ประเด็น – ก.ล.ต. เร่งศึกษาช่องทางแก้ไขระเบียบมาตรการลงโทษทางแพ่ง เรียกค่าเสียหายผู้บริหารคืนบริษัท หวังคุ้มครองนักลงทุนรายย่อย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบังคับใช้กฎหมาย หลังพบพฤติกรรมการการปั่นหุ้น และอินไซเดอร์เปลี่ยนไป
วันที่ 12 ต.ค. 60 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ พฤติกรรม กรรมการ และนักลงทุนใช้ช่องทางดังกล่าวกระทำการทุจริตและยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ตลอด 10 เดือนที่ผ่านมา สามารถลงโทษทางแพ่ง ตามกฎหมายหลักทรัพย์ฯ เพียง 21 คน ใน 8 คดี นำเงินส่งคืนรายได้แผ่นดินประมาณ 50 ล้านบาท
นายสมชาย พงษ์พัฒนาศิลป์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. กล่าวว่า ความผิดส่วนใหญ่ เป็นการใช้ข้อมูลภายใน หรืออินไซเดอร์ และการขาดความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ผู้บริหาร บริษัทจดทะเบียน
โดย ก.ล.ต. กำลังเร่งศึกษาแก้ไขระเบียบให้ ก.ล.ต. สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง คืนบริษัท เพื่อรักษาผลประโยชน์ผู้ถือหุ้น ควบคู่ไปกับการปรับวิธีการทำงานของ กรมบังคับคดี ที่จะให้นิติบุคคลภายนอกเข้ามาช่วยทำคดีล้มละลาย เพราะเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ 1 คน ต้องรับดำเนินการกว่า 100 คดี ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบคดีทุจริตในตลาดหลักทรัพย์ดีขึ้น
ขณะที่นายอเนก อยู่ยืน ผู้อำนวยการตรวจสอบตลาดทุน กล่าวว่า การปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของดัชนีหลักทรัพย์ขณะนี้ ยังไม่ได้รายงานการกระทำความผิดเพิ่มขึ้นจากช่วงปกติ แต่ ก.ล.ต.ประสานงานกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อติดตามพฤติกรรมซื้อขายที่ผิดปกติ หรือสุ่มเสี่ยงเป็นคดีทุจริต ทุก ๆ 2 สัปดาห์