ต้นมะพร้าวอายุ 45 ปี หลักฐานเด็ดพิสูจน์การครอบครองที่ดิน 71 ไร่ของภาคเอกชนไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรมอุทยานฯ เผยใช้รูปแบบบูรณาการพิสูจน์ความจริงในการทวงคืน “เกาะปอดะ” ทำให้ศาลแพ่งอุทธรณ์ตัดสินให้กรมอุทยานฯ ชนะคดี
วันที่ 18 ส.ค. 2561 นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมด้วยนายวิษณุ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตัวแทนจากศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร แถลงวานนี้ ถึงกรณีศาลแพ่งอุทธรณ์ จ.กระบี่ มีคำพิพากษาให้กรมอุทยานฯชนะคดีฟ้องร้องที่ดินจำนวน 71 ไร่บนเกาะปอดะ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ โดย ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ดีเอสไอ กล่าวว่า ดีเอสไอ เข้าร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อใช้ในการต่อสู้ในชั้นศาลอุทธรณ์ ซึ่งจากการทำงานร่วมกันระหว่างกรมอุทยานฯ ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ทำให้คดีระหว่างกรมอุทยานฯ พลิกกลับมาชนะเอกชนในชั้นศาลอุทธรณ์ได้
“ทำข้อเท็จจริงให้ปรากฎ 2 อย่างคือ การวิเคราะห์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น และนำคำเห็นแย้งในคำพิพากษาชั้นต้นมาพิสูจน์หาข้อเท็จจริง โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่อยู่ในคำพิพากษา เช่น ภาพภ่ายทางอากาศ พ.ศ.2510 ที่นำมาแปลภาพถ่ายทางอากาศ และชัดเจนว่าไม่เคยปรากฎร่องรอยการทำประโยชน์ในพื้นที่เกาะปอดะและการนำผู้เชี่ยวชาญมะพร้าว จากศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ปืนต้นมะพร้าว เพื่อนับวงปีมะพร้าว”
ร.ต.อ.วิษณุ กล่าวว่า การพิสูจน์อายุมะพร้าว เพราะในศาลชั้นต้นมีข้อมูลที่ไม่ตรงกัน ภาคเอกชนว่าปลูกก่อนปี 2510 จึงต้องพิสูจน์โดยทีมวิจัยพืชสวนชุมพร เข้าไปตรวจอายุต้นมะพร้าว กระทั่งพบชัดเจนว่าปลูกหลังปี 2510 ซึ่งสอดคล้องกับภาพถ่ายทางอากาศ และแผนที่ภูมิประเทศที่ยังมีสภาพเป็นป่าชัดเจน โดยตัวแทนศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร กรมวิชาการเกษตร ระบุว่า ใช้หลักสากลในการนับอายุมะพร้าวบนเกาะปอดะ เป็นหลักฐานในคดีครั้งแรก ทำให้รู้ว่าต้นมะพร้าวที่เกาะนี้มีอายุมากสุด 45 ปี หรือมีอายุในช่วงปี 2515 โดยใช้การสุ่มตรวจจำนวน 12 ต้น ช่วงโคนต้นมะพร้าวจะมีการเจริญเติบโตจะมีรอยแผลของกาบใบจะค่อนข้างถี่ ในช่วงแรก 4-5 ปี จากนั้นและจะวัดช่วงรอบต่อไป นับตามรอยแผลของมะพร้าวรอบโคนต้น ถ้ารอยแผลตรงกันจะนับเป็นจำนวน 1 ปี และในช่วงของใบจะนับส่วนยอดของทางใบ
ส่วนกรณีอ้างหลักฐาน ส.ค.1 ครอบครองบนเกาะปอดะ ซึ่งเอกชนนำ ส.ค.1 เลขที่ 2 มาอ้างครอบครองทำประโยชน์ก่อนปี 2510 ถ้าตรงแปลงในช่วง พ.ศ.2497 จะต้องมีร่องรอยการทำประโยชน์เช่นกัน แต่การอ่านแปลภาพถ่าย ดแย้งกับตัวหลักฐานที่นำมาอ้าง ทำให้สรุปว่าหลักฐาน ส.ค.1 ไม่ได้อยู่บนเกาะปอดะ แต่บินมาจากพื้นราบ และเป็นที่มาในการทวงคืนที่ดินได้สำเร็จในศาลแพ่งอุทธรณ์
ขณะที่นายวรพจน์ ล้อมลิ้ม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ยอมรับว่า รู้สึกโล่งใจ เพราะคดีนี้เป็นมหากาพย์ในการต่อสู้มาตั้งแต่ปี 2528 จนถึงปี 2561 หากใครไปจะพบว่าเกาะปอดะมีความสวยงาม และเป็นทรัพยากรที่ต้องเก็บไว้เป็นสมบัติชาติ ซึ่งทางกรมอุทยานฯ ยื่นเรื่องเพื่ออุทธรณ์คดีรวมระยะเวลา 9 เดือน 25 พ.ย.2560
เป็นครั้งแรกที่กรมอุทยานฯ ได้แก้ต่างในชั้นอุทธรณ์จนพลิกชนะคดี และมาจากความร่วมมือกันแบบบูรณาการกับหลายหน่วยงานที่เข้ามาร่วมมือในคดีเกาะปอดะ ซึ่งแนวทางการต่อสู้คดียอมรับว่ายากการรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานให้ศาลรับฟังถือว่ามีความท้าทายมาก และจะใช้เป็นบันทัดฐานในการเดินหน้าคดีการฟ้องร้องที่ดินในเขตอุทยานฯแห่งอื่นๆ เช่น อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต ขณะนี้เกาะปอดะ ยังอยู่ในการดูแลของกรมอุทยานฯ และถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษารอบนี้แล้วเชื่อว่า หากเอกชนจะยื่นอุทธรณ์คดีต่อภายใน 30 วันก็จะมีโอกาสต่อสู้น้อย เพราะเรามีทั้งพยานบุคคลที่ชี้เรื่อง ส.ค.1 ที่นำมากล่าวอ้างบินมาจากที่อื่น ร่องรอยจากภาพถ่ายทางอากาศ และอายุของต้นมะพร้าวที่เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาต่อสู้คดี ซึ่งเข้าใจว่าเอกชนอยากได้ที่ดินเกาะปอดะ เพราะมีความสวยงามมูลค่าสูงนับพันล้านบาท
ลำดับเหตุการณ์คดีทวงคืนเกาะปอดะ 71 ไร้ เขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา- หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ การต่อสู้ที่ยาวนานกว่า 33 ปี
- 5 ต.ค. 2528 มีการตรวจสอบพื้นที่บริเวณเกาะปอดะ หมู่ที่ 2 ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ ตรวจพบชาวบ้าน2 คน ชื่อนายโหรบ ชำนินา และนางมิอะ ชำนินา ภรรยา ให้การว่า ได้ครอบครองที่ดินเกาะปอดะ โดยมีหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3ก) เลขที่ 750, 757, 758 และ 759 ซึ่งได้ขายที่ดินทั้งหมดให้กับ นายชวน ภูเก้าล้วน ต่อมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการลักลอบทำลายทรัพยากรป่าไม้มีคำสั่งที่ 11/2532 เรื่อง แต่งตั้งอนุกรรมการเฉพาะกิจตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ซึ่งอนุกรรมการฯ มีมติให้กรมป่าไม้ประสานงานผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ขอให้เพิกถอน น.ส. 3ก ทั้ง 4 ฉบับ ตามนัยมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ปรากฏว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ไม่สั่งเพิกถอน
- 26 ส.ค. 2536 กรมป่าไม้ขอให้อัยการจังหวัดกระบี่ จัดพนักงานอัยการดำเนินคดีแพ่ง เพื่อเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3ก) เลขที่ 750, 757, 758 และ 759 ปรากฏตามคำฟ้องศาลจังหวัดกระบี่ ลงวันที่ 24 เมษายน 2543
- 30 ธ.ค. 2546 ศาลจังหวัดกระบี่ มีคำพิพากษาความแพ่ง ตามคดีหมายเลขดำที่ 276/2543 คดีหมายเลขแดงที่ 852/2546 คดีหมายเลขดำที่ 501/2545 คดีหมายเลขแดงที่ 853/2546 ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก) เลขที่ 750, 757, 758 และ 759 ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ กับให้ขับไล่จำเลย (นายชวน ภูเก้าล้วน) และบริวารออกไป พร้อมให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำพิพากษาความแพ่ง คดีหมายเลขดำที่ 196-197/2547 คดีหมายเลขแดงที่ 2948-2949/2549 พิพากษายืน
- 30 ธ.ค. 2554 ศาลฎีกา มีคำพิพากษาความแพ่ง (คดีข้อ 4) เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2554 ที่ 11431-11432/2554 พิพากษายืน
- 17 ม.ค. 2556 สำนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ มีหนังสือ ที่ กบ 0020.5/1352 แจ้งว่า ได้ดำเนินการเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก) เลขที่ 750,757,758 และ 759เรียบร้อยแล้ว
- 20-21 ก.พ.2557 ทางอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ร่วมกับเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงาน เข้าดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง บนเกาะปอดะ หมู่ที่ 2 ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ตามหมายบังคับคดีที่ 90/2556 ศาลจังหวัดกระบี่ ลงวันที่ 27ก.พ. 2556
สำหรับที่ดินบนเกาะปอดะ ส่วนที่อยู่นอกเขตพื้นที่ที่ศาลฎีกามีคำพิพากษานายชวน ภูเก้าล้วน ได้ดำเนินการกั้นรั้วลวดหนามและก่อสร้างศาลาเหลี่ยม โดยอ้างสิทธิ์ตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค. 1) เลขที่ 1 หมู่ที่ 3 ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ ทางอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา- หมู่เกาะพีพี ได้ดำเนินการกล่าวโทษตามคดีอาญาที่ 120/2557 และ 146/2557 รวม 2 คดี และดำเนินการรื้อถอนตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ซึ่งต่อมาศาลจังหวัดกระบี่ มีคำพิพากษาความอาญา เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2560 ตามคดีหมายเลขดำที่ 1088/2559 คดีหมายเลขแดงที่ 1843/2560 พิพากษายกฟ้อง จำเลย (นายชวน ภูเก้าล้วน นายชวน ภูเก้าล้วน เป็นโจทก์ ฟ้องความแพ่ง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ 1 นายนิพนธ์ โชติบาล ที่ 2 นายไชยธัช บุญภูพันธ์ตันติ ที่ 3 จำเลย ซึ่งศาลจังหวัดกระบี่ มีคำพิพากษาความแพ่ง ตามคดีหมายเลขดำที่ พ.115/2558 คดีหมายเลขแดงที่ พ 525/2560 พิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาก ตามเอกสารหมาย จล. 1 ของโจทก์ เกาะปอดะ และให้จำเลยทั้ง 3 ร่วมกันรื้อถอนขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินแปลงดังกล่าวของโจทก์
- 12 ก.พ. 2561 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำพิพากษาความอาญา นายชวน ภูเก้าล้วน ได้ดำเนินการกั้นรั้วลวดหนามและก่อสร้างศาลาเหลี่ยม โดยอ้างสิทธิ์ตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค. 1) ตามคดีหมาย เลขดำที่ สวอ. 4 – 5/2561 คดีหมายเลขแดงที่ 391 – 392/2561 พิพากษากลับเป็นว่า จำคุกจำเลย (นายชวน ภูเก้าล้วน) 3 ปี 6 เดือน ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยออกไปจากที่เกิดเหตุซึ่งเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ
- 16 ส.ค.2561 ศาลจังหวัดกระบี่ นัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ความแพ่ง (คดีข้อ 10) ตามคดีหมายเลขดำที่ 195/2561 คดีหมายเลขแดงที่ 1565/2561 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความรวม 500,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีรวม 400,000 บาท
https://www.facebook.com/DNP1362/videos/pcb.2073082236340007/2251579874874452/?type=3&theater
อ้างอิงข้อมูลจาก : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และไทยพีบีเอส