Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

เดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีข่าวที่เขย่าวงการอุดมศึกษาโลก รวมถึงอุดมศึกษาของไทย

เมื่อ ศาสตราจารย์ เคลย์ตัน คริสเตนเซน (Clayton Christensen) อาจารย์และนักการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา เจ้าของทฤษฎี disruptive innovation ที่เลื่องชื่อ ได้เขียนบทความลงในหนังสือ The Innovative University เล่มล่าสุดของเขาว่า

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยในอเมริกาปิดตัวไปแล้วกว่า 500 แห่ง จากทั้งหมดกว่า 4,500 แห่ง และคาดการณ์ว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า จะมีมหาวิทยาลัยในอเมริกาปิดตัวลงอีกไม่น้อยกว่า 2,000 แห่ง ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากอิทธิพลของการศึกษาออนไลน์ และจำนวนนักเรียนไฮสคูลที่จะเข้าสู่มหาวิทยาลัยลดลง

ไม่เพียงแต่ศาสตราจารย์คริสเตนเซนเท่านั้น กระทรวงศึกษาธิการของสหรัฐอเมริกาและสถาบันจัดอันดับมูดีส์ก็ประเมินเช่นกันว่า จะมีวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยขนาดเล็กปิดตัวเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว และมีแนวโน้มการควบรวมกิจการของมหาวิทยาลัยขนาดเล็กเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กรรมการในคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 8/2560 กล่าวในการปาฐกถาหัวข้อ “กระบวนทัศน์ใหม่ของอุดมศึกษาไทย” จัดโดยสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) ว่า

การปิดตัวของมหาวิทยาลัยในสหรัฐเอเมริกา เป็นตัวเลขที่น่ากลัว ทั้งที่การศึกษาของสหรัฐอเมริกามีคุณภาพกว่าประเทศไทยมาก เชื่อว่าอีกไม่นานประเทศไทยจะประสบปัญหาไม่ต่างกัน เนื่องจากการศึกษาออนไลน์ได้รับการพิสูจน์และยอมรับว่า เป็นกระบวนการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพ โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยในการเรียนการสอน ทำให้คุณภาพการเรียนการสอนไม่ต่างจากการเรียนในห้องเรียน อีกทั้งค่าเรียนยังถูก สามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา ในขณะที่การเรียนการสอนในระบบเดิมต้องลงทุนมหาศาล

“สิ่งที่น่าเป็นห่วง นอกจากการรุกของหลักสูตรออนไลน์แล้ว จำนวนเด็กที่เข้าสู่มหาวิทยาลัยที่อเมริกากำลังเผชิญ เป็นวิกฤติที่การศึกษาของไทยกำลังเผชิญเช่นเดียวกัน ย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ 1.1 ล้านคน/ปี ตอนนี้ลดลงเหลือ 7 แสนคน/ปี ดังนั้น เด็กมัธยมฯ ที่จะเข้าสู่มหาวิทยาลัยลดลงแน่นอน นอกจากนี้ ในอเมริกายังพบว่า เด็กปี 1 ที่เข้าสู่มหาวิทยาลัย ไม่ได้อยู่ในช่วงอายุ 18 – 22 ปี ตามปกติ เพราะเด็กเหล่านี้เมื่อเรียนจบไฮสคูลจะออกไปทำงาน ออกเดินทางไปค้นหาสิ่งที่ตนเองชอบ เรียนรู้จาก Google เมื่อรู้ว่าอยากเรียนหรืออยากทำอาชีพอะไร ถึงจะตัดสินใจเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย โดยไม่จำเป็นต้องเรียน 4 ปีเต็ม เพราะครึ่งหนึ่งเขาได้จากการทำงานมาแล้ว” ศ.คลิกนิก นพ.อุดม กล่าว

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร ให้แนวทางแก่มหาวิทยาลัยของไทย ในการฝ่าฟันภาวะวิกฤติที่กำลังคืบคลานเข้ามาว่า ขณะนี้โลกเข้าสู่ยุคสังคมเศรษฐกิจ ฐานความรู้ที่ไร้พรมแดน มหาวิทยาลัยไม่ใช่ที่ที่ครูเป็นเจ้าของอีกต่อไป แต่จะเป็น learning space ของเด็ก เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สมบูรณ์แบบได้ อาจารย์จะต้องมีประสบการณ์และทักษะในการถ่ายทอดความรู้ ที่ Google สอนไม่ได้ และต้องมี Mind Set หรือ กระบวนการทางความคิด สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เรียนเปลี่ยนตัวเองให้ได้

จะเห็นว่าในอเมริกามีศิษย์เก่าจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จ และกลับมาบริจาคเงินสนับสนุนการศึกษาให้มหาวิทยาลัยของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นฮาร์วาร์ด หรือ MIT เนื่องจาก ประทับใจอาจารย์ที่ให้ความรู้ อบรมบ่มเพาะและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่พวกเขา

ดังนั้น อาจารย์ยุคใหม่จะต้องสอนโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนเป็นหลัก มีการบูรณาการการเรียนรู้ในห้องเรียนและนอกห้องเรียน เพื่อให้เด็กเรียนรู้คู่ไปกับการทำงาน หรือฝึกปฏิบัติวิชาชีพจริง หรือให้ผู้ที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมมาถ่ายทอดทักษะประสบการณ์ ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากของจริง ซึ่งจะต้องเริ่มตั้งแต่การออกแบบหลักสูตร การเรียนการสอนร่วมกัน รวมไปถึงการประเมินผล เพื่อให้เด็กที่จบไปมีทักษะในการเป็น entrepreneur ในสถานประกอบการ และสามารถสร้างธุรกิจของตัวเองได้

“อนาคตการเรียนกับการทำงานเป็นเรื่องเดียวกัน เด็กสามารถเรียนรู้ได้ทุกที ทุกเวลา ต่อไปการเรียนในระบบมหาวิทยาลัยจะลดวามสำคัญลงไป เกรดและใบปริญญาจะไม่มีความหมายอีกต่อไป แต่สิ่งที่เด็กเจเนอเรชันใหม่ต้องการคือ ทักษะ อย่าลืมว่าสังคมโลกยุคใหม่กำลังจะเปลี่ยนเป็นสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ ที่มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์และบริการที่พึ่งพาองค์ความรู้หรือ Knowledge Intensive Product ที่มาจากงานวิจัยและนวัตกรรม

“สิ่งที่อยากฝากคือ มหาวิทยาลัยจะต้องสร้างบัณฑิตให้มี Soft skills เช่น มีทักษะผู้นำ ทักษะผู้ประกอบการ มีกระบวนการทางความคิด (Mind set) มีจิตสาธารณะ และสุดท้ายคือ มีทักษะด้านภาษาและไอที เป็นกระบวนการเรียนการสอนที่ทั่วโลกพิสูจน์แล้วว่า เป็นการสอนที่ทำให้บัณฑิตประสบความสำเร็จในการทำงาน และการเป็นพลเมืองของโลก Global citizen ในศตวรรษที่ 21 และทั้งหมดเป็น Mega Trend ที่กำลังจะเกิดขึ้น ถ้ามหาวิทยาลัยไม่ปรับตัวจะไปไม่รอด และจะต้องล้มหายตายจากไป” ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าว

ขณะที่ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สะท้อนมุมมองทิศทางอุดมศึกษาผ่านบทความไว้น่าสนใจเช่นกัน โดยคาดการณ์ว่า อีกไม่เกิน 10 ปี อุดมศึกษาไทยจะไปไม่รอด เนื่องจากจำนวนนักศึกษาลดลงอย่างมาก โดยพบว่า มหาวิทยาลัยไทยมีที่นั่งว่างสำหรับปริญญาตรีถึง 140,000 ที่นั่ง ในขณะที่มีนักเรียนเข้ามาเรียนเพียง 80,000 คน เท่านั้น แสดงให้เห็นตัวเลข Over Supply ถึง 60,000 คน/ปี

จำนวนผู้เรียนที่ลดลงส่งผลกระทบไปถึงระดับบัณฑิตศึกษา ที่จำนวนนักศึกษาลดลงด้วยเช่นกัน ส่งผลต่อรายได้ของมหาวิทยาลัยที่ลดลง ทำให้ต้องลดมาตรฐานการคัดเลือกนักศึกษาเข้ามาเรียน เมื่อไม่มีตัวเลือกที่ดีเข้ามาเรียน ก็ทำให้คุณภาพการศึกษาต่ำไปด้วย 

ดร.อานนท์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งรับนักศึกษาจีนเข้ามาเรียน แต่นักเรียนระดับหัวกะทิ และ/หรือนักเรียนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี ส่วนใหญ่จะเลือกเดินทางไปเรียนประเทศในแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา รวมถึงออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ส่วนนักศึกษาจีนที่มาเรียนในไทย เนื่องจากประเทศไทยค่าครองชีพและค่าเล่าเรียนถูกกว่าประเทศจีน ทำให้มหาวิทยาลัยไทยไม่ได้นักศึกษาจีนที่มีคุณภาพดีเท่าที่ควร

ดร.อานนท์ มองว่า สาเหตุที่ทำให้มหาวิทยาลัยไทยถึงทางตีบตัน มาจากปัจจัยหลายประการ เช่น อัตราการเกิดที่ลดลง ในขณะที่จำนวนมหาวิทยาลัยเกิดใหม่เพิ่มขึ้น มีการแข่งขันกันเปิดหลักสูตร ขยายเวลาเรียน เน้น “จ่ายครบ จบแน่” และปัจจัยอื่น เช่น ผู้ที่มีฐานะดี มีทุนทรัพย์ สามารถไปเรียนต่อต่างประเทศได้ การเกิดของหลักสูตรออนไลน์ทั้งแบบรับปริญญาและ Non-degree program ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมไปถึงการจัดการการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

ดังนั้น ทางรอด ก็คือ มหาวิทยาลัยต้องปรับตัว เช่น ยุบมหาวิทยาลัยที่ไม่มีคุณภาพหรือขาดทุน หรือควบรวมกิจการของมหาวิทยาลัยเอกชน กำหนดปริมาณและคุณภาพในการผลิตบัณฑิต โดยเน้นสาขาที่ขาดแคลนและต้องการของตลาด เร่งพัฒนาหลักสูตรสหกิจศึกษา โดยให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อองค์กรจะได้ได้คนตรงตามที่ต้องการ รวมถึงลดการพึ่งพารายได้จากการเรียนการสอน มาเน้นทำงานวิจัยที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมและสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งนอกจากจะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศแล้ว ยังเป็นรายได้เข้ามหาวิทยาลัยอีกทางหนึ่งด้วย

ทั้งหมดเป็นแนวทางแก้วิกฤติอุดมศึกษาที่เกิดขึ้นได้บ้าง แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลย อีกไม่เกิน 5 – 10 ปี คงได้เห็นมหาวิทยาลัยปิดตัวลงแน่นอน

ป.ล. ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษาใกล้คลอด คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2561ตามโรดแมปและนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการผลักดันการตั้งกระทรวงอุดมศึกษาให้แล้วเสร็จก่อนเลือกตั้ง แม้จะมีการคัดค้านไม่เห็นด้วยจากคนในแวดวงมหาวิทยาลัยอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่เชื่อว่ากระทรวงอุดมศึกษาจะช่วยปฏิรูปการอุดมศึกษาของประเทศทั้งระบบให้มีคุณภาพ เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ และสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ และที่สำคัญจะช่วยกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยปรับตัว เพื่อก้าวพ้นวิกฤติอุดมศึกษาที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ณ เวลานี้

 

บทความโดย: สิริลักษณ์ เล่า

ผู้สื่อข่าวอาวุโส เชี่ยวชาญด้านการศึกษา, อดีต บก.ฉบับพิเศษ บมจ.มติชน

———-

ขอบคุณภาพจาก pixabay

———-

อ่านบทความย้อนหลัง

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า