Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

  • เหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519
  • สไตล์การทำงานบู๊ ดุดัน ถึงลูกถึงคน
  • ได้รับฉายา “เสือใต้” คู่กับ พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ ที่ได้รับฉายา “สิงห์เหนือ”
  • กรณีวิสามัญ 6 คนร้าย ที่สุพรรณบุรี
  • ประกาศจะระดมกำลังตำรวจนอกราชการ บุกยึดทำเนียบฯ คืน จาก พธม.

ถือว่าเป็นข่าวที่สร้างความตกตะลึงให้กับสังคมเป็นอย่างมาก เมื่อ พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค ตัดสินใจกระโดดลงมาจากชั้น 7 ภายในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ย่านแจ้งวัฒนะ เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. ของวันที่ 25 ก.พ. 61 ซึ่งต่อมา จนท.ตรวจพบจดหมายสั่งเสียถึงลูกหลาน มีข้อความว่า

“ร้านกาแฟชั้นบน / เพื่อนๆ ลูกหลานรัก พ่ออยู่ได้ไม่เกิน 2 ปี ขอจากไปอย่างเกิดประโยชน์ ขอให้ทุกคนที่ทราบเรื่องช่วยกันคัดค้านรางคู่ขนาด 1.000 ม. , รถไฟฟ้ายกระดับ , ผลักดันให้สร้างถนน Autobahn ช่วยกันนำหนังสือนี้แจกกันให้มากที่สุด พ่อนับ 1-1000 แล้ว วิธีการนี้จะเป็นประโยชน์ ขอโทษคนที่รักทุกคนด้วย…”

พล.ต.อ.สล้าง ถือว่าเป็นนายตำรวจคนดังสายบู๊ ที่มีเส้นทางชีวิตสุดโลดโผนและฮาร์ดคอร์เป็นยิ่งนัก ทั้งระหว่างและหลังรับราชการได้สร้างปรากฏการณ์ต่างๆ ขึ้นมากมายในสังคมไทย ในระดับที่เรียกได้ว่า ยากจะลืมเลือน

ซึ่งบทความชิ้นนี้เพียงต้องการนำเสนอเรื่องราวของบุคคลบุคคลหนึ่ง ที่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับช่วงเวลาสำคัญ โดยไม่มีการตัดสินพิพากษา แต่นำเสนอข้อมูลไปตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์

 ด้วยเราเชื่อว่า ชีวิตมนุษย์ย่อมเกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา

แต่ประวัติศาสตร์ต้องไม่ตาย

ต้องได้รับการบันทึกไว้อย่างครบถ้วน และถูกต้อง

พล.ต.อ.สล้าง เกิดเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2480 ที่ อ.เมือง จ.ราชบุรี สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ก่อนจะเข้ารับราชการในกรมตำรวจ หรือ สำนักตำรวจแห่งชาติ ในปัจจุบัน

โดยเหตุการณ์ที่ทำให้สังคมไทยจดจำชื่อของเขาได้อย่างแม่นยำ ก็คือในช่วง 6 ต.ค. 2519 พล.ต.อ.สล้าง ในวัย 39 ปี ขณะมียศ พ.ต.ท. ดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับการ 2 ได้รับคำสั่งจากผู้บัญชาการ ให้นำกำลังจำนวน 200 นาย ไปรักษาความสงบที่ท้องสนามหลวง และหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในคืนวันที่ 5 ต.ค.

และในวันรุ่งขึ้น (6 ต.ค.) จนท.ได้รับคำสั่งให้ใช้อาวุธได้ตามสมควร แต่ผลที่ปรากฏก็คือ มีนักศึกษาและประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมากที่ท้องสนามหลวง และภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ต่อมาในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ก็เกิดเหตุการณ์ที่กลายเป็นรอยด่างในชีวิตของ พล.ต.อ.สล้าง เมื่อมีกลุ่มคนจำนวนมากบุกไปสนามบินดอนเมือง เพื่อทำร้าย ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเวลานั้น โดยมีการเปิดเผยข้อมูลในเวลาต่อมาว่า พล.ต.อ.สล้าง ได้ไปที่สนามบินและแสดงท่าทีก้าวร้าว อีกทั้งทำร้ายร่างกาย ดร.ป๋วย อีกด้วย

ซึ่ง ดร.ป๋วย ได้รับการยกย่องว่า เป็นปูชนียบุคคลท่านหนึ่งของเมืองไทย ข้อมูลตรงนี้จึงสร้างความโกรธแค้นให้กับผู้รักและศรัทธา ดร.ป๋วย เป็นอย่างมาก

แต่ต่อมา พล.ต.อ.สล้าง ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า ที่เดินทางไปยังสนามบินดอนเมือง ก็เพื่อช่วยเหลือ ดร.ป๋วย ส่วนท่าทีที่ไม่เหมาะสมต่างๆ นั้น เป็นเพียงการแสดงละครตบตา เพื่อลดอารมณ์คุกรุ่นของฝูงชน และหลังจากนั้นก็ได้กราบขอโทษ ดร.ป๋วย แล้ว แต่ข้อมูลในส่วนนี้ สังคมส่วนใหญ่ไม่ใคร่จะเชื่อเท่าใดนัก

หลังจากนั้น พล.ต.อ.สล้าง ก็เติบโตในหน้าที่การงานอย่างเป็นลำดับ และด้วยสไตล์บู๊ ดุดัน ถึงลูกถึงคน ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชา ตั้งฉายาให้ว่า “เสือใต้” คู่กับ พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ ที่ได้ฉายาว่า “สิงห์เหนือ” อันเนื่องมาจากสไตล์การทำงานคล้ายๆ กัน โดยทั้งคู่ถือว่าเป็นนายตำรวจชื่อดังที่มีข่าวคราวอย่างสม่ำเสมอ ต่อมา พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ ถูกศาลตัดสินประหารชีวิต ก่อนได้รับอภัยโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต จากคดีอุ้มฆ่าแม่ลูกศรีธนะขัณฑ์

และด้วยการทำงานสไตล์ฮาร์ดคอร์ ก็ทำให้ชื่อ พล.ต.อ.สล้าง กระฉ่อนขึ้นอีกครั้ง จากคดีวิสามัญฆาตกรรม 6 ผู้ต้องหาที่ จ.สุพรรณฯ เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2539

โดยเหตุการณ์ดังกล่าวสืบเนื่องมาจาก โจ ด่านช้าง หรือ นายศุภฤกษ์ เรือนใจมั่น พร้อมลูกสมุนอีก 5 คน ได้นำอาวุธสงครามบุกไปเพื่อสังหารคู่กรณี เนื่องจากคับแค้นใจที่ถูกหักหลังในธุรกิจยาเสพติด แต่ถูกสกัดไว้ได้เสียก่อน โจจึงนำสมุนหลบเข้าไปในบ้านหลังหนึ่ง แล้วจับคนในบ้าน 3 คนเป็นตัวประกัน

คดีนี้ พล.ต.อ.สล้าง ออกลุยด้วยตัวเอง โดยนั่งเฮลิคอปเตอร์ไปยังที่เกิดเหตุ ซึ่งเมื่อไปถึงปรากฏว่า ตำรวจได้ทำการเกลี้ยกล่อมคนร้ายทั้งหกจนยอมปล่อยตัวประกันและมอบตัวแล้ว โดยตำรวจได้นำคนร้ายทั้งหมดใส่กุญแจมือและพาเดินลุยน้ำข้ามมาอีกฝั่ง

แต่แล้วจู่ๆ ตำรวจชุดนั้นที่มี พล.ต.อ.สล้าง เป็นผู้บังคับบัญชา กลับพากลุ่มคนร้ายเดินกลับไปที่บ้านหลังเกิดเหตุอีก ก่อนมีเสียงปืนดังขึ้นชุดใหญ่ พร้อมกับศพคนร้ายทั้ง 6 คนนอนตายเกลื่อนกลาด โดยชุดปฏิบัติการให้เหตุผลว่า นำคนร้ายมาค้นอาวุธเพิ่ม แต่เมื่อเข้าไปบ้าน คนร้าย (ทั้งๆ ที่ใส่กุญแจมือ) พยายามต่อสู้ จึงจำเป็นต้องวิสามัญ

ในช่วงบั้นปลายชีวิตข้าราชการ พล.ต.อ.สล้าง เป็นอีกหนึ่งตัวเต็งในตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ (หรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในปัจจุบัน) แต่ในสุด พล.ต.อ.สล้าง ก็เกษียณในตำแหน่ง รองอธิบดีกรมตำรวจ ฝ่ายป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ

หลังจากเกษียณแล้ว พล.ต.อ.สล้าง ก็กลายเป็นข่าวดังขึ้นมาอีกครั้ง ในช่วงที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บุกยึดทำเนียบในปี 2551 พล.ต.อ.สล้าง ได้ประกาศจะบุกยึดทำเนียบคืน โดยจะระดมตำรวจนอกราชการกว่า 1,000 นาย ตั้งเป็นกองกำลังกู้ทำเนียบรัฐบาล แต่สุดท้ายสิ่งดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดขึ้น

และทั้งหมดนี้ ก็คือเรื่องราวของนายตำรวจนายหนึ่ง ที่ตลอดและหลังรับราชการ มักจะมีข่าวคราวออกมาในแง่ของความรุนแรง แม้กระทั่งวาระสุดท้าย พล.ต.อ.สล้าง ก็ตัดสินใจจบชีวิตลงด้วยความรุนแรง ที่สร้างความตกตะลึง และความโศกเศร้าเสียใจให้ลูกหลาน และญาติสนิทมิตรสหายเป็นยิ่งนัก

https://www.youtube.com/watch?v=410f31a7j60

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า