Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

กลุ่มคนรุ่นใหม่และเครือข่ายองค์กรสิ่งแวดล้อมร้องสภา ไทย รับมือโลกร้อนผิดวิธี ต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม

เครือข่ายฯ ยื่นหนังสือผ่าน คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมืองฯ วิจารณ์รัฐบาลไทยรับมือโลกร้อนผิดวิธี ต้องเปิดให้ประชาชนมี ส่วนร่วมย้ำสังคมต้องช่วยจับตาการฟอกเขียวและทบทวนท่าทีรัฐบาลไทยในประชุมโลกร้อน

26 พฤศจิกายน 2565 เครือข่ายประชาชนห่วงใยต่อปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศยื่นหนังสือข้อเสนอ 11 ข้อถึงรัฐบาลไทยให้ทบทวนแนวทางรับมือโลกร้อน โดยยื่นหนังสือกับ ณัฐชา   บุญไชยอินสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลและประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ณ ห้องสมุดประชาชนบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานบางกอกบางสะพรั่ง

เสนอปรับแนวทางรับมือโลกร้อน

หนังสือระบุว่าที่ผ่านมารัฐบาลไทยดำเนินแนวทางรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เอื้อกลุ่มทุนขนาดใหญ่ให้สามารถ “ฟอกเขียว” เนื่องจากกลุ่มทุนใหญ่เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายสำคัญ จึงต้องเข้าร่วมกลไกคาร์บอนเครดิตเพื่อหักลบต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม

ทว่าเครือข่ายฯ กังวลว่ากลไกดังกล่าวจะเบี่ยงเบนแนวทางลดโลกร้อนที่แท้จริง เช่น ลดการผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและปรับรูปแบบเกษตรเชิงเดี่ยว นอกจากนี้คาร์บอนเครดิตยังทำให้ไทยเร่งเพิ่มพื้นที่ป่า เสี่ยงเกิดการไล่รื้อชุมชนใกล้ป่าและซ้ำเติมความขัดแย้ง

ข้อเสนอ 11 ข้อต่อรัฐบาลไทยจึงมีใจความสำคัญเพื่อให้ไทยปรับแนวทางรับมือโลกร้อนให้มีส่วนร่วมกับประชาชนมากยิ่งขึ้น

“การยื่นหนังสือวันนี้คือหลักฐานว่านี้คือความต้องการของเรา นำเสียงของเราไปอยู่ในกระบวนการตัดสินใจมากที่สุด” ภูริณัฐ เปลยานนท์ ตัวแทนยื่นหนังสือจากประชาชนราวสองร้อยรายชื่อและหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มเฟซบุ๊ก “การเมืองสิ่งแวดล้อม” กล่าว

นิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.พรรคก้าวไกล โฆษกคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม หนึ่งในผู้ร่วมรับหนังสือเผยว่า ตนเป็นส.ส.คนเดียวในสภาที่พูดเรื่องความเสี่ยงเปิดให้กลุ่มทุน “ฟอกเขียว” วิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่ค่อยมีการตั้งคำถามมากนัก นอกจากนี้การดำเนินการเรื่องนี้ในภาคส่วนการเมืองยังไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกลไกกฎหมายด้านโลกร้อนยังไม่มีชัดเจน มีเพียงกรมโลกร้อน ซึ่งปีนี้มีประกาศตั้งขึ้นใหม่ แต่ไม่แน่ใจว่าจะมุ่งเอื้อการฟอกเขียวอีกหรือไม่

“คำว่า ‘เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม’ นี้มองได้หลายแง่ นอกจากมีส่วนร่วมตัดสินใจในโครงการต่างๆ แล้ว จะต้องมีส่วนได้ประโยชน์จากโครงการแนวนี้ด้วย” นิติพล ย้ำ

บางขุนเทียน พื้นที่เสี่ยง  “ฟอกเขียว

เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่จัดกิจกรรมยื่นหนังสือและงานเสวนาวันดังกล่าวกำลังเผชิญปัญหาชายฝั่งพังทลายจากน้ำทะเลที่สูงขึ้นต่อเนื่องมาตลอดสิบปี

โสภิณ จินดาโฉม ชาวบ้านและสมาชิกเครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน เล่าว่าตนและคนบางขุนเทียนมีอาชีพทำนากุ้ง แต่ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้คันนาพังแล้วน้ำทะเลทะลักเข้านา สร้างความเสียหายหลายแสนบาท ปีนี้ระดับน้ำทะเลหนุนก็สูงเช่นกัน

ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยลองทำหลายวิธีเพื่อรับมือปัญหากัดเซาะชายฝั่งอ่าวไทย เช่น สร้างไส้กรอกทรายและทำกำแพงหินทิ้ง แต่ไม่ได้สรุปว่าแนวทางใดที่ได้ได้ประสิทธิภาพและดำเนินการต่อเนื่อง

นอกจากนั้น เขตบางขุนเทียนยังเป็นพื้นที่ป่าชายเลนผืนสำคัญในกรุงเทพฯ ซึ่งช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและยังมีศักยภาพดูดซับคาร์บอนได้มากกว่าปกติถึงสี่เท่า แต่นักวิชาการหลายคนกังวลว่าป่าชายเลนจะกลายเป็นพื้นที่ป่าเป้าหมายแรกที่กลุ่มทุนที่ต้องการซื้อขายคาร์บอนเครดิตทำสัมปทานและขยายพื้นที่ เสี่ยงต่อการไล่รื้อชุมชน

เมื่อปลายเดือนตุลาคม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้จัดสรรพื้นที่ดำเนินการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ประจำปี 2564 แก่บริษัทเอกชน 17 ราย รวม 44,712.99 ไร่

วอนทบทวนท่าทีรัฐบาลไทยในประชุมโลกร้อน

หนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า นานาประเทศได้ตกลงร่วมเรื่องแนวทางรับมือวิกฤตสภาพภูมิอากาศใหม่ครั้งประวัติศาสตร์ ได้แก่ การจัดตั้งกองทุนความสูญเสียและความเสียหาย (Loss & Damage) ในการประชุมโลกร้อนสหประชาชาติ (COP27) ที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ระหว่างวันที่ 6-18 พฤศจิกายน

กองทุนดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อให้ประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายสำคัญ จ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อชดเชยผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศให้กลุ่มประเทศเปราะบาง เช่น ความเสียหายจากน้ำท่วมและไฟป่า

กองทุนดังกล่าวเป็นหมุดหมายสำคัญ สำหรับประเทศที่เผชิญความเสี่ยงสูงจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ผลักดันโดยประเทศปากีสถานที่ปีนี้เผชิญเหตุน้ำท่วมหนักครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งประเมินว่าต้องใช้เงินกว่า 16 พันล้านเหรียญสหรัฐ (573.12 พันล้านบาท) เพื่อเยียวยาการคมนาคม โครงสร้างพื้นฐาน เกษตรกรรม บ้านเรือน ฯลฯ  ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาเช่นปากีสถานไม่มีทุนเพียงพอ

ด้านประเทศไทย หอการค้าประเมินว่าน้ำท่วมปีนี้ กินพื้นที่ 52 จังหวัด ทำเศรษฐกิจเสียหาย 1.2–2 หมื่นล้านบาท

“ประเทศไทยไม่ได้เป็นคนทำให้โลกร้อนอันดับต้นของโลก แต่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อนอันดับต้นๆ” สาคร สงมา ตัวแทนภาคประชาสังคมไทยที่เข้าร่วมประชุม COP27 ที่อียิปต์กล่าว

จากการสำรวจประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อนสิบอันดับแรกของโลกระหว่างปี 2543-2562 ของ German Watch พบว่าปากีสถานเป็นอันดับ 8 ของโลก ขณะที่ประเทศไทยติดอันดับ 9

แต่ระหว่างปี 2293-2564 ปากีสถานปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.3% ของโลก ขณะที่ประเทศไทยมีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกในโลกเพียง 0.45 % เท่านั้น

“ในการเจรจา ประเทศไทยต้องจัดกลุ่มตัวเองเป็นประเทศกำลังพัฒนาแล้วกดดันประเทศพัฒนาแล้วให้ใช้หนี้ ไปทวงเงินบาปจากประเทศที่ทำบาป เพื่อเอาเงินมาชดเชยเป็นกองทุนที่มีคนรับผิดชอบ”

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่ไปร่วมประชุมมา เขามองว่า “ท่าทีเจรจาของประเทศไทยดูไม่เร่งร้อน ไม่เหมือนกับประเทศที่เจอผลกระทบจากโลกร้อนหนักๆ อย่างปากีสถานและฟิลิปปินส์”

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมักเสนอโครงการรับเงินสนับสนุนจากต่างชาติในหมวดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) ราว 95% ขณะที่โครงการแนวปรับตัว (Adaptation) คิดเป็นสัดส่วนเพียงราว 15%

ในการประชุมปีนี้ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นตัวแทนประเทศไทยขึ้นกล่าวถ้อยแถลงในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนว่าไทยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40% ในปี 2573 และจะเพิ่มพื้นที่ป่า 55% ในปี 2580

ก่อนหน้านี้ สหประชาชาติมีกองทุนสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาเพื่อปรับตัวรับโลกร้อน ได้แก่ กองทุนสีเขียวโลก (Green Climate Fund) ซึ่งไทยได้ทุน 17.5 ล้านเหรียญ (626.85 ล้านบาท) เพื่อบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเหนือ-กลาง

สาครซึ่งเป็นคนในพื้นที่โครงการ มองว่าแม้โครงการดังกล่าวจะเข้าข่ายช่วยเกษตกรไทยปรับตัว (Adaptation) แต่กลับไม่ได้ประสบความสำเร็จมากขนาดนั้น โดยยังเป็นการบริหารจัดการน้ำผ่านการสร้างคลองส่งน้ำซึ่งไม่ได้ทันสถานการณ์

“พอมีกองทุนความสูญเสียและความเสียหายใหม่แล้ว ประชาชนก็ต้องจับตาต่อว่าจะใช้ให้มีประสิทธิภาพไหม”

การประชุมโลกร้อน COP28 จะจัดขึ้นที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม 2566

 

เขียนโดย : ณิชา เวชพาณิช

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า