SHARE

คัดลอกแล้ว

ปี 2017 ที่ผ่านไป ในดินแดนตะวันออกกลาง เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความปั่นป่วนตลอดทั้งภูมิภาคและส่งผลสะเทือนต่อการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงของโลกหลายระลอก โดยศูนย์กลางของความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่เปรียบเสมือนตาพายุทะเลทรายที่เกรี้ยวกราด อยู่ที่ตัวตนของเจ้าชายหนุ่มวัยเพียง 32 พรรษา แห่งซาอุดิอาระเบีย “โมฮัมหมัด บิน ซัลมาน บินอับดุลอาซิส อัล ซาอุด” หรือที่สื่อตะวันตกต่างเรียกชื่อย่อว่า MBS

 

เจ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน หรือ MBS ทรงเป็นพระโอรสพระองค์โตของกษัตริย์ซัลมาน กับพระมเหสีพระองค์ที่สาม ฟาดาห์ บินต์ ฟาลา ซึ่งเป็นหลานสาวของผู้นำชนเผ่าอัล อัจมานที่ยิ่งใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของซาอุดิอาระเบีย ทำให้พระองค์มีฐานอำนาจเชิงชนเผ่าที่ประกอบกันเป็นราชวงศ์ซาอุดแน่นหนายิ่ง

 

เจ้าชายทรงได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานในกรุงริยาดห์ นครหลวงแห่งซาอุดิอาระเบีย โดยมีผลการเรียนดีติด 10 อันดับแรกของประเทศ และสำเร็จการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิตชั้นเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยคิงซาอุด แล้วจึงทรงเข้าทำงานภาคเอกชนระยะหนึ่งก่อนจะเข้าสู่แวดวงการเมืองในวัย 24 พรรษา ด้วยการเข้าเป็นที่ปรึกษาของพระบิดาครั้งเมื่อพระบิดาทรงดำรงตำแหน่งข้าหลวงผู้ว่าการนครริยาดห์ในปี 2009  อิทธิพลทางการเมืองของเจ้าชายต่อพระบิดามีมากขึ้นตามลำดับ โดยเจ้าชายได้รับตำแหน่งสำคัญขึ้นเรื่อยๆ โดยการสนับสนุนของพระบิดา เช่น ขึ้นเป็นประธานศาลของซาอุดิอาระเบียในปี 2013 และเป็นมนตรีแห่งรัฐในปี 2014 ด้วยวัยเพียง 29 พรรษา

 

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2015 สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอฮฺ บิน อับดุลอาซิส สวรรคต และสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานผู้เป็นพระบิดาของเจ้าชายขึ้นครองราชบัลลังก์ซาอุดิอาระเบียสืบต่อ เจ้าชายโมฮัมหมัดยิ่งทรงอำนาจมากขึ้นด้วยการรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ราชเลขาธิการ และมนตรีแห่งรัฐไปพร้อมกัน ตามด้วยการขึ้นสู่ตำแหน่งรองมกุฎราชกุมารในเดือนเมษายน อำนาจที่มากมายนี้ทำให้พระองค์เริ่มโครงการหลายด้าน โดยแนวรบที่สำคัญที่สุดคือการกุมกำลังทหารเข้าเปิดศึกกับกบฏฮูธีในเยเมนอย่างเต็มรูปแบบ และการสนับสนุนกำลังพลเพื่อสู้รบกับกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงหรือ ISIS ในอิรักและซีเรีย

 

ผลสำเร็จในสงครามกับ ISIS ในปี 2017 ทำให้กลุ่มการเมืองฝ่ายเจ้าชาย MBS ได้แรงสนับสนุนอย่างสูงภายในราชวงศ์และมหาชน แม้สงครามในเยเมนจะยืดเยื้อก็ตาม เมื่อถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2017 สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานได้สั่งปลดเจ้าชายโมฮัมหมัด บิน นาเยฟ พระภาติยะ ออกจากตำแหน่งมกุฎราชกุมารอย่างเหนือคาด และทรงแต่งตั้งเจ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน ขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารองค์ใหม่อย่างรวดเร็ว

 

แม้ว่าพระองค์จะมิได้ทรงสำเร็จการศึกษาจากตะวันตก ต่างจากราชวงศ์ในตะวันออกกลางพระองค์อื่น แต่วิสัยทัศน์ของเจ้าชายก็เป็นไปในทางตะวันตก โดยมีสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นต้นแบบ เมื่อพระองค์ถือครองอำนาจเต็ม ได้ทรงประกาศจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับซาอุดิอาระเบียดังนี้

 

  • ประกาศวิสัยทัศน์ 2030 เพื่อเปลี่ยนซาอุดิอาระเบียจากประเทศที่พึ่งการส่งออกน้ำมันเป็นหลัก ให้มีเศรษฐกิจที่หลากหลายและสมดุลมากขึ้น
  • ลดความเข้มข้นของการบังคับใช้กฎหมายศาสนา ปรับเข้าสู่เส้นทางมุสลิมสายกลาง เพื่อต่อต้านกลุ่มหัวรุนแรงและการก่อการร้าย
  • แปรรูปบริษัทน้ำมันของรัฐซาอุดิอาระเบีย หรือ ARAMCO เข้าสู่ตลาดหุ้น ซึ่งจะกลายเป็นบริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดและมีมูลค่าสูงสุดในโลก เพื่อยกระดับกองทุนความมั่งคั่งแห่งรัฐซาอุดิอาระเบีย
  • ก่อตั้งกรมบันเทิง เพื่อส่งเสริมธุรกิจบันเทิง เชิญนักร้อง นักแสดงตลก นักแข่งรถ นักมวย มาจัดกิจกรรมบันเทิงในประเทศมากขึ้น รวมถึงวางแผนจะสร้างโรงภาพยนตร์และศูนย์กีฬาในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
  • เพิ่มสิทธิสตรี และอนุญาตให้สตรีสามารถขับรถได้เองในเดือนกันยายน 2017

 

ความตั้งใจในการปฏิรูปของเจ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน ได้รับการคัดค้านจากหลายฝ่าย เนื่องจากพระองค์ก็มีความผิดพลาดหลายด้าน ทั้งสงครามในเยเมนที่ไม่จบสิ้นและสูญเงินไปมากมาย การตัดสินใจคงราคาน้ำมันให้ต่ำเพื่อแข่งขันกับการขุดเจาะแบบแฟรกกิ้งของสหรัฐฯ จนทุนสำรองของชาติลดลงฮวบฮาบ และการเจรจากับอิสราเอลที่เป็นศัตรูอาหรับมาโดยตลอด แต่เสียงคัดค้านนั้นถูกปิดปากด้วยสามเหตุการณ์ใหญ่

 

เหตุการณ์แรก เจ้าชาย MBS ทรงเป็นแกนนำในการปิดล้อมคว่ำบาตรรัฐกาตาร์ในวันที่ 5 มิถุนายน โดยกล่าวหาว่ากาตาร์เป็นผู้สนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย กลุ่มกบฏฮูธีในเยเมนและกองทัพรัฐอิสลาม ISIS การปิดล้อมนี้เริ่มจากบาห์เรน ซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยได้รับการสนับสนุนจากโดนัลด์ ทรัมป์และชาติอาหรับส่วนใหญ่ ตัดเส้นทางคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ จนทำให้กาตาร์อ่อนแอลงและยอมเจรจาต่อรองในหลายด้าน

 

เหตุการณ์ที่สอง คือการกวาดล้างภายในราชวงศ์ซาอุดิอาระเบีย ในเดือนพฤศจิกายน 2017 โดยเจ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน ได้สั่งการให้หน่วยตำรวจเข้าจับกุมเจ้าชายกว่า 40 องค์ โดยมีบุคคลสำคัญ เช่น เจ้าชายวะฮีด บิน ตะลาล อภิมหาเศรษฐีและคอมเมนเตเตอร์ทางธุรกิจในสื่อคนสำคัญ เจ้าชายมุตาอิบ บิน อับดุลลอฮฺ พระโอรสในสมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ก่อน และอดีตผู้บัญชาการกองทัพรักษาพระองค์ และเจ้าชายฟาฮัด บิน อับดุลลอฮฺ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ด้วยข้อหาทุจริตและสนับสนุนการก่อการร้าย โดยเจ้าชายพระองค์สำคัญถูกกักขังไว้ในโรงแรมริทซ์-คาร์ลตัน กลางกรุงริยาดห์ ภายใต้การควบคุมของกองกำลังราชองครักษ์

 

การจับกุมครั้งนี้ได้กวาดล้างผู้เกี่ยวข้องไปมากกว่า 500 คน มีทั้งเชื้อพระวงศ์ อดีตรัฐมนตรี นักการเมือง สื่อมวลชนและข้าราชการจำนวนมากถูกกล่าวหา บ้างก็รับสารภาพ และถูกพิพากษาจำคุก บางคนก็หายสาบสูญหรือฆ่าตัวตาย ในจำนวนนี้มีพี่ชายต่างแม่ของโอซามา บิน ลาดิน ถูกจับกุมคุมขังด้วย

 

เหตุการณ์ที่สาม คือการประกาศลาออกจากตำแหน่งอย่างกะทันหันของซาอัด ฮาริรี นายกรัฐมนตรีเลบานอน ระหว่างการเยือนซาอุดิอาระเบีย ในช่วงเวลาเดียวกับที่เกิดการกวาดล้างภายในราชวงศ์ซาอุ ทำให้ความสัมพันธ์ซาอุดิอาระเบีย-เลบานอน ตึงเครียดอย่างรวดเร็ว

 

เหตุการณ์ที่รุนแรงต่อเนื่องนี้ ทำให้เจ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน ถูกมองว่าสามารถใช้อำนาจด้วยความแข็งกร้าวและเฉียบขาด รวมถึงท่าทีที่ไม่ยอมอ่อนข้อให้กับผู้ที่คิดว่าเป็นศัตรู พร้อมจะใช้ทุกวิถีทางเพื่อเอาชนะ โดยได้รับการสนับสนุนจากวัยรุ่นและกลุ่มคนรุ่นใหม่ของซาอุดิอาระเบียและอาหรับ ที่เบื่อหน่ายความคร่ำครึและยึดติดกับกฎหมายจารีต รวมถึงไม่อยากอยู่ภายใต้สงครามศาสนาที่สร้างความเสียหายในแบบเดิมๆ

 

เจ้าชาย MBS ดูเป็นนักปฏิรูปผู้นำพายุคอันสดใสมาสู่ราชอาณาจักรทะเลทรายที่ทึบทึม การเปิดโอกาสทางธุรกิจและความบันเทิง ประกอบกับภาพการเยือนต่างประเทศพบกับผู้นำและนักธุรกิจไฮเทค ไม่ว่าจะเป็นบารัก โอบามา, ปูติน, โดนัลด์ ทรัมป์, เจฟ เบซอส, มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก รวมถึงเกร็ดเล็กน้อยที่สถานีโทรทัศน์ญี่ปุ่นนำเสนอ ว่าพระองค์เสด็จไปขอลายเซ็นเออิจิโร่ โอดะ นักวาดการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง “วันพีซ” ด้วยพระองค์เองครั้งเยือนประเทศญี่ปุ่น ทำให้เจ้าชายได้รับความนิยมและให้ภาพความเป็นผู้นำสำคัญระดับโลกรุ่นใหม่ แต่การกวาดล้างภายในอย่างเข้มข้นรุนแรง และการใช้กำลังทหารข่มขู่ต่อรองกับประเทศเพื่อนบ้าน ก็เป็นภาพตัดกันที่ยากจะลงตัวและหาจุดสิ้นสุดว่าจะอยู่ที่ใด และทั้งโลกก็ต้องเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของพระองค์อย่างมิอาจละสายตา

 

บทความโดย ธีรภัทร เจริญสุข

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า