SHARE

คัดลอกแล้ว

หนุ่มพิการสุดทนชกกระจกลิฟท์ BTS ประท้วง เหตุมีแต่ล็อคไม่ให้ใช้  (จากเว็บไซต์ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์)

คนพิการทุบลิฟต์” ฉะหน่วยงานรัฐ-ผู้บริหารบีทีเอส ไร้จิตสำนึกปล่อยปัญหาเรื้อรัง (จากเว็บไซต์หนังสิอพิมพ์โพสต์ทูเดย์)

หนุ่มพิการนั่งวีลแชร์ เจอลิฟต์บีทีเอสอโศกล็อก ใช้มือทุบกระจกจนแตก (จากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์มติชน)

นี่คือตัวอย่างข่าวดังกล่าวที่แต่ละสื่อรายงานตรงกันถึงเหตุชายพิการผู้หนึ่งที่ปฏิบัติการทุบลิฟท์โดยสาร ณ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส อโศก เพื่อแสดงการประท้วงเนื่องจากลิฟท์โดยสารที่มีอยู่ ณ สถานีรถไฟฟ้าใช้ไม่ได้จริง เพราะมีการล็อกลิฟท์เอาไว้ ทำให้เมื่อคนพิการจะมาใช้ต้องรอเจ้าหน้าที่มาเปิดให้บริการ

โดย “มานิตย์ อักษรพิมพ์” ผู้ก่อเหตุซึ่งเป็นนักรณรงค์เพื่อสิทธิคนพิการเปิดเผยว่า เป็นความผิดพลาดของการออกแบบ โดย BTS ที่บางสถานีแม้มีการติดตั้งลิฟท์ แต่ก็ไม่สามารถใช้ได้จริง บางแห่งเป็นลิฟท์แบบยาว ทะลุได้ทุกชั้น ทำให้ไม่สามารถควบคุมคนใช้บริการได้ เพราะอาจจะขึ้นไปถึงชั้นชานชาลาได้เลย ซึ่งแน่นอนว่ากระทบทั้งความปลอดภัยและการจำหน่ายตั๋ว ทำให้ต้องปิดล็อกลิฟท์ และเปิดเมื่อจำเป็นต้องใช้เท่านั้น แต่ลิฟท์ดังกล่าวมีไว้สำหรับบริการผู้พิการ เมื่อมีผู้พิการจะมาใช้บริการก็ต้องรอให้พนักงานมาเปิด บ้างต้องตากแดดตากฝนรอ เพราะเจ้าหน้าที่ก็มีจำนวนจำกัด

หากว่ากันเฉพาะเรื่องลิฟท์ จะเห็นว่ากว่าที่คนพิการจะสู้เพื่อให้สถานีบีทีเอสมีลิฟท์ทุกสถานีก็เป็นเรื่องยาก เพราะตอนสร้างมีลิฟท์เพียงบางสถานีเท่านั้น จนต้องไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้มีคำสั่งให้ BTS สร้างลิฟท์ให้ครบทุกสถานี โดยศาลมีคำสั่งในปี 2558 ให้ทำตามที่ถูกฟ้องให้แล้วเสร็จใน 1 ปี แต่จนแล้วจนรอดถึงปี 2559 ลิฟท์ก็ยังคงไม่เสร็จ จนคนพิการต้องไปเรียกร้องค่าเสียหายอีกครั้งที่ศาลแพ่ง จากการที่ไม่ทำตามคำสั่งศาล และจนถึงปัจจุบันก็ยังมีลิฟท์ที่ใช้ได้จริงไม่ครบทุกสถานี

เหมือนจะชนะ แต่ทุกอย่างก็เป็นเหมือนที่ผ่านๆ มาสำหรับคนพิการ คือ “มี … แต่ไม่จริง”  “เหมือนง่าย … แต่ไม่ง่าย” เพราะแม้จะมีลิฟท์เกือบทุกสถานี แต่คนพิการกลับต้องประสบพบเจอกับปัญหาการใช้ เช่นการล็อกลิฟท์ด้วยเหตุข้างต้น ลิฟท์บางแห่งเสียแล้วเสียอีก และลิฟท์บางแห่งถูกเบียดบังและใช้โดยคนปกติ

นี่คือลักษณะแบบไทยๆ ที่การอำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการเป็นเรื่องเพียงแค่ “ทำให้มี” แต่ใช้งานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ  หรือเรื่องว่า “มีพอเป็นพิธี” เราพยายามโปรโมทและสร้างความเชื่อที่ว่า เราเป็นเมืองที่เอื้อเฟื้อต่อคนพิการภายใต้คอนเซปท์ “อารยะสถาปัตย์” แต่เอาเข้าจริงเราก็แค่มี ส่วนใช้งานได้หรือไม่ได้เราไม่เคยติดตามผลหรือสนใจอย่างจริงจัง

หากยังนึกไม่ออก ให้นึกถึง “รถเมล์ชานต่ำ” ที่มีขอบเสมอกับฟุตบาท ที่เราพูดกันมาตลอดว่ามีความสำคัญกับคนพิการ ผู้สูงอายุ ที่จะสามารถขึ้นลงรถเมล์ได้โดยง่าย จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีประจำการอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แม้จะมีบ้างแต่ก็ยังนับว่าค่อนข้างน้อย

ที่สำคัญคือ ต่อให้มีรถเมล์ชานต่ำก็ใช้จริงไม่ได้อยู่ดี เพราะรถเมล์บ้านเราไม่ได้จอดแนบชิดฟุตบาท หากแต่จอดห่างฟุตบาท จอดซ้อนคันบ้าง จอดไม่ตรงป้ายบ้าง

มิพักต้องพูดถึง “รถเมล์ที่มีทางลาดอัตโนมัติ” เอื้อเฟื้อต่อคนนั่งวีลแชร์ให้ใช้บริการรถเมล์ได้ ที่วันนี้ก็ยังเป็นเพียงคำโฆษณา แม้จะมีการพูดถึงตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตั้งแต่มีการแข่งขันเอเชียนเกมส์ที่กรุงเทพปี 2541 หรือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และนำมาโชว์ แต่เมื่อการแข่งขันจบลง ทุกอย่างก็จบลงตามไปด้วย

บล็อกสำหรับคนพิการทางสายตา” ที่ติดตั้งตามฟุตบาทก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า เป็นการมีไปอย่างนั้น  ลองนึกสภาพฟุตบาทบ้านเราว่าเป็นอย่างไรบ้าง มีทั้งต้นไม้ ป้ายโฆษณา หลุมบ่อ เก้าอี้ และแทบทุกครั้งบล็อกนำทางเหล่านี้พาไปจนถึงสิ่งกีดขวางแล้วค่อยพาอ้อมในระยะกระชั้นชิด ซึ่งทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ทางสำหรับคนพิการน่าที่จะสะดวกและโล่งให้มากสุด

หากใครเคยไปถาม “คนตาบอด” จะได้รับคำตอบคล้ายๆ กันว่า ไม่ต้องมีบล็อกนำทางก็ได้ แค่เอาสิ่งกีดขวางออกไปจากทางเท้าเพื่อให้พวกเขาเดินได้โดยสะดวกก็พอแล้ว

ทางลาดชัน” สำหรับวีลแชร์หรือผู้ที่ปัญหาการเดินก็เช่นกัน ที่เดี๋ยวนี้แต่ละอาคารก็จะมีทางเช่นว่า แต่ใครกี่คนจะรู้กันว่าทางลาดชันในระดับใดมีความเหมาะสมกับการใช้งานได้จริง !!!

ทางลาดบางแห่งองศาชันเสียจนอย่าว่าแต่ผู้ใช้วีลแชร์จะมีแรงเข็นพาตัวเองขึ้นไปได้เลย  แม้แต่คนปกติที่เป็นผู้ดูแลก็ยังประสบความยากลำบากและหนักแรงที่จะผลักวีลแชร์ขึ้นทางลาดในระดับนั้น ทางลาดเช่นนี้จึงไม่ต่างจากการประดับตบแต่งเพื่อให้เห็นว่ามีอยู่ แต่ใช้การจริงไม่ได้เลย

มิใช่เพียงองค์ประกอบด้านโครงสร้างสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น แต่ในเชิงสถานภาพการทำงานก็เช่นกัน แม้เราจะมีข้อกำหนดทางกฎหมายว่าบริษัทต้องจ้างคนพิการทำงาน 1 คนต่อพนักงาน 100 คน เพื่อเปิดโอกาสให้คนพิการยืนบนลำแข้งของตัวเองได้และมีงานทำ

แต่ความเป็นจริงที่พบคือบางแห่งมีการจ้างงานคนพิการจริง แต่เป็นการจ้างเพื่อให้มาอยู่เฉยๆ จ้างโดยไม่ให้งานทำ เพื่อให้ครบตามกฎหมาย  ซึ่งเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และถึงขนาดที่บางแห่งก็ทำให้ครบๆ โดยการจ้างญาติพี่น้องที่เป็นคนพิการมาอยู่เฉยๆ คล้ายค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายโดยไม่หวังผลประโยชน์ใดๆ กลับมา

เหล่านี้คือเรื่องของสังคมไทยที่ทำเรืองต่างๆ ที่จำเป็นต้อง “มี” ให้เพียง “แค่มี” แต่ไม่สามารถ “ทำได้จริง” ซึ่งสุดท้ายก็อยู่ในสภาพ “มี … แต่ไม่จริง”

และไม่ใช่แค่เรื่อง “คนพิการ”  เรื่องประชาธิปไตยก็เช่นกัน  เมื่อไม่อาจฝืนกระแสโลกได้ เราก็ทำให้มีประชาธิปไตย แต่สุดท้ายก็ใช้ไม่ได้จริง เพราะรับมาเพียงรูปแบบเปลือกนอก แต่ไม่มีการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของประชาธิปไตย บ้างก็ทำให้อยู่ในลักษณะแคระแกร็น บ้างก็คอยตัดขาไม่ให้เติบโต และบ้างก็ทำให้เพียงสักแต่ว่ามีเท่านั้น ทั้งๆ ที่มัน “ไม่เคยมีอยู่จริง”

—–

บทความ โดย “อสรพิษ”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า