SHARE

คัดลอกแล้ว

 

เมื่อมีข่าวเรื่อง Richard Thaler ได้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ในปีนี้ เพื่อนผมคนหนึ่งบอกผมว่า ถ้า Richard Thaler เป็นอาจารย์ที่ไทย คงไม่มีทางก้าวหน้าเช่นนี้ เผลอๆ จะได้เป็นศาสตราจารย์หรือเปล่าก็ยังไม่แน่ เพราะเมืองไทยหลายสิบปีที่ผ่านมา ไม่มีสาขาที่ชื่อว่าเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

 

ผมไม่มีความรู้เกี่ยวกับวงวิชาการไทยพอที่จะบอกว่า ที่เพื่อนผมพูดมีมูลหรือเป็นแค่เพียงอคติส่วนตัว แต่ผมก็บอกเพื่อนว่า ในสหรัฐฯ ตอนที่ Richard Thaler เริ่มต้นทำวิจัยนั้น ก็ไม่มีสาขาที่ชื่อเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเหมือนกัน เขาเองนี่แหละเป็นคนบุกเบิกสาขานี้ขึ้นมา

 

ผมเลยลองมานั่งคิดว่า นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักในสหรัฐฯ ยอมเปิดรับแนวคิดแปลกใหม่นี้ได้อย่างไร เพราะเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมท้าทายสมมติฐานพื้นฐานที่สุดของวิชาเศรษฐศาสตร์ นั่นก็คือ มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุมีผลทางเศรษฐกิจ

 

ถ้าเป็นสังคมที่มองว่าโลกของความรู้หยุดนิ่งแล้ว คล้ายๆ กับว่าความรู้ทั้งหมดอยู่ในหนังสือ คนเรียนหนังสือก็คือ ไปเรียนความรู้เหล่านั้นให้ช่ำชอง ศึกษาว่าบรรดานักปราชญ์ในอดีตเขาว่าอะไรไว้บ้าง ก็คงจะมองว่า คนที่เสนอแนวคิดแปลกใหม่นี้ไม่อยู่ในกรอบของหลักวิชา ในเมื่อหลักวิชาเศรษฐศาสตร์เริ่มต้นว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุมีผลทางเศรษฐกิจ คุณต้องเป็นนักเรียนที่ไม่รักดีเอามากๆ จึงแกล้งลืมบรรทัดแรกในหนังสือ

 

แต่ในสังคมที่มองว่าความรู้ไม่มีวันหยุดนิ่ง ความรู้ไม่ได้นอนแช่อยู่ในหนังสือ แต่ความรู้แท้จริงแล้ว คือการสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน นักปราชญ์คนหนึ่งพูดไว้อย่างหนึ่ง นักปราชญ์อีกคนพูดไว้อีกอย่าง แต่ทั้งสองคนลืมอะไรไปบางอย่างหรือเปล่า ที่พูดกันมานั้นตั้งอยู่บนสมมติฐานอะไรบ้าง เมื่อคนที่มาใหม่สามารถชี้ได้ว่ามีจุดไหนที่หลงลืมไป มีสมมติฐานอะไรที่น่าจะมีปัญหา ก็ค่อยๆ ก่อร่างเป็นความรู้ใหม่ พรมแดนของความรู้จึงค่อยๆ ขยายตัวรุดหน้าไปเรื่อยๆ

 

นี่จึงเป็นสาเหตุที่ในการเรียนปริญญาชั้นสูง ครูมักฝึกให้เราทบทวนวรรณกรรม คือทบทวนว่าใครเคยเขียนอะไรเกี่ยวกับเรื่องที่เราสนใจไว้บ้าง และเรากำลังจะนำเสนอสิ่งใหม่อะไร ดังนั้น วิทยานิพนธ์ทั้งเล่มของเราจริงๆ ก็คือ การสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนที่เคยพูดในเรื่องที่เราสนใจมาก่อน โดยตัวเรามีอะไรใหม่ๆ มาเสริมจากสิ่งที่เขาเคยพูดมา

 

ด้วยเหตุนี้ ความรู้ที่อยู่ในหน้าหนังสือจึงย่อมมีวันล้าสมัย และจึงมีข้อจำกัดเสมอ ครูจึงต้องชวนให้นักเรียนคิดว่า ความรู้เดิมนั้นเกิดขึ้นมาในบริบทอย่างไร ปัจจัยต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปแล้วหรือไม่ หรือตอนนั้น ผู้เสนอความรู้เรื่องนั้นหลงลืมคิดอะไรไป

 

นี่จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับทฤษฎี ถ้าเราไม่มีทฤษฎีเลย เราก็จะไม่มีกรอบในการมองและทำความเข้าใจโลก แต่ถ้าเรายึดติดทฤษฎีโดยกอดแน่นว่านี่เป็นหลักวิชา คล้ายๆ กับบูชาพระคัมภีร์ในศาสนา เราก็อาจติดอยู่ในโลกที่ล้าสมัยไปแล้ว หรือโลกที่มีข้อจำกัด ซึ่งยังต้องการคนใหม่ๆ เข้ามาร่วมคิด ร่วมศึกษาวิจัย เสริมสร้างความรู้เพิ่มเติมกันต่อไป

 

วิธีหนึ่งที่จะเกิดสิ่งใหม่ก็คือการผสม เพลงแต่ละเพลงเกิดจากการผสมตัวโน๊ตต่างๆ เข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นเพลงใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม วงวิชาการยุคหลังจึงมีการผสมมุมมอง ผสมศาสตร์ ผสมวิธีวิจัย งานเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมของ Richard Thaler ก็เป็นการผสมแนวคิดจิตวิทยาเข้ากับเศรษฐศาสตร์ ตัวเขาเองยังเคยนำเสนองานร่วมกับนักนิติศาสตร์ด้วย จนเกิดเป็นมุมมองใหม่ในการมองกฎหมายและนโยบายในสหรัฐฯ

 

Richard Thaler บอกว่า ผลงานของเขามาจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักจิตวิทยาชื่อดังอย่าง Daniel Kahneman และ Amos Tversky รวมทั้งจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักนิติศาสตร์ชื่อดังอย่าง Cass Sunstein ส่วนสิ่งที่เขาพยายามทำในงานเขียนก็คือ การพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักเศรษฐศาสตร์และนักนิติศาสตร์คนอื่นๆ ว่าพวกเขาลืมไปหรือเปล่าว่าบางครั้งมนุษย์อาจไม่มีเหตุมีผลขนาดนั้น และเราควรจะออกแบบกฎหมายและนโยบายสาธารณะอย่างไรเมื่อเราเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ดีขึ้น

 

เมื่อมีคนถาม Richard Thaler ว่า มีคำแนะนำอะไรให้นักศึกษาเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่บ้าง เขาตอบว่า “ขอให้คุณศึกษาวิจัยโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ใช่ความรู้ที่มีอยู่ในหนังสือ”

 

ความหมายที่ผมคิดว่าเขาต้องการจะสื่อก็คือ นักศึกษาหลายคนศึกษาหนังสือ (บางแห่งยังท่องหนังสืออยู่) แต่จริงๆ แล้ว การพยายามศึกษาทำความเข้าใจโลกแห่งความเป็นจริง จะทำให้คุณสามารถทบทวนว่าความรู้ใดในหนังสือที่ล้าสมัย มีข้อจำกัด แล้วจึงสามารถนำเสนออะไรใหม่ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสิ่งที่คนอื่นๆ เคยพูดมา จนเกิดเป็นความรู้ใหม่ที่สมบูรณ์หรือทันสมัยขึ้น

 

มีอยู่ช่วงหนึ่ง นักพัฒนาชอบพูดถึง “กับดักรายได้ปานกลาง” เพื่ออธิบายว่าประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งติดกับดักอยู่ที่เดิม ไม่สามารถขยับไปเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ แต่จริงๆ แล้ว มีอีกกับดักหนึ่งที่ควรระมัดระวังเช่นกัน นั่นก็คือ “กับดักความรู้ปานกลาง” ปัจจุบันเราไม่ใช่สังคมที่ไม่มีความรู้ ไม่มีหนังสือ แต่เรามักติดกับดักความรู้ที่มีอยู่ และก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของพรมแดนความรู้ซึ่งรวดเร็วขึ้นทุกวัน

 

ประเทศไทยตอนนี้กำลังคุยกันว่าจะจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา และจะเดินหน้าปฏิรูปอุดมศึกษาอย่างจริงจัง แต่เวลานักศึกษาของเราคิดถึง “ความรู้” เขายังคิดถึงภาพคนท่องจำหนังสือ หรือคิดถึงภาพคนจิบน้ำชายามบ่าย แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ถกเถียงซึ่งกันและกัน

 

เราติดอยู่ในความรู้ที่หยุดนิ่ง หรือเราจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนาแลกเปลี่ยนในวงวิชาการนานาชาติ เพื่อก้าวทันพรมแดนของความรู้ที่เปลี่ยนแปลงไม่สิ้นสุด

 

บทความโดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า