สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เผยยอดคืนสิทธิผู้ประกันตน มาตรา 39 เกือบ 400,000 คน
วันที่ 24 เม.ย.2562 นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานคืนสิทธิผู้ประกันตนมาตรา 39 ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2561 จนถึงวันที่ 19 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของคืนสิทธิ ผลปรากฎว่า ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่สิ้นสภาพจากระบบประกันสังคมได้กลับเข้าสู่ระบบแล้วจำนวน 384,086 คน จากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความต้องการของผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ให้ความสำคัญกับระบบประกันสังคมที่ช่วยดูแลและสร้างหลักประกันคุณภาพชีวิตที่ดีให้ ซึ่งเมื่อกลับเข้าสู่การเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ยังคงให้ความคุ้มครอง 6 กรณีเช่นเดิม คือ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตร และชราภาพ เพียงจ่ายเงินสมทบจำนวน 432 บาทต่อเดือน
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวย้ำว่า ขอให้ผู้ประกันตนที่กลับเข้าสู่ระบบแล้วคำนึงถึงสิทธิของตนเอง โดยให้ความสำคัญในการตรวจสอบการนำส่งเงินสมทบกับสำนักงานประกันสังคมอย่างสม่ำเสมอ และควรนำส่งเงินสมทบอย่างต่อเนื่อง หากขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน หรือภายในระยะเวลา 12 เดือน ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน จะสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนทันที ทั้งนี้ ผู้ประกันตนสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา/ ที่ท่านสะดวก หรือโทร.1506 (เจ้าหน้าที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th
สำหรับมาตรา 39 ตาม พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ระบุว่า
“ผู้ใดเคยเป็นผู้ประกันตนตาม มาตรา 33 โดยจ่ายเงินสมทบมาแล้ว ไม่น้อยกว่าสิบสองเดือน และต่อมาความเป็นผู้ประกันตนได้สิ้นสุดลงตาม มาตรา 38 (2) ถ้าผู้นั้น ประสงค์จะเป็นผู้ประกันตนต่อไป ให้แสดงความจำนงต่อสำนักงานตามระเบียบที่เลขาธิการ กำหนดภายในหกเดือนนับแต่วันสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน
จำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบที่ผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่ง ต้องส่งเข้ากองทุนตาม มาตรา 46 วรรคสอง ให้เป็นไปตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้โดยให้คำนึงถึงความเหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจในขณะนั้นด้วย ให้ผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่งนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเดือนละครั้ง ภายในวันที่ สิบห้าของเดือนถัดไป
ผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่งซึ่งไม่ส่งเงินสมทบหรือส่งไม่ครบจำนวนภายในเวลา ที่กำหนดตามวรรคสาม ต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละสองต่อเดือนของจำนวนเงินสมทบที่ยังมิได้นำส่งหรือของจำนวนเงินสมทบที่ยังขาดอยู่นับแต่วันถัดจากวันที่ต้องนำส่งเงินสมทบ สำหรับเศษ ของเดือนถ้าถึงสิบห้าวัน หรือกว่านั้นให้นับเป็นหนึ่งเดือน ถ้าน้อยกว่านั้นให้ปัดทิ้ง”
เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมเท่ากับบุคคลที่เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาก่อน เมื่อได้สิ้นสุดความเป็นลูกจ้างของบริษัทที่เราเป็นลูกจ้าง ก็ทำให้ความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สิ้นสุดตามไปด้วย แต่ทั้งนี้ หากเรายังมีความประสงค์จะรักษาสถานภาพการเป็นผู้ประกันตนต่อก็สามารถทำได้ ด้วยการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเอง เพราะทางประกันสังคมต้องการเปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิประโยชน์ใกล้เคียงกับ ตามนโยบายพื้นฐานที่ว่าด้วยการเฉลี่ยความสุขและทุกข์