ประเด็นคือ – หลังจากชาวโซเชียลแห่วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม กรณีนักท่องเที่ยวโพสต์ท่าถ่ายรูปนั่งบนปะการัง หมู่เกาะสุรินทร์ ล่าสุดถูกจับแล้ว รับโทษถูกปรับ 1,500 บาท/คน
หลังจากมีผู้โพสต์ภาพนักท่องเที่ยวที่ไปดำน้ำ ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ที่จุดดำน้ำแหลมแม่ยาย แล้วนักท่องเที่ยวได้ดำน้ำไปนั่งบนปะการังและแอ็กชั่นถ่ายรูป โดยไม่สนใจว่าปะการังจะเสียหายหรือไม่ จนมีผู้นำภาพดังกล่าวไปโพสต์บนโลกโซเชียลในเฟซบุ๊ก และมีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ถึงความไม่เหมาะสมจากการกระทำดังกล่าว พร้อมกับขอให้ทางเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ เร่งหาตัวนักท่องเที่ยวคนดังกล่าว เพื่อเอาผิดจากการกระทำดังกล่าว เนื่องจากจุดชมวิวแหลมแม่ยาย เป็นจุดดำน้ำที่มีปะการังสวยงามหลายชนิด เป็นที่อยู่อาศัยของปลานีโมอีกหลายสายพันธ์ุ ทั้งยังเป็นอีกจุดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวหมู่เกาะสุรินทร์จะต้องมาดำน้ำดูปะการังที่นี่
ล่าสุด วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพุทธพจน์ คูประสิทธิ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ได้สั่งการให้ชุดปฏิบัติการใต้น้ำ ประจำอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ลงพื้นที่โดยทันที พร้อมชุดปฏิบัติการ จนพบนักท่องเที่ยวคนดังกล่าวและเพื่อน รวมจำนวน 3 คน ได้แก่
- นายธารารัฏฐ์ เธียรพจีกุล อายุ 30 ปี
- น.ส.รินตา เปรมศรี อายุ 37 ปี
- น.ส.สุวรักษ์ เวธน์พุฒิพร อายุ 34 ปี
จากนั้นจึงได้เชิญตัวมาแจ้งข้อหา โพสต์ภาพถ่ายขณะนั่งอยู่บนปะการัง ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ตามมาตรา 16(2) ฐานทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตราย หรือทำให้เสื่อมสภาพแก่ทรัพยากรธรรมชาติ ประกอบมาตรา 26 มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท และผิดตามมาตรา 18 ฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ประกอบมาตรา 25 มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
โดยเจ้าหน้าที่อุทยานได้ทำการบันทึกและเปรียบเทียบปรับนักท่องเที่ยวจำนวน 3 คน รายละ 1,500 บาท พร้อมทั้งมีการสร้างความเข้าใจ ตักเตือนแก่นักท่องเที่ยว ให้ทราบถึงกฏระเบียบในการเข้ามาท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ
ต่อมาผู้ใช้เฟซบุ๊กคนดังกล่าวได้ออกมาโพสต์ข้อความขอโทษต่อสังคม พร้อมกล่าวแสดงความเสียใจด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ตนและเพื่อนๆ รู้สึกผิดที่กระทำการแบบนั้น
นายพุทธพจน์ คูประสิทธิ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มักจะมีปัญหาการลักลอบเข้าไปดำน้ำทำลายปะการัง จากฝีมือของนักท่องเที่ยวบางรายเป็นประจำ แม้จะมีการประชาสัมพันธ์ ป้ายข้อความ หรือแม้แต่จัดเจ้าหน้าที่คอยดูแล เพื่อไม่ให้มีการดำน้ำทำลายปะการังอย่างผิดวิธี แต่ก็มีนักท่องเที่ยวที่ไม่ปฏิบัติตาม และเล็ดลอดสายตาเจ้าหน้าที่ไปได้