
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการ กสทช. (ภาพจาก ThaiPBS)
ประเด็นคือ – พ.อ.นที แถลงผลประชุม กสทช. เตรียมอุทธรณ์สู้ไทยทีวี 3 ประเด็น ไม่เห็นด้วยคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ยืนยันทำตามแผนงาน และโครงข่ายไม่ล่าช้า
วันที่ 14 มี.ค. 2561 พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการ กสทช.เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการ กสทช.กรณีที่ศาลปกครองกลางวินิจฉัยให้ กสทช. คืนเงินประมูลงวดที่ 3-6 รวมกว่า 1,750 ล้านบาท ให้บริษัท ไทยทีวี ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล 2 ช่อง ได้แก่ ไทยทีวี และช่องโลก้าทีวี
พ.อ.นที กล่าวว่า กสทช.น้อมรับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง แต่การประชุมร่วมกันวันนี้ มีข้อวินิจฉัยบางส่วน ที่ กสทช.เห็นแย้ง และจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ภายใน 30 วัน ได้แก่
1. การวินิจฉัยว่าการดำเนินการระหว่างบริษัท ไทยทีวี กับ กสทช.เป็นลักษณะการออกใบอนุญาตเป็นแบบ “เข้าร่วมการงาน” ซึ่งรูปแบบนี้ คล้ายกับการสัมปทาน แต่การดำเนินการของ กสทช. ไม่ใช่การให้สัมปทาน แต่เป็นรูปแบบระบบใบอนุญาต ซึ่งกสทช.อนุญาตให้ใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ ตามหลักใหญ่แล้ว กสทช.ไม่มีหน้าที่ให้บริการช่องรายการ แต่เป็นองค์กรที่กำกับดูแล จัดสรรให้ผู้รับใบอนุญาต ดำเนินการตามแผนงานยุทธศาสตร์ที่กำหนด
2. การวินิจฉัยว่า กสทช.ไม่ทำตามแผนแม่บทการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัล ประเด็นนี้มีความคลาดเคลื่อน เนื่องจาก กสทช.มีประกาศระบุชัดว่าการขยายโครงข่ายสัญญาณจะครอบคลุม 50% ในช่วงปีแรก, ปีที่ 2 ครอบคลุม 80% ปีที่ 3 ครอบคลุม 90% และปีที่ผ่านมา ครอบคลุมแล้ว 95% โดย กสทช.มีหลักฐานชัดเจนว่าการขยายโครงข่ายเป็นไปตามกำหนด และทำตามอำนาจหน้าที่ โดยออกใบอนุญาตโครงข่ายให้ผู้ประกอบการที่รับผิดชอบ
และ 3. เงินที่ผู้ประกอบการชนะประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ตามหลักแล้ว จะต้องชำระค่าใบอนุญาตทั้งก้อน แต่ที่ผ่านมา กสทช.เห็นว่าการแบ่งชำระเป็นงวดๆ เพื่อบรรเทาและอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบกิจการในช่วงเริ่มต้นประกอบกิจการ ดังนั้น ทั้ง 3 ประเด็น จะให้สำนักกฎหมายดำเนินการ ส่งรายละเอียดยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดอย่างช้า ภายใน 30 วัน เพื่อให้เห็นข้อต่อสู้ที่มีนัยสำคัญของ กสทช.

นายสมบัติ ลีลาพตะ ผอ.สำนักกฎหมาย กสทช. (ภาพจาก parliament)
ขณะที่นายสมบัติ ลีลาพตะ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กสทช.กล่าวว่า ที่ผ่านมาในชั้นการไต่สวนเคยเสนอประเด็นเหล่านี้ ให้องค์คณะตุลาการพิจารณาแล้ว แต่จากนี้จะส่งไปเพิ่มเติม เพื่อให้เห็นการต่อสู้ทางประเด็นของ กสทช. อย่างมีนัยสำคัญ โดยวันที่ 19 มีนาคม 2561 จะมีประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ จากนั้นจะเสนอเข้าบอร์ดใหญ่ กสทช. หากไม่มีการปรับแก้ จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ก่อนระยะเวลาที่กำหนดไว้ภายใน 30 วัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง