SHARE

คัดลอกแล้ว

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ

กรมอุทยานฯ แจงปมทุจริตงบเพาะชำกล้าไม้ 53 ล้านกล้า วงเงิน 103 ล้านบาท ‘ธัญญา’ มั่นใจโปร่งใสตามขั้นตอน พร้อมให้ตรวจสอบ ปฏิเสธไม่มีการทุจริตเงินทอนตามที่เป็นข่าว

วันที่ 20 มิ.ย. 2561 นายสมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช แถลงวานนี้ถึงกรณีที่มีผู้ร้องเรียนนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่มีการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณบุคลากรไปเพาะชำกล้าไม้ จำนวน 53 ล้านกล้า และมีการเรียกเงินทอน 50% ว่า

1) ประมาณเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2553 สำนักส่งเสริมการปลูกป่า ได้รับการประสานงานด้วยวาจาจากอธิบดีกรมป่าไม้ในขณะนั้น ให้ดำเนินการสำรวจความต้องการกล้าไม้สำหรับใช้ในโครงการบรรเทาวิกฤตโลกร้อนฯ จึงมีความจำเป็นต้องใช้กล้าไม้เพื่อสนับสนุนโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้น 84 ล้านกล้า ภายในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวกรมป่าไม้ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพาะชำกล้าไม้ไม่เพียงพอที่จะดำเนินการตามโครงการดังกล่าวได้ จึงได้เสนอให้มีการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่าย จากงบประมาณเหลือจ่ายของกรมป่าไม้ ประจำปี 2553 จำนวน 103,716,100 บาท ไปเป็นแผนงานอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ผลผลิตที่ 1 พื้นที่ป่าไม้ได้รับการบริหารจัดการ กิจกรรมหลักฟื้นฟูป่าไม้ กิจกรรมเพาะชำกล้าไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว หมวดงบลงทุน

2) การดำเนินการแต่ละขั้นตอนได้ดำเนินการด้วยความรอบคอบรัดกุม มีการหารือร่วมกันระหว่างสำนักบริหารกลาง สำนักแผนงานและสารสนเทศ สำนักส่งเสริมการปลูกป่า โดยผ่านการพิจารณาจากรองอธิบดีกรมป่าไม้ในขณะนั้น ถึง 2 ท่าน และรองอธิบดีกรมป่าไม้ได้มีบันทึกลงวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ท้ายหนังสือสำนักส่งเสริมการปลูกป่า นำเรียนอธิบดีกรมป่าไม้เพื่อขออนุมัติตามขั้นตอนของทางราชการ ซึ่งต่อมาอธิบดีกรมป่าไม้จึงได้พิจารณาอนุมัติในหลักการตามหนังสือที่เสนอ ดังนั้นอำนาจในการอนุมัติเพื่อโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณ จึงเป็นอำนาจของอธิบดีกรมป่าไม้ ซึ่งในขณะนั้นตนเป็นเพียงผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการปลูกป่า เมื่อได้รับข้อสั่งการจากท่านอธิบดีฯ จึงได้ดำเนินการเสนอหนังสือตามขั้นตอนของทางราชการเท่านั้น

3) กรมป่าไม้ได้ดำเนินการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณดังกล่าว โดยจัดสรรให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการ ทั้งสิ้น 221 หน่วยงาน เพาะชำกล้าไม้ทั่วไป จำนวน 51,192,000 ต้น เพาะชำกล้าไม้ใหญ่ จำนวน 972,300 ต้น รวมงบประมาณทั้งสิ้น 103,716,100 บาท (หนึ่งร้อยสามล้านเจ็ดแสนหนึ่งหมื่นหกพันหนึ่งร้อยบาทถ้วน)

ภาพประกอบข่าว

4) สำหรับประเด็นที่ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้กล่าวถึงเทคนิค และวิธีการ การเพาะชำกล้าไม้ ซึ่งตามข่าวแจ้งว่า
-ช่วงฤดูการเพาะชำกล้าไม้จะทำกันในช่วงฤดูแล้ง คือเดือนมีนาคมถึงเมษายน เพราะหากมีฝนตกเมล็ดที่เพาะจะเป็นเชื้อรา และรากเน่า
-ในช่วงฤดูฝนไม่สามารถหาเมล็ดไม้ป่ามาเพาะได้ เนื่องจากเมล็ดไม้จะแก่พร้อมที่จะใช้เพาะเป็นช่วงฤดูแล้งเท่านั้น และบางชนิดมีระยะเวลาที่แก่พร้อมเพาะชำแค่ 7-15 วันเท่านั้น หากไม่นำมาเพาะเมล็ดจะเสื่อมคุณภาพ เช่น ไม้ยางนา ไม้ตะเคียนต่างๆ ไม้สะเดา แต่ในบัญชีกล้าไม้กลับมีไม้เหล่านี้อยู่ในการรายงาน
-การเก็บหาเมล็ดต้องใช้เมล็ดไม้เกินกว่า 53 ล้านเมล็ด ภายในระยะเวลา 1 เดือนจึงไม่สามารถหาเมล็ดไม้ป่าได้ทัน
-การกรอกดินใส่ถุงในช่วงฤดูฝนไม่สามารถทำได้เนื่องจากดินจะเปียกแฉะ ค่าแรงงานเหมาจะสูงมากเพราะปกติจ้างเหมา 2,000 ถุง ต่อ 200 บาท จะกลายเป็น 200 ถุง ต่อ 200 บาท
-กล้าไม้จะต้องมีระยะเวลาทำให้แข็งแรงก่อนแจกจ่ายประมาณ 4-5 เดือนคือทำให้แกร่ง ทำให้รากแข็งแรงและไม่ช้ำ
-เป็นไปไม่ได้ที่จะเพาะชำกล้าไม้ 53 ล้านกล้า และนำไปแจกจ่ายให้เสร็จภายในระยะเวลา 1 เดือน

ซึ่งข้อความเหล่านี้เป็นเพียงประเด็นที่ระบุไว้ในหนังสือร้องเรียนเท่านั้น ไม่ได้เป็นเนื้อหาที่ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้ตั้งประเด็นขึ้นมาเพื่อให้มีการตรวจสอบตามหัวข้อดังกล่าวแต่ประการใด ซึ่งเป็นกรณีปกติทั่วไป เมื่อมีการร้องเรียนเกิดขึ้นก็ต้องมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ และขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงในเบื้องต้นให้ทราบว่า
-การทำโรงเรือนเพาะชำ จะใช้ระบบแบบมีหลังคาซึ่งสามารถป้องกันน้ำฝน ป้องกันการไหลรวมของเมล็ด สามารถป้องกันเมล็ดเป็นเชื้อรา และรากเน่า ได้
-กล้าไม้ที่นำมาเพาะ เป็นกล้าไม้ที่สำนักวิจัยฯกรมป่าไม้ ได้เก็บสะสมไว้ก่อนเป็นจำนวนมากเพื่องานทดลองศึกษาทางวิชาการ จึงสามารถสนับสนุนเมล็ดไม้สำหรับการเพาะชำในช่วงเวลาดังกล่าวได้ในทันที ส่วนกรณีไม้ยางนา ไม้ตะเคียน และไม้อื่นๆนั้นมีการจัดเตรียมกล้าไว้บางส่วนเพื่อรองรับโครงการที่เป็นนโยบายเร่งด่วนตามปกติอยู่แล้ว
-สำหรับการเก็บหาเมล็ดนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการจัดซื้อเมล็ดไม้จากแหล่งอื่นๆ ที่มีเมล็ดไม้เก็บสะสมอยู่ก่อนแล้ว
-การกรอกดินใส่ถุงในช่วงฤดูฝนไม่เป็นอุปสรรคแต่ประการใด เนื่องจากโรงเพาะชำได้มีการสร้างหลังคาคลุมในพื้นที่เตรียมดิน เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้ทุกฤดูกาล
-สำหรับกล้าไม้ที่เพาะไว้ ก็ไม่ได้ดำเนินการแจกจ่ายในทันทีทันใด หรือต้องแจกจ่ายให้หมดภายในระยะเวลา 1 เดือน แต่จะเพาะไว้สำหรับการแจกจ่ายในปีถัดไป

นายสมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ยืนยันว่า การอนุมัติโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณเพาะชำกล้าไม้ดังกล่าวข้างต้น เป็นอำนาจของอธิบดีกรมป่าไม้ ซึ่งตนไม่มีอำนาจในการอนุมัติแต่ประการใด สำหรับการจัดหาเมล็ดไม้ก็ได้ดำเนินการจัดหาจากแหล่งที่มีเมล็ดไม้ค้างปี เทคนิคการเพาะชำในช่วงฤดูฝนก็สามารถใช้โรงเรือนที่มีหลังคาแบบระบบปิดซึ่งสามารถปฏิบัติงานได้เป็นปกติในทุกฤดูกาล สามารถป้องกันน้ำฝนที่อาจก่อให้เกิดเชื้อรากับเมล็ดไม้ หรือทำให้กล้าไม้รากเน่า และกล้าไม้ที่เพาะก็ใช้สำหรับแจกจ่ายในปีถัดไป ไม่ได้ถูกกำหนดให้แจกจ่ายให้หมดภายในระยะเวลา 1 เดือน ตามที่เป็นข่าว

สำหรับประเด็น ตามที่ระบุในข่าวว่ามีคำสั่งจากปลัดกระทรวงฯ ให้สอบอธิบดีฯนั้น เรื่องนี้ยังไม่ทราบรายละเอียด ซึ่งได้สอบถามไปยังปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯแล้ว ทราบว่าได้มีหนังสือร้องเรียนอธิบดีฯเกี่ยวกับการทุจริตเพาะชำกล้าไม้เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ ดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้หากปลัดกระทรวงฯเห็นว่ามีความจำเป็นจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบในเรื่องนี้ ตนก็พร้อมที่จะให้มีการตรวจสอบ เนื่องจากมั่นใจว่ากระบวนการทุกอย่างได้ดำเนินการโดยสุจริต โปร่งใส และถูกต้องตามขั้นตอน และขอเรียนยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าว่า ไม่มีการทุจริตเงินทอนตามที่เป็นข่าวอย่างแน่นอน อีกทั้งตนเองยังเป็นผู้วางแนวทางการทำงานอย่างโปร่งใสให้กับกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในยุคปัจจุบันจนทำให้ยอดการจัดเก็บเงินรายได้อุทยานแห่งชาติเพิ่มขึ้นจากปีพ.ศ. 2557 ซึ่งจัดเก็บได้จำนวน 696 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 2,413 ล้านบาท ในปี 2560 และคาดว่าภายในสิ้นปี 2561 นี้จะมียอดการจัดเก็บเงินรายได้อุทยานฯ เฉียด 3,000 ล้านบาท จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันในความมุ่งมั่นและความตั้งใจจริงของตน ในการสร้างความโปร่งใสให้กับองค์กร

ทั้งนี้ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ดำเนินการฟ้องร้องบุคคลที่เคยกล่าวหาเรื่องการทุจริตเพาะชำกล้าไม้ดังกล่าวข้างต้นมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยได้มีการแจ้งความดำเนินคดีอาญาไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2560 เวลา 15.00 น. สำหรับกรณีที่มีการลงข่าวพาดพิงอีกครั้ง จะได้พิจารณาว่าการเสนอข่าวในครั้งนี้ มีเนื้อหาเป็นการเจตนาที่มุ่งหวังเพื่อให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ชื่อเสียงของตน และเป็นการสร้างความเข้าใจผิดแก่สังคมหรือไม่ หากเป็นการจงใจเจตนาให้เกิดความเสียหายแก่ตน ก็จะพิจารณาฟ้องร้องดำเนินคดีผู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ตั้งกก.สอบ “อธิบดีกรมอุทยานฯ” ปมทุจริตงบปลูกป่า ปี 53

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า