SHARE

คัดลอกแล้ว

ปัจจุบันมีอย่างน้อย 53 ประเทศทั่วโลกที่ห้ามการใช้พาราควอตแล้ว แต่สำหรับประเทศไทย พาราควอตยังคงไม่ถูกแบน

วันนี้ทีมข่าวเวิร์คพอยท์จึงอยากพาผู้อ่านไปสำรวจดูว่า พาราควอตเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง ทำไมประเทศต่างๆ จึงยกเลิกการใช้สารเคมีชนิดนี้แล้ว

ปี 2560 ไทยนำเข้าพาราควอต 44,500 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,800 ล้านบาท โดยปริมาณที่นำเข้าเพิ่มขึ้นกว่า 40% จากปี 2559 ที่นำเข้ามา 31,500 ตัน

พาราควอตเป็นสารกำจัดวัชพืชที่มีฤทธิ์เฉียบพลันสูง ทำให้วัชพืชแห้งตายได้ภายในเวลา 1-2 ชั่วโมง และยังสามารถเข้าสู่ร่างกายได้จากการสัมผัสหรือหายใจ ศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษนี้ทางผิวหนังมีอัตราเสียชีวิตถึง 10.2%

ปัจจุบันมีอย่างน้อย 53 ประเทศทั่วโลกที่ยกเลิกการใช้พาราควอตแล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่ได้แบนสารอันตรายชนิดนี้ ในทางตรงกันข้ามพาราควอตกลับเป็นสารกำจัดศัตรูพืชที่มีมูลค่านำเข้าสูงสุดของไทย

อ้างอิง www.doa.go.th/ard/index.php?option=com_content&view=article&id=22%3Astat2535&catid=29%3Astat&Itemid=104

รายงานของสหภาพยุโรประบุว่า แม้เกษตรกรจะสวมอุปกรณ์ป้องกันอย่างมิดชิดแล้วในขณะที่ฉีดพ่นพาราควอต แต่ก็ยังมีโอกาสจะสัมผัสสารเคมีสูงเกินค่ามาตรฐานถึง 60 เท่า

พาราควอตสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ทั้งโดยการสัมผัสและการหายใจ ทำให้เกิดแผลบนผิวหนัง เนื้อเน่า และส่งผลกระทบต่อระบบประสาท รายงานของสหภาพยุโรป (goo.gl/3Bwxi7) ระบุว่าการฉีดพ่นพาราควอตโดยใช้เครื่องพ่นแบบสะพายหลัง เกษตรกรมีโอกาสสัมผัสสารเคมีสูงเกินค่ามาตรฐานถึง 60 เท่า แม้จะสวมอุปกรณ์ป้องกันอย่างมิดชิดแล้ว ส่วนในกรณีที่ใช้รถแทรกเตอร์ฉีดพ่น เกษตรกรมีโอกาสสัมผัสสารเคมีสูงเกินค่ามาตรฐาน 40 เท่า

ดังนั้น การกล่าวอ้างว่าเกษตรกรไทยได้รับสารเคมีในปริมาณมากจนก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพเพราะฉีดพ่นสารเคมีแบบไม่ถูกต้องและไม่สวมอุปกรณ์ป้องกันตนเอง จึงเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่เป็นความจริง

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559 – ก.ค. 2561) คนไทยเสียชีวิตเพราะสารกำจัดศัตรูพืชอย่างน้อย 1,715 คน และป่วยปีละกว่า 5,000 คน โดยตัวเลขดังกล่าวนับเฉพาะกลุ่มผู้ที่ได้รับสารเคมีทางตรง ยังไม่รวมกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากสารตกค้างในสิ่งแวดล้อม

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่าปี 2559 มีผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษจากยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้าฆ่าเชื้อรา และสารเคมีอื่นๆ เข้ารับการรักษาทั้งหมด 4,924 คน เสียชีวิตระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล 613 คน ส่วนในปี 2560 มีผู้ป่วย 4,983 คน เสียชีวิต 582 คน และปี 2561 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาแล้วอย่างน้อย 4,001 คน เสียชีวิต 520 คน

จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเหล่านี้สะท้อนถึงอันตรายจากสารกำจัดศัตรูพืชที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่ได้รับสารเคมีทางตรง แต่นอกจากความเจ็บป่วยอย่างรุนแรงในระยะสั้นที่เห็นได้แล้ว สารเคมีตกค้างยังอาจสร้างผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาวซึ่งยังไม่เคยมีการประเมินอย่างชัดเจนอีกด้วย

นอกจากมีพิษเฉียบพลันสูงแล้ว พาราควอตยังมีพิษในระยะยาว ส่งผลกระทบต่อระบบประสาท ทำให้ระบบประสาทตอบสนองช้าลง และเป็นสาเหตุของอาการป่วยทางสมอง เช่น โรคพาร์กินสัน โรคสมองเสื่อม ฯลฯ

งานศึกษาเชิงระบาดวิทยาในสหรัฐอเมริกาพบว่า การสัมผัสพาราควอตเพิ่มความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน โดยอาชีพที่ต้องใช้สารกำจัดศัตรูพืชจะมีความเสี่ยงสูงถึง 80% [1] สอดคล้องกับงานวิจัยจำนวนมากในอีกหลายประเทศ รวมถึงงานวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ที่พบว่า พาราควอตส่งผลให้สัตว์ทดลองเคลื่อนไหวผิดปกติ [2]

อ้างอิง
[1] www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/19752299
[2] www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/15110077

งานวิจัยของ ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าพาราควอตที่สะสมในร่างกายของแม่สามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกในท้องได้

การศึกษาวิจัยดังกล่าวได้ทำการสุ่มตัวอย่างหญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่การเกษตรที่มีการฉีดพ่นสารเคมีบริเวณ จ.นครสวรรค์ จ.อำนาจเจริญ และ จ.กาญจนบุรี พบว่ามีการตกค้างของพาราควอตในซีรั่มมารดา (ของเหลวในเลือด) และสายสะดือทารก 17-20% ของกลุ่มตัวอย่าง และยังพบพาราควอตในอุจจาระของทารกแรกเกิดกว่า 50% โดยผู้หญิงที่ขุดดินระหว่างตั้งครรภ์มีความเสี่ยงจะตรวจพบพาราควอตมากกว่าผู้หญิงที่ไม่ได้ขุดดินถึง 6 เท่า

ผลจากศึกษาวิจัยนี้จึงเป็นข้อยืนยันว่า พาราควอตที่สะสมในร่างกายของแม่สามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกในท้องได้ด้วย

อ้างอิง www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/28422580

พาราควอตดูดซับในดินได้ดีจึงสามารถตกค้างและสะสมในสิ่งแวดล้อม ทำให้พืชผักอาจดูดซึมสารเคมีจากดินและน้ำเข้าสู่ลำต้น รวมทั้งสัตว์และคนก็อาจได้รับสารเคมีที่ปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายด้วยเช่นกัน

ข้อมูลจากรายงานวิจัยเชิงบูรณาการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพหน่วยงานท้องถิ่นในการจัดการและป้องกันการปนเปื้อนของสารพิษบนพื้นที่ต้นน้ำน่าน ของมหาวิทยาลัยนเรศวรระบุว่า พบการปนเปื้อนของพาราควอตเกินค่ามาตรฐานทั้งในแหล่งน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน ผัก และปลาที่จับจากแม่น้ำน่าน

โดยคณะวิจัยได้สุ่มตรวจตัวอย่างและพบการปนเปื้อนสารอันตรายดังกล่าวในแหล่งน้ำผิวดิน 64 ตัวอย่าง (จาก 65 ตัวอย่าง) ในแหล่งน้ำใต้ดิน 13 ตัวอย่าง (จาก 15 ตัวอย่าง) ในผักทั้งหมด 45 ตัวอย่าง และในปลาทั้งหมด 19 ตัวอย่าง ทั้งยังพบอีกว่าในฤดูเก็บเกี่ยวน้ำผิวดินมีค่าเฉลี่ยของสารเคมีปนเปื้อนสูงกว่าฤดูเพาะปลูก ซึ่งค่าเฉลี่ยที่สูงขึ้นอาจเกิดจากการสะสมของสารตกค้าง

เกษตรกรสามารถใช้สารชนิดอื่นแทนพาราควอตได้ เช่น กรณีสวนยางหรือปาล์ม กรมวิชาการเกษตรแนะนำให้ใช้กลูโฟซิเนต-แอมโมเนียมในต้นยางหรือปาล์มที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปี หลังจากนั้นเมื่อต้นโตจนมีร่มเงาแล้ว ปัญหาวัชพืชจะลดลง แต่กลูโฟซิเนต-แอมโมเนียมก็มีราคาสูงกว่าพาราควอต 4-5 เท่า ทั้งยังไม่มีการศึกษาถึงอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของสารเคมีชนิดนี้อย่างชัดเจน

ส่วนในกรณีไร่ข้าวโพด อ้อย และมันสำปะหลัง ก็มีสารกำจัดวัชพืชอื่นๆ ที่ใช้ทดแทนได้หลายชนิด นอกจากนั้นเกษตรกรอาจใช้วิธีการไถกลบและปลูกพืชคลุมดินร่วมด้วย ซึ่งจะทำให้ควบคุมการงอกของวัชพืชได้นานขึ้น

ฟังเพิ่มเติม: www.facebook.com/WorkpointNews/videos/346420116098649

ปัจจุบันมีอย่างน้อย 53 ประเทศทั่วโลกที่ห้ามการใช้พาราควอตแล้ว แต่สำหรับประเทศไทย พาราควอตยังคงไม่ถูกแบน แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะได้เสนอให้รัฐบาลไม่ต่อทะเบียนสารเคมีดังกล่าวมาตั้งแต่เดือน เม.ย. 60 เพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

โดยเมื่อปลายเดือน พ.ค. 61 คณะกรรมการวัตถุอันตรายลงมติ “ไม่แบน” พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ทำให้หลายฝ่ายออกมาทักท้วงมติดังกล่าว เพราะสารเคมีทั้ง 3 ชนิดเป็นอันตรายต่อร่างกายและถูกห้ามใช้แล้วในหลายประเทศ จนในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุดเพื่อพิจารณา

และล่าสุดเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการชุดใหม่มีมติให้จัดตั้งอนุกรรมการฯ ขึ้นมาอีกชุดหนึ่งเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสารอันตรายทั้ง 3 ชนิด แต่จนทุกวันนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุป

ติดตามข่าวที่น่าสนใจได้ที่ workpointnews.com

Facebook / facebook.com/WorkpointNews/

Instagram / instagram.com/workpointnews/

Twitter / twitter.com/WorkpointShorts

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า