พรรคภูมิใจไทยทยอยเปิดตัวนโยบาย เข้าสู่บรรยากาศการหาเสียงสู้ศึกเลือกตั้งอย่างเต็มตัว โดยทั้ง นายอนุทิน ชาญวีรกูล และ พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ โฆษกพรรค ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่างๆ ซึ่งสามารถจับใจความนโยบายหลักได้ตามนี้
ทำงานนอกบ้าน 4 วัน อีก 1 วัน Work From Home
เจ้าหน้าที่รัฐใน กทม.ในส่วนงานที่เหมาะสม ทำงานอยู่บ้านสัปดาห์ละ 1 วัน เพื่อลดปัญหาจราจร ปัญหามลพิษ ค่าใช้จ่ายเดินทาง ส่วนบริษัทเอกชนจะใช้มาตรการทางภาษีจูงใจ รวมทั้งสนับสนุนด้านเทคโนโลยี ด้านประชาชนทั่วไปจะสนับสนุนค่าใช้จ่าย ไม่เกิน 1.5 หมื่นต่อปี ในการทำงานที่บ้าน
กัญชาถูกกฎหมาย
ขยายการใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมายนอกจากทางการแพทย์ ให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ อนุญาตให้ปลูกได้บ้านละ 6 ต้น ใช้ใส่ในอาหาร และขายคาดจะได้รายได้ปีละ 4.2 แสนต่อผู้ปลูก 1 ราย แต่จะมีการควบคุมการใช้
Grab Bike ถูกกฎหมาย
ลดปริมาณรถยนต์ ใน กทม.และปริมณฑล ด้วยการให้รถรับจ้างผ่านแอพพลิเคชั่นถูกกฎหมายทุกคัน มีการออกกฎหมายรับรองอย่างถูกต้อง
แบ่งปันกำไรข้าว ชาวนาได้เงินมากขึ้น
นโยบาย Profit Sharing ใช้แนวทางเดียวกับ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล คือนำผลกำไรรวมมาจัดสรรใหม่ โดยให้ชาวนาได้กำไร 70% ส่วนโรงสี ผู้ส่งออก และผู้ผลิตข้าวถุงจะได้ 25% เนื่องจากชาวนาเป็นผู้ลงทุนลงแรงมากที่สุด
พักหนี้ กยศ. 5 ปี ยกเลิกดอกเบี้ย-เบี้ยปรับ
แก้ปัญหาเงินกู้ยืม กยศ. ดอกเบี้ยแพง ค่าปรับแพง เวลาปลอดหนี้สั้น ด้วยการพักหนี้ 5 ปีเพื่อให้เวลาไปหางานทำ และให้เวลาคืนเงินต้น 10 ปี โดยไม่มีการคิดดอกเบี้ย และยกเลิกเบี้ยปรับ
ให้เงินเดือน อสม. 2,500 – 10,000 บาท
ยกระดับ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นหมอประจำหมู่บ้านดูแลสุขภาพคนในชุมชนให้ไม่เจ็บป่วยจนต้องไปโรงพยาบาล มีเงินเดือนประจำเทียบเคียงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 2,500 – 10,000 บาท
อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นนายกรัฐมนตรี
“ถ้าประชาชนเลือกพรรคภูมิใจไทยเข้ามาเป็นอันดับ1 ผมก็พร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ประกาศในวันแถลงใหญ่ที่ จ.บุรีรัมย์ แต่เคยให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่าจะไม่รับเป็นนายกรัฐมนตรี หากเสียงเป็นรองพรรคอื่น เพราะไม่อยากตกนรก จากแรงกดดันรอบด้าน
โดยในการเลือกตั้งปี 2554 ที่ผ่านมา พรรคภูมิใจไทยได้ ส.ส. ทั้งสิ้น 34 คน มีบทบาทเป็นพรรคขนาดกลางที่ชี้ขาดการจัดตั้งรัฐบาล

นโยบายพรรคภูมิใจไทย