ประเด็นคือ – สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าที่พบระบาดในหลายพื้นที่ปีนี้นั้น “กรมควบคุมโรค” เปิดเผยว่า โรคพิษสุนัขบ้าระบาดเพิ่ม 2 เท่า เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะเดียวกันยอมรับว่า ปัญหาการระบาดส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ สตง.ทักท้วงอำนาจท้องถิ่นใช้งบ
วันที่ 6 มี.ค. 61 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.สพ.พรพิทักษ์ พันธ์หล้า หัวหน้ากลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เห็นได้จากช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ ปี 2561 พบหัวสุนัขที่มีเชื้อบวก หรือเชื้อพิษสุนัขบ้าสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2560 ถึง 2 เท่า
อย่างปี 2560 เฉพาะเดือนมกราคมพบหัวสุนัขเชื้อบวก จำนวน 81 ตัว ส่วนเดือนกุมภาพันธ์ปี 2560 พบหัวสุนัขเชื้อบวก 79 ตัว ปี 2561 ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์พบหัวสุนัขมีเชื้อบวก จำนวน 155 ตัว และ 160 ตัว ตามลำดับ ซึ่งจำนวนที่เพิ่มขึ้นแสดงว่ามีการค้นหามากขึ้น ประกอบกับปัญหาเรื่องการฉีดวัคซีนในสุนัขมีข้อจำกัด ทำให้พบมากขึ้นด้วย
ส่วนกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีข้อจำกัดในการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าของท้องถิ่น เพราะถูก สตง.ทักท้วงห้ามใช้งบฯ ในการสั่งซื้อวัคซีน เพราะไม่ใช่ภารกิจ นายสัตวแพทย์ พรพิทักษ์ กล่าวว่า เดิม สตง.มองเช่นนั้นจริง อาจเพราะไม่เข้าใจตัวกฎหมายที่มุ่งเน้นให้หลายภาคส่วนช่วยกันขจัดปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไป โดยเข้าใจว่าเป็นการทำงานซ้ำซ้อน
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดในปี 2561 สำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงมหาดไทย ได้ผลักดันจนมีประกาศให้ท้องถิ่นสามารถซื้อวัคซีนมาฉีดในสุนัข เพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้แล้ว และแม้ขณะนี้จะผ่อนคลายลงได้ แต่ก็ยังต้องสร้างความตระหนักให้กับบุคลากรในพื้นที่ที่ยังไม่เข้าใจ และยังมองว่าไม่ใช่หน้าที่
ด้าน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ทำแผนซักซ้อมแนวทางในการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อแจ้งเวียนแนวทางการปฏิบัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับทราบแล้ว เพื่อดำเนินการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งสุนัขที่มีเจ้าของและสุนัขจรจัด
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ประกาศเขตโรคระบาดพิษสุนัขบ้าไปแล้ว 13 จังหวัด ซึ่งถูกจัดเป็นพื้นที่สีแดง เพราะอยู่ในขั้นน่าเป็นห่วงคือ จังหวัดสุรินทร์ ชลบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา น่าน บุรีรัมย์ อุบลราชธานี เชียงราย ร้อยเอ็ด สงขลา ระยอง ตาก และศรีสะเกษ
นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวังโรคระบาดพิษสุนัขบ้าในอีก 42 จังหวัด ซึ่งจัดให้อยู่ในพื้นที่สีเหลือง ขณะที่ในปีนี้กรมฯ ตั้งเป้าที่จะประกาศให้ 20 จังหวัด เป็นพื้นที่ปลอดโรคระบาดพิษสุนัขบ้า