การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ชิ้นหนึ่งได้ประเมินน้ำหนักของ “คาร์บอน” ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักในสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั่วโลกเอาไว้ และพบว่ามนุษย์บนโลกมีน้ำหนักรวมกัน 60 ล้านตันคาร์บอน หรือคิดเป็นประมาณ 7% ของน้ำหนักสัตว์มีกระดูกสันหลังทั้งหมด แต่ถ้านับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทั้งหมดด้วย ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย รา ต้นไม้ ฯลฯ พบว่ามนุษย์มีน้ำหนักรวมไม่ถึง 1% ของสิ่งมีชีวิตบนโลกเท่านั้น
งานศึกษาเรื่อง “The biomass distribution on Earth” ได้ประเมินน้ำหนักของ “คาร์บอน” ซึ่งถือเป็นส่วนประกอบหลักของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั่วโลกเอาไว้ ว่าสิ่งมีชีวิตประเภทต่างๆ บนโลกนั้นมีน้ำหนักของคาร์บอนรวมกันเท่าไหร่ เพื่อที่จะได้เห็นภาพว่าธาตุประกอบของสิ่งมีชีวิตนั้น อยู่ในสิ่งมีชีวิตแบบไหนเยอะที่สุดกันแน่
โดยอันดับหนึ่งนั้นคือ ต้นไม้ ซึ่งมีน้ำหนักของคาร์บอนรวมกันทั่วโลกกว่า 450,000 ล้านตันคาร์บอน รองลงมาคือแบคทีเรีย 70,000 ล้านตันคาร์บอน อันดับ 3 คือ รา 12,000 ล้านตันคาร์บอน ส่วน “สัตว์” ทุกประเภทในโลกนั้น มีน้ำหนักรวมกันเพียง 2,000 ล้านตันคาร์บอนเท่านั้น
และเมื่อแยกดูเฉพาะกลุ่ม “สัตว์มีกระดูกสันหลัง” พบว่าในกลุ่มนี้ ปลามีน้ำหนักรวมมากที่สุดที่ 700 ล้านตันคาร์บอน รองลงมาคือปศุสัตว์ที่มนุษย์เลี้ยง 100 ล้านตันคาร์บอน ส่วนมนุษย์ทุกคนบนโลกมีน้ำหนักรวมกัน 60 ล้านตันคาร์บอน ในขณะที่สัตว์ป่าทุกประเภททั้งสัตว์บกและนกตามธรรมชาติ มีน้ำหนักรวมกัน 9 ล้านตันคาร์บอน
ฉะนั้นแล้ว เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนแล้ว เฉพาะในกลุ่มสัตว์มีกระดูกสันหลัง มนุษย์มีน้ำหนักคาร์บอนคิดเป็น 7% ของสัตว์มีกระดูกสันหลังทั้งหมด แต่ถ้านับรวมสิ่งมีชีวิตทุกประเภท มนุษย์มีน้ำหนักคาร์บอนรวมเพียงประมาณ 0.01% เท่านั้น ดังนั้นแล้วในทางฟิสิกส์ มนุษย์คงจะไม่ได้หนักแผ่นดินโลกเท่าใดนัก
ที่มา https://www.pnas.org/content/115/25/6506