คุณภาพอากาศในกรุงเทพฯและปริมณฑลยังย่ำแย่ ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐานหลายจุด ย้ำเตือนลดเวลาอยู่กลางแจ้ง หรือสวมหน้ากาก N95 ที่หาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ
สถานการณ์คุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล วันที่ 13 ม.ค. พบจุดอันตรายที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5 ) เกินค่ามาตรฐานในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ สูงสุด ที่ริมถนนดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) อยู่ที่ 172 ขณะที่ถนนลาดพร้าวและในพื้นที่แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง ยังคงมี PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานต่อเนื่องเช่นหลายวันที่ผ่านมา
แต่ทั้งนี้ สถานการณ์คุณภาพอากาศที่น่าเป็นห่วง อยู่ในพื้นที่ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ และที่ ต. นครปฐม อ.เมืองนครปฐม ค่าดัชนีคุณภาพอากาศสูงสุดอยู่ที่ 185
ล่าสุด กรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ประจำวันที่ 13 มกราคม 2562 พบว่า จากสภาพอุตุนิยมวิทยาที่อากาศในช่วงเช้า อากาศยังคงลอยตัวไม่ดี สภาพอากาศปิด มีเมฆเป็นส่วนมากและมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาหลายพื้นที่ ส่งผลทำให้สถานการณ์ PM2.5 พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในวันนี้ 13 มกราคม 2562 คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับ ‘เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ’ ปริมาณฝุ่นละอองเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดย
- พื้นที่ริมถนน โดยสถานีวัดคุณภาพอากาศแสดงผลค่าฝุ่นละออง PM2.5 โดยรวมอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ มีค่าเกินมาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) อยู่ 19 พื้นที่
- พื้นที่ทั่วไป (ห่างจากริมถนนสายหลัก) โดยรวมอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ มีค่าเกินมาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) อยู่ 17 พื้นที่
คาดการณ์ว่า คุณภาพอากาศในวันพรุ่งนี้ (14 ม.ค. 62) จะอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ และจากโมเดลพยากรณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงของวันที่ 13-14 มกราคม 2562 อากาศยังคงลอยตัวไม่ดี สภาพอากาศค่อนข้างปิด
ติดตามข้อมูลออนไลน์ http://aqicn.org/city/bangkok กรมควบคุมมลพิษ http://aqmthai.com/aqi.php กรุงเทพมหานคร http://bangkokairquality.com แอพพลิเคชั่น Air4Thai
สำหรับสถานการณ์คุณภาพอากาศที่ไม่ค่อยดีนักของกรุงเทพฯ และปริมณฑล เริ่มมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกินค่ามาตรฐานมาตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 20 ธ.ค. 2561 บางวันที่มีฝนตกลงมาชะล้างก็ทำให้คุณภาพอากาศกลับมาดีขึ้นบ้าง แต่จนถึงขณะนี้สถานการณ์คุณภาพอากาศในช่วงหน้าหนาว ที่อากาศปิด ลมนิ่งเช่นนี้ยังคงต้องติดตามเป็นรายวัน
ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ควรลดระยะเวลาในการทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5 ขณะอยู่กลางแจ้ง หากมีอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัว ดังต่อไปนี้ โรคทางเดินหายใจ, โรคเยื่อบุตาอักเสบ, โรคผิวหนัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด
สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง
- พักผ่อนอยู่ในบ้าน
- เตรียมยาให้พร้อม
- ใช้หน้ากากกันฝุ่น
- รีบพบแพทย์ หากมีอาการ
สำหรับประชาชนทั่วไป ควรลดระยะเวลาออกกำลังกาย หรือทำงานหนักกลางแจ้ง หมั่นสังเกตอาการหากเกิดอาการแสบคอ แน่นหน้าอก หายใจติดขัด รีบพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ
https://www.facebook.com/WorkpointNews/videos/393001081244079/