SHARE

คัดลอกแล้ว

‘Barbie’ เป็นภาพยนตร์ที่มีครบทุกอย่างตั้งแต่ความบันเทิง นักแสดงและผู้กำกับที่เก่งกาจ งานโปรดักชั่นที่สมบูรณ์ ไอคอนที่ทุกคนรู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดีจั่วหัว และเมื่อได้ชมเสร็จก็พบว่า บทแข็งแรงและประเด็นสังคมแน่น ๆ ที่อยู่ใต้เปลือกหุ้มสีหวาน ๆ ที่เคลือบหนังเอาไว้ก็ยิ่งทำให้เราหลงใหลในโลกของมันยิ่งขึ้นไปอีก

เรื่องย่อ ‘Barbie’

‘บาร์บี้’ รุ่นพิมพ์นิยม (รับบทโดย มาร์โก้ ร็อบบี้) เคยมีชีวิตสมบูรณ์แบบในโลกของเธอ แต่จู่ ๆ ก็เกิดอาการประหลาด เท้าที่เคยเขย่งอยู่เสมอกลับแบนราบ และเริ่มรู้สึกถึงอารมณ์ลบ ๆ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เธอจึงต้องไปที่โลกจริงเพื่อค้นหาต้นตอของปัญหาและกู้ชีวิตในฝันเธอกลับคืนมา ในขณะเดียวกัน ‘เคน’ (รับบทโดย ไรอัน กอสลิ่ง) แฟนหนุ่มของบาร์บี้ที่อยู่ในโลกหญิงเป็นใหญ่ที่ติดตามมาก็ได้ค้นพบปิตาธิปไตย ระบบปกครองในฝันของเขา และความหวังของการไม่ได้เป็น ‘แค่เคน’ ที่พ่วงท้ายมากับบาร์บี้อีกต่อไป ความวุ่นวายนี้จะจบลงอย่างไรติดตามในเรื่อง

ก่อนหน้านี้บาร์บี้เป็นตุ๊กตาที่เป็นที่รักของเด็กและนักสะสม เป็นตุ๊กตาที่เปลี่ยนแปลงวงการของเล่นและมีอิทธิพลกับเด็ก ๆ ไม่มากก็น้อย เหมือนกับที่แท่งดำที่โผล่ขึ้นมาใน ‘2001: A Space Odyssey’ ซึ่งกลายเป็นวัตถุที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาของลิงมาเป็นมนุษย์ โดยใน ‘Barbie’ ลิงถูกแทนที่ด้วยเด็กผู้หญิงที่จะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ 

ในเวลาหลายปีที่ผ่านมาบาร์บี้ถูกมองว่าเป็นตุ๊กตาที่สร้างความคาดหวังผิด ๆ เกี่ยวกับร่างกายที่มีสัดส่วนเกินจริงให้กับเด็กผู้หญิง แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้นำบาร์บี้กลับมาเป็นไอคอน เป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนความเป็นไปของโลก เป็นภาพสะท้อนของผู้หญิงอีกครั้ง ผ่านทางการแตะประเด็นสังคมได้อย่างคมคายมีรสชาติ เข้าใจง่ายแทบไม่ต้องตีความ เด่นชัดเหมือนสีชมพูที่เธอใส่อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น

  • เฟมินิสซึ่ม (feminism) –  ด้วยการสร้างโลกบาร์บี้ที่ผู้หญิงเป็นเป็นอะไรก็ได้ เป็นประธานาธิบดี เป็นเจ้าของรางวัลโนเบลครองโลกจนจะเรียกว่า มาตาธิปไตย (matriarchy) ก็คงไม่ผิด แต่ในขณะเดียวกันการที่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ในโลกจริง เป็นเพียงโลกสมมุติเท่านั้นก็ตอกย้ำว่าระบอบนี้อาจเป็นได้แค่เพียงฝันเท่านั้นเช่นกัน
  • ความหลากหลาย (diversity) – โอบรับความแตกต่าง ไม่ว่าจะทางรูปร่างหน้าตา เพศ หรือเชื้อชาติ ผ่านทางบาร์บี้ที่มีหน้าตาหลากหลายแต่สุดท้ายก็เป็นบาร์บี้เหมือนกัน 
  • การกีดกันทางสังคม (marginalisation) – โลกของบาร์บี้ชัดเจนว่าการปกครองนั้นเป็นเรื่องของผู้หญิง และผู้ชายนั้นเป็นเพียงไม้ประดับไว้อยู่ตามชายหาด ซึ่งสะท้อนการกีดกันและบทบาทของผู้หญิงในโลกปิตาธิปไตยอารมณ์เดียวกับที่ของผู้หญิงคืออยู่ในครัวในมุมกลับ 
  • ความเป็น ‘ชายแท้’ (masculinity) – มีทั้งการเสียดสีเรื่องนี้ผ่านทางการสร้างตัวละครเคนทั้งหลายที่สร้างมาตามายาคติ และ stereotype ของความเป็นชาย ทั้งกระหายอำนาจ ชอบโชว์เหนือ หรือหาเรื่องทะเลาะ แต่ก็มาแตะเรื่องการที่ผู้ชายเองก็เป็นเหยื่อของกรอบความคิดว่าเพศไหนควรเป็นอย่างไรเช่นกัน เพราะในภายหลังที่เคนได้เล่นสนุกกับระบอบปิตาธิปไตยอย่างเต็มที่แล้ว เขาก็โดนกรอบของความเป็นชายกดทับเอง 
  • ทุนนิยม (capitalism) – แม้ว่าจะเป็นภาพยนตร์ที่สร้างโดยบริษัท Mattel ‘Barbie’ ก็ไม่อ่อนข้อต่อการเสียดสีทุนนิยมในทุกจังหวะ ที่ชัดที่สุดคือผ่านตัวละครพนักงานบริษัทที่คอยพูดว่าบริษัทจะได้กำไรกับการตัดสินใจแบบใด
  • อัตถิภาวนิยม (exsitentialism) – ประเด็นนี้เห็นชัดมาตั้งแต่ตัวอย่างของเรื่องและการที่ conflict หลักมาจากการที่บาร์บี้เริ่มคิดถึงเรื่องความตาย หรือที่จุดพีคเมื่อเธอตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของเธอท่ามกลางบาร์บี้ที่พิเศษกว่าเธอมากมาย

ถ้าอ่านถึงตรงนี้หากจะบอกว่า ‘Barbie’ เป็นหนังสุด woke ก็คงจะไม่ผิด แต่สิ่งที่สร้างสมดุลและส่งเสริมให้มันกลายเป็นภาพยนตร์ที่น่าประทับใจ คือการเขย่าผสมมุมมองออกมาได้เป็นอย่างลงตัว เพราะตัวภาพยนตร์แม้จะนำเสนอแนวคิดเหล่านี้ แต่ก็ยังแสดงให้เห็นด้านที่ขัดแย้งกันเองของแนวคิดทั้งหลายผ่าน monologue ของบาร์บี้ในช่วงพีคของภาพยนตร์ และการสะท้อนว่าสุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเราจะเป็นอย่างไร เป็นคนสำคัญมากมายหรือเป็นเพียงคนธรรมดาเราก็สามารถงดงามได้ในแบบของตัวเอง จะแก่แค่ไหน มีเซลลูไลต์ หรือไม่ได้ ‘ประสบความสำเร็จ’ ระดับรับรางวัลโนเบล ก็ไม่เป็นไร ทำให้ฉากเล็ก ๆ ที่เรารักอย่างฉากที่บาร์บี้ได้นั่งคุยกับหญิงแก่คนหนึ่งที่ป้ายรถเมล์นั้นเป็นเหมือนหัวใจของภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างแท้จริง 

อีกเรื่องหนึ่งคือความเป็น meta comedy (ภาพยนตร์แนวตลกที่ตัวละครตื่นรู้ว่าตัวเองไม่ใช่คนจริง และถ่ายทอดออกมาให้ผู้ชมเห็น ของเรื่องที่ทำให้ตัวละครมีความตื่นรู้ซึ่งทำให้มีโมเมนต์เสียดสีจิกกัดความเป็นบาร์บี้เสียเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความบันเทิงให้กับผู้ชมได้มากที่สุดก็ว่าได้ 

[เนื้อหาต่อจากนี้เผยเรื่องราวสำคัญที่อาจส่งผลกับอรรถรสในการรับชม]

หนึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือตอนใกล้จบที่ตอนจบกล่าวว่าอีกนานกว่าเหล่าเคนจะมีสิทธิ์เสียงเท่าบาร์บี้ ซึ่งชวนให้นึกถึงการรอคอยที่ยาวนานกว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมในการเมือง ที่สิทธิเสียงของผู้หญิงเพิ่งมาถึงเมื่อประมาณร้อยยี่สิบปีก่อนในปี 1903 เมื่อกลุ่ม Suffragettes ที่เรียกร้องสิทธิสตรีให้มีสิทธิ์ที่จะลงคะแนนเสียง และ กว่าที่ Nancy Witcher Langhorne Astor ผู้หญิงคนแรกจะได้นั่งเป็นสมาชิกรัฐสภาในปี 1919  หลายคนวิจารณ์ว่าหนังทั้งเรื่องและฉากนี้ลดความสำคัญของผู้ชายจนคล้ายเป็นไม้ประดับหรือสัตว์เลี้ยง แต่มันอาจจะกำลังสะท้อนว่าในมุมนึงอาจจะมองได้มนุษย์เราในส่วนลึกแล้วไม่ได้ฝันหาความเท่าเทียม และสำหรับเราก็กระตุ้นให้เกิดคำถามเช่นกันว่าหากผู้หญิงได้ครองโลกเหมือนกับที่ผู้ชายทำแล้วนั้น พวกเธอจะหวงแหนและยื้ออำนาจการตัดสินใจเหล่านั้นไว้เช่นกันหรือไม่

อีกอย่างคือทางเลือกสุดท้ายของบาร์บี้ที่จะมาใช้ชีวิตอยู่ในโลกจริง แม้เธอจะเป็นตุ๊กตา และเริ่มชีวิตใหม่ด้วยการไปตรวจภายใน ในขณะที่ก่อนหน้านี้เธอพูดกับผู้ชายว่าเธอไม่มีอวัยวะเพศ ซึ่งคล้ายจะเป็นการขยายความเป็นภาพแทนของบาร์บี้ จากการเป็นตัวแทนของผู้หญิงเท่านั้น มาเป็นตัวแทนของคนที่เกิดมามีหัวใจที่ไม่ตรงกับรูปลักษณ์ภายนอก เหมือนกับบาร์บี้ที่ไม่ idetify ตัวเองเป็นแค่ตุ๊กตาอีกต่อไป ตอนจบที่ทิ้งไว้แบบปลายเปิดว่าบาร์บี้จะปรับตัวกับโลกใหม่นี้อย่างไร ก็ไม่ต่างกับอนาคตที่ยังไม่ชัดเจนของคนกลุ่มนี้เช่นกัน 

สุดท้ายแล้วภาพยนตร์ ‘Barbie’ ก็เป็นภาพยนตร์ที่ยืนยันว่า ‘บาร์บี้’ ยังเป็นภาพสะท้อนของสังคมเสมอมา ไม่ใช่อะไรไกลตัว แต่เป็นคนธรรมดา ๆ ที่ไม่พอใจกับตัวเอง มีน้ำตา มีวันที่สงสัยว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร เรากำลังอยู่ในที่ ๆ ไม่มีพื้นที่สำหรับเราอีกต่อไปหรือเปล่า เราพิเศษไม่พอหรือเปล่าเมื่อเทียบกับคนอื่นที่ก้าวหน้าไปไกลเหลือเกินในชีวิต และอาจจะเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ที่จะทำให้บาร์บี้กลับมาทวงพื้นที่ในใจของเด็กน้อยและสาว ๆ ที่เติบโตมาพร้อมกับเธอคืนมา และขยายความหมายของบาร์บี้ให้ครอบคลุมมากขึ้นในโลกที่ไม่ได้ถูกแบ่งเป็นเพียงชายและหญิงแบบบาร์บี้และเคนอีกต่อไป

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า