สนช.มีมติเป็นเอกฉันท์รับร่างกฎหมายประชารัฐ ตั้งกรรมการดำเนินการนโยบายช่วยคนจนเต็มรูปแบบ
วันที่ 13 ก.ย.2561 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ. …. ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเห็นด้วย 187 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง พร้อมกำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 7 วัน ระยะเวลาการดำเนินงาน 30 วัน
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า โดยที่เป็นการสมควรให้มีการจัดสวัสดิการให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม กระจายรายได้อย่างเป็นธรรม ตลอดจนยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน โดยมีการดำเนินการร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน จะมีผลทำให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมีปัจจัยที่เพียงพอ สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ รวมทั้งมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเพื่อให้การดำเนินการจัดสวัสดิการเป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ คือ การจัดประชารัฐสวัสดิการเป็นรูปแบบการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ และการสนับสนุนผ่านหน่วยงานอื่นทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการให้บริการทางสังคม อันจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและกระจายรายได้ รวมทั้งการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ประชาชนให้เป็นไปอย่างยั่งยืน
ขณะที่สมาชิก สนช.ได้อภิปรายให้การสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและมุ่งเน้นรองรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มคนที่อยู่ในภาวะยากลำบากทุกประเภท นอกจากนี้ได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม อาทิ การกำหนดอำนาจหน้าที่และองค์ประกอบของคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม รวมถึงควรอธิบายถึงข้อปฏิบัติและสิทธิในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ประชาชนทราบอย่างละเอียด
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.การจัดทำประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม คือ กำหนดให้มีคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ ส่วนอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนั้นถูกกำหนดไว้หลายประการในมาตรา 8 เช่น การเสนอนโยบาย แผนการดำเนินงาน มาตรการหรือโครงการเกี่ยวกับประชารัฐสวัสดิการที่เป็นการให้ความช่วยเหลือในการดำรงชีพแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย การประเมินผลการดำเนินงานและความคุ้มค่าในการจัดทำประชารัฐสวัสดิการอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เป็นต้น
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมพ.ศ. …
1. กำหนดให้มีกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม เป็นกองทุนหมุนเวียนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 โดยตั้งขึ้นในสำนักงานปลัดกระทรวง กค. และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย
2. กำหนดให้กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมทำหน้าที่เป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดประชารัฐสวัสดิการตามมติคณะรัฐมนตีเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ตลอดจนสนับสนุนโครงการที่ให้บริการทางสังคม ผ่านหน่วยงาน มูลนิธิและองค์กรการกุศล เพื่อช่วยเหลือประชาชนในภาวะลำบากทุกประเภท ซึ่งเป็นการขยายวัตถุประสงค์ของกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก
3. กำหนดแหล่งเงินทุนของกองทุนฯ ประกอบด้วย เงินที่มาจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่รัฐจัดสรรให้ และเงินบริจาคจากภาคเอกชนและประชาชน
4. กำหนดให้คณะกรรมการกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนสำนักงบประมาณ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินสามคน โดยมีผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวง กค. เป็นกรรมการและเลขานุการ ทั้งนี้ สำหรับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกำหนดให้ต้องเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านการเงิน เศรษฐศาสตร์การลงทุน กฎหมาย หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับกองทุนเพื่อสามารถให้ความเห็นรวมถึงข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อคณะกรรมการกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ในการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ในการบริหารจัดการกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม
5. กำหนดให้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบัญชีและการตรวจสอบที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการในเรื่องดังกล่าวของกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกับทุนหมุนเวียนอื่น
6. กำหนดบทเฉพาะกาล โดยให้โอนบรรดาเงิน ทรัพย์สิน สิทธิ และหนี้สิน ที่เกี่ยวเนื่องกับกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ในสำนักงานปลัดกระทรวง กค. ไปเป็นของกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม และให้คณะกรรมการบริหารกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อน จนกว่าจะมีคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ อีกทั้งให้ข้อบังคับคณะกรรมการบริหารกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากว่าด้วยการบริหารกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก พ.ศ. 2560 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีระเบียบประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ