีกหลายคนก็ฟินไปกับการคืนดีของ “ฤกษ์” และ “พิมพ์”  ซึ่งร่วมดูแลลูกของ “ใจเริง”

 

ที่กล่าวมาทั้งหมดคือ “ละคร”  แต่หากเราเอาข้อเท็จจริงมาจับ จะเห็นได้ว่าละครเรื่องนี้มีหลายจุดที่ตัวละครนั้นทำผิดกฎหมายและเข้าข่ายที่ต้องรับโทษทางอาญา  เอาแค่ตอนท้ายที่เราอ้างถึงตามบทความชิ้นนี้

 

การที่ “สุรทิน” นำ “ใจเริง” มาขายให้ “ปีเตอร์” นั้น  เข้าข่าย “พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์” โดยระบุลักษณะที่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ไว้ในมาตรา 6 ว่า   

 

“ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1)
เป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งบุคคลใด โดยข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ ลักพาตัว ฉ้อฉล หลอกลวง ใช้อำนาจโดยมิชอบ ใช้อำนาจ ครอบงำบุคคลด้วยเหตุที่อยู่ในภาวะอ่อนด้อยทางร่างกาย จิตใจ การศึกษา หรือทางอื่นใดโดยมิชอบ ขู่เข็ญ ว่าจะใช้กระบวนการทางกฎหมายโดยมิชอบ หรือโดยให้เงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นแก่ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลบุคคลนั้นเพื่อให้ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลให้ความยินยอมแก่ผู้กระทำความผิดในการแสวงหาประโยชน์ จากบุคคลที่ตนดูแล หรือ

 

(2) เป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งเด็กถ้าการกระทำนั้นได้กระทำโดยมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์

 

ส่วนการใช้กำลังบังคับข่มขู่ของ “ปีเตอร์” นั้น ก็เข้าข่ายการข่มขืนใจให้ทำงานหรือให้บริการ ตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เช่นเดียวกัน  เพราะกฎหมายกำหนดการกระทำไว้ดังนี้   (1) ทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของบุคคลนั้นเอง หรือของผู้อื่น (2) ขู่เข็ญด้วยประการใดๆ  (3) ใช้กำลังประทุษร้าย  (4) ยึดเอกสารสำคัญประจำตัวของบุคคลนั้นไว้ หรือนำภาระหนี้ของบุคคลนั้นหรือของผู้อื่น มาเป็นสิ่งผูกมัดโดยมิชอบ และ (5) ทำให้บุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้

 

โดยหากถูกจับ จะต้องถูกนำขึ้นศาลอาญาแผนกคดีค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นศาลที่แยกออกมาเฉพาะ  และหากตัดสิน ไม่ว่าจะเป็น  “ปีเตอร์”  หรือ”สุรทิน” จะต้องระวางโทษจำคุก 4 ปี – 12 ปี และปรับ 400,000 – 1,200,000 บาท    

 

นอกจากนี้ การที่ “ปีเตอร์” ทำร้ายร่างกายภรรยาอย่าง “ใจเริง”  ถือเป็นความผิด ตาม “พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550”  มาตรา 4  ระบุว่า “ผู้ใดกระทำการอันเป็นความรุนแรงในครอบครัว ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

 

แต่อย่างไรก็ตามความผิดตามกฎหมายนี้สามารถยอมความได้

 

ทั้งนี้ผู้ที่รับรู้รับทราบ การกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว มีหน้าที่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้  ซึ่งผู้ที่รู้เห็นและรับทราบในเรื่องนี้ก็มีอยู่หลายคน  ซึ่งสามารถแจ้งได้หลายช่องทาง จากนั้นก็ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือและฟื้นฟูต่อไป

 

สำหรับฉากสุดท้ายที่ “ใจเริง” ทำพินัยกรรมมอบทรัพย์สมบัติที่ได้มาระหว่างอยู่กับ “ปีเตอร์” ให้ลูกชาย ก็บอกได้เลยว่า ลูกของเธอจะไม่ได้ใช้สมบัติที่เธอทิ้งไว้ให้ครั้งสุดท้าย

 

นั่นเพราะทรัพย์สินที่เธอสะสมนั้นซื้อมาจากเงินของ “ปีเตอร์” มาเฟียค้าอาวุธสงคราม  ซึ่งตาม “พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราบการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 แก้ไข พ.ศ. 2558”  ระบุความผิดฐานหนึ่งซึ่งเข้าข่ายการฟอกเงินว่า  “(21) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน เฉพาะที่เป็นการค้าอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิด และความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์เฉพาะที่เป็นการค้ายุทธภัณฑ์เพื่อนำไปใช้ในการก่อการร้าย การรบ หรือการสงคราม”

 

สินค้าที่ซื้อจากเงินนั้น จึงเข้าข่ายการฟอกเงิน  เบื้องต้น ป.ป.ง. ก็จะอายัดเอาไว้ เพื่อตรวจสอบว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดหรือไม่  หากพบว่าเป็นทรัพย์สินที่มาจากการกระทำผิดก็จะร้องต่อศาลเพื่อขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต่อไป

 

ดังนั้นเมื่อ “ปีเตอร์” หนีไป  “ใจเริง” ก็มาตายเสียก่อน  ภาระการชี้แจงจึงมาตกที่ลูกของ “ใจเริง”  ที่มี “ฤกษ์” เป็นผู้ปกครองนั่นเอง   จึงไม่รู้ว่ามรดกที่ทิ้งไว้ให้ เป็นเรื่องของความหวังดีประสงค์ร้ายหรือไม่

 

 บางครั้ง เรื่องจริงกับละคร ก็เป็นคนละเรื่องกัน  

 

 

อ้างอิง
library2.parliament.go.th
library2.parliament.go.th
thailawforum.com

 

บทความโดย “อสรพิษ”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า