หลังการนับคะแนนดิบเสร็จสิ้นลงในวันที่ 25 มีนาคม 2562 มีการทดลองคำนวนที่นั่งส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์กันขนานใหญ่ แม้จะมีประเด็นถกเถียงว่าใช้สูตรไหนจึงจะถูกต้องและพรรคใดต้องได้จำนวนส.ส.จากบัญชีรายชื่อเป็นจำนวนเท่าไหร่ แต่ค่อนข้างเป็นที่แน่นอนแล้วว่าเรากำลังจะได้ปริญญา ช่วยเกตุ คีรีรัตน์ หรือ “เม่น ไทยแลนด์” นักกีฬาเทเบิลเทนนิสทีมชาติ เจ้าของเหรียญเงินงานเอเชียนพาราเกมส์ มาเป็นว่าที่ส.ส.ผู้พิการรายแรกของประเทศไทยเข้ารัฐสภา ทีมข่าวเวิร์คพอยท์จึงมาพูดคุยกับเขากัน
https://www.facebook.com/WorkpointNews/videos/1660136664128932/
คุณเม่นไปแข่งขันกีฬามาหลายที่ มีที่ไหนที่มองว่าเป็นมิตรกับผู้พิการบ้างไหม?
“ของผมที่ไปมามีโซนยุโรป ผมมองว่าในแถบโซนนี้ เรื่องของการบริหารสาธารณะหรือดูแลคนพิการ ผมมองว่าเขาให้ความสำคัญมาก ทั้งรถและเส้นทางเอื้อให้คนพิการเดินทางด้วยตัวเองได้สะดวก บ้านเราต้องไปขึ้นโรงขึ้นศาลถึงจะได้รถเมล์ชานต่ำ แต่บ้านเขามีรถเมล์ชานต่ำมีิฟท์ขึ้นไป มีตัวยก ถนนหนทางก็เอื้อให้คนพิการปั่นรถเข็นไปไหนมาไหนได้สะดวก ผมเห็นลักษณะคนพิการในต่างประเทศจะหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส”
ตัวคุณเม่นเองพบอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวันบ้างไหม?
“โดยส่วนตัว ผมคิดว่าผมใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปรกติ ที่ผมเห็นว่าเป็นความต่างคือมุมมองของคน เขาเห็นว่าเราเป็นคนพิการ พอเป็นเรื่องของการเข้าทำงาน การใช้บริการสถานที่ ผมมองว่าเขาแทบจะไม่ให้ความสำคัญ แต่ในเรื่องเรียนหนังสือผมก็เรียนปกตินะ ตอนเด็กก็มีครูแซวว่าพิการ ผมก็โต้เถียงตามประสาเด็ก ๆ ว่าผมแปลกตรงไหนเนี่ย ผมแค่พิการร่างกายนิดเดียว ขาซ้ายเล็กกว่าข้างขวานิดนึง”
Nalin Arurotayanont
แล้วคนพิการคนอื่น ๆ พบอุปสรรคบ้างไหม? เราต้องทำอย่างไรจึงจะทำให้ชีวิตของผู้พิการดำเนินไปได้เหมือนทุกคน?
“จริง ๆ แล้วคนพิการก็มีความหลากหลายในความพิการ เช่นเรื่องร่างกาย ด้านขาด้านแขน ด้านตาด้านหู นี่คือความหลากหลายของการพิการเหมือนกัน คนพิการ จริง ๆ แล้วไม่ได้อยากที่จะเป็นภาระแล้วก็ไม่ได้เป็นภาระของสังคมเลย ตรงกันข้ามคนพิการทางกายอย่างเรา ๆ กลับส่งเสริมสังคมได้ ผมเชื่อว่าคนพิการมีศักยภาพไม่แตกต่างจากคนปกติ แต่ว่าในเรื่องของความช่วยเหลือการดูแลมันก็ต้องมีผู้ช่วยเหลือดูแลตามลักษณะของความพิการ เช่น ต้องมีอักษรเบรลล์ให้คนตาบอด พิการหูก็ต้องมีภาษามือ ถ้าคนพิการคนนั้นนั่งรถเข็น เขาก็จำเป็นต้องดำเนินชีวิต ต้องใช้ชีวิตเหมือนกัน ถ้ารถเข็นไปได้ก็แปลว่าคนอย่างเรา ๆ ไปได้เหมือนกัน”
ก็คือต้องช่วยเหลือให้เขาใช้ชีวิตได้ แล้วเขาก็จะเหมือนเราทุกคน?
“เวลาพูดกับคนพิการ ผมก็พยายามพูดให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมในเรื่องของความเป็นคนมากที่สุด เพราะผมเชื่อว่าคุณก็หนึ่งคนผมก็หนึ่งคน คนพิการก็คือหนึ่งสิทธิเหมือนกันนี่คือพื้นฐาน แต่ว่าในส่วนมากของคนพิการจะมองไปในเรื่องของสวัสดิการหรืออะไรที่เขาควรจะได้รับ แต่ผมมองว่าถ้าเราเชื่อว่าคนเท่ากันแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง แนวนโยบายของพรรคการเมือง การดูแลของภาครัฐก็จะดูแลอย่างคนเหมือนกัน นี่คือประเด็นพื้นฐานของความเป็นคน ส่วนในเรื่องของนโยบาย เรื่องของการออกแบบเพื่อทุกคน(Universal Design) การศึกษา การมีอาชีพ ตรงนั้นก็จะพรั่งพรูออกมาจากความเท่าเทียมกัน”
คุณเม่นคิดว่าทำไมคนพิการต้องมีตัวแทนเป็นคนพิการในสภา?
“ทั้งการรับฟัง ทั้งการให้โอกาสของสังคมปัจจุบันในบ้านเรา ผมไม่รู้ว่าเขามองเห็นว่าในสังคมนี้มีคนพิการ คนหลากหลายทางเพศ มีชนเผ่าอยู่ไหม ถ้าถามว่า (ส.ส.ที่เป็นคนพิการ) จำเป็นไหมผมมองว่าเป็นความจำเป็นมากๆ เพราะว่าคนพิการเองเห็นความเป็นอยู่ของคนพิการเอง ได้รับผลกระทบจากสังคมด้วยตนเอง พร้อมที่จะนำเสนอประเด็นปัญหาประเด็นความต้องการของเหล่าคนพิการด้วยตนเอง ผมมองว่ามันจะมีความหนักแน่นได้รับรับรู้ถึงความเป็นจริงของคนพิการจริง ๆ”
Nalin Arurotayanont
อยากให้ยกตัวอย่างนโยบายหรือกรณีที่คนพิการยังรู้สึกว่าถูกปิดกั้นอยู่?
“ที่เห็นภาพชัดอยู่คือที่เขาฟ้องศาลกัน จำเป็นไหมต้องถึงกับฟ้องศาลว่าต้องมีรถเมลล์ชานต่ำนะ เพื่อให้คนพิการใช้การได้ ในทางกลับกันถ้าคุณใช้รถเมล์ชานต่ำคนปกติอย่างคุณก็ใช้ได้ ผมก็ใช้ได้ใช้ได้กันไปหมดเลย นี่คือเรื่องความเท่าเทียมของการเดินทาง การใช้ชีวิต เพื่อนำไปสู่โอกาสที่ดีของแต่ละบุคคล หรือผมเป็นนักกีฬา ค่าเหรียญเหมือนที่ผมบอกของคนปกติได้ 100% ของคนพิการได้แค่ครึ่งหนึ่ง ซึ่งผมถามว่าถ้าจะให้เท่ากันมันดีไหม หรือมันเสียหายตรงไหนบ้าง”
เมื่อเข้าไปในสภาแล้ว นโยบายหลักที่จะผลักดันก่อนคืออะไร? ทำไม?
“ประเด็นหลักในการอยู่ร่วมกันของคนไทยนี่ ความเท่าเทียมจะเกิดข้นได้ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย์เท่านั้น ในการอยู่ร่วมกันแบบอื่นมันเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นการผลักดันขั้นต้นก็จะเหมือนที่พรรคอนาคตใหม่ได้ำเสนอไปแล้วว่าเราจำเป็นต้องต่อต้านการสืบทอดอำนาจก่อนในเบื้องต้น แล้วหลังจากเรื่องนี้ผ่านไปแล้วเราก็จะเป็นต้องผลักดันนโยบายของพรรค เริ่มตั้งแต่ 3 ฐานราก 8 เสาหลักและปักธงประชาธิปไตย”
แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง จะช่วยคนพิการได้อย่างไร?
“คนพิการก็มีหนึ่งสิทธิเหมือนกัน เมื่อปล้นสิทธิของเราแล้วเขาก็ไปเขียนกติกาที่ไม่ตอบโจทย์สิทธิของเราอีก นอกจากนี้ผมเคยนำเสนอว่าประชาธิปไตยกับมาตรา 279 ที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เขียนไว้มันไม่สอดคล้องกัน การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็คือการแก้ไขเพื่อคืนสิทธิให้ทั้งคนพิการและคนไม่พิการมีความเท่าเทียมกัน เสมอภาคกัน นี่คือประเด็นพื้นฐานของความเป็นคน นโยบายอื่น ๆ ที่จะส่งเสริมความเท่าเทียมของคนพิการก็จะเริ่มมาจากความเท่าเทียมกันนี้อีกที”
Nalin Arurotayanont
“เม่น ไทยแลนด์ ” เป็นชาวเมืองตรังอายุ 43 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาโทจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลับรามคำแหง ก่อนหน้านี้ประกอบอาชีพเกษตรกรเพาะปลูกกล้าต้นยางพารา ก่อนผันตัวมาเป็นนักกีฬาเทเบิลเทนิสเมื่ออายุ 30 ปี แข่งขันในระดับทีมชาติจนได้ผลงานสูงสุดเป็นเหรียญเงินจากการแข่งขันเทเบิลเทนนิสในเอเชียนพาราเกมส์ที่อินโดนีเซียเมื่อปีที่ผ่านมา ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานี้เขายังสร้างความมีส่วนร่วมในชุมชนผู้พิการ โดยรับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานผู้พิการประจำอำเภอ และดูแลนักกีฬาผู้พิการระดับจังหวัด
ก่อนหน้านี้เราเคยเขียนเกี่ยวกับเขาที่ ว่าที่ส.ส.ผู้พิการอนาคตใหม่ลั่น อุดมการณ์ตีค่าเป็นเงินไม่ได้