คุณภาพอากาศในพื้นที่กทม. บางจุดเริ่มกลับมาดีขึ้น หลังปฏิบัติการกำจัดฝุ่น PM 2.5 อย่างจริงจัง ขณะที่เขตปริมณฑล “นครปฐม-นนทบุรี-สมุทรปราการ” ยังน่าห่วง
สถานการณ์คุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล วันที่ 17 ม.ค. พบจุดอันตรายที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5 ) เกินค่ามาตรฐาน ในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน เวลา 06.00 น. คือที่ริมถนนลาดพร้าว เขตวังทองหลาง ดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 104 (AQI) , แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง อยู่ที่ 101 (AQI) ขณะที่ ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน ดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 114 (AQI)
อย่างไรก็ตาม หลายพื้นที่ที่เคยประสบปัญหาคุณภาพอากาศไม่ดีในช่วงหลายวันที่ผ่านมา วันนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น โดยเฉพาะแขวงดินแดง เขตดินแดง ดัชนีคุณภาพอากาศเวลา 06.00 น. อยู่ที่ 71 (AQI)
สำหรับปริมณฑลยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์คุณภาพอากาศ คือที่ ต.นครปฐม อ.เมืองนครปฐม ดัชนีคุณภาพอากาศ 118 (AQI), อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 114 (AQI) และ ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ อยู่ที่ 109 (AQI)
ขณะที่ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ที่ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อลดฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มาตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. ทำให้เกิดฝนตกลงมาบางพื้นที่ โดยวันนี้ นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงฯ ระบุว่า จะติดตามสภาพอากาศต่อไป หากสามารถปฏิบัติการได้จะมีการขึ้นบินทำฝนหลวงทันที
ติดตามข้อมูลออนไลน์ http://aqicn.org/city/bangkok กรมควบคุมมลพิษ http://aqmthai.com/aqi.php กรุงเทพมหานคร http://bangkokairquality.com แอพพลิเคชั่น Air4Thai
สำหรับสถานการณ์คุณภาพอากาศที่ไม่ค่อยดีนักของกรุงเทพฯ และปริมณฑล เริ่มมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกินค่ามาตรฐานมาตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 20 ธ.ค. 2561 บางวันที่มีฝนตกลงมาชะล้างก็ทำให้คุณภาพอากาศกลับมาดีขึ้นบ้าง แต่จนถึงขณะนี้สถานการณ์คุณภาพอากาศในช่วงหน้าหนาว ที่อากาศปิด ลมนิ่งเช่นนี้ยังคงต้องติดตามเป็นรายวัน
กรมควบคุมมลพิษ มีข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ควรลดระยะเวลาในการทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5 ขณะอยู่กลางแจ้ง หากมีอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัว ดังต่อไปนี้ โรคทางเดินหายใจ, โรคเยื่อบุตาอักเสบ, โรคผิวหนัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด
สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง
- พักผ่อนอยู่ในบ้าน
- เตรียมยาให้พร้อม
- ใช้หน้ากากกันฝุ่น
- รีบพบแพทย์ หากมีอาการ
สำหรับประชาชนทั่วไป ควรลดระยะเวลาออกกำลังกาย หรือทำงานหนักกลางแจ้ง หมั่นสังเกตอาการหากเกิดอาการแสบคอ แน่นหน้าอก หายใจติดขัด รีบพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ