Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

หลังจากที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญสำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พรป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา การนับถอยหลังเพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้งก็เริ่มต้นขึ้น โดยถือเป็นครั้งแรกที่จะได้มีการนำระบบเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” มาใช้

นอกจากระบบใหม่นี้จะแตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งก่อน ตรงที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งสามารถกาบัตรเลือกตั้งได้เพียงใบเดียวแล้ว วิธีการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ ก็แตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งก่อนด้วย

เพื่อลองประเมินว่ากลไกการเลือกตั้งแบบใหม่นี้อาจส่งผลต่อผลการเลือกตั้งสุดท้ายมากแค่ไหน ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ได้นำข้อมูลตัวเลขผลการเลือกตั้งจริงทั่วประเทศในปี 2554 มาวิเคราะห์  เพื่อดูว่าหากผลการเลือกตั้ง “ส.ส. แบบแบ่งเขต” เป็นเช่นเดิมเหมือนปี 2554  ถ้าใช้กลไกรัฐธรรมนูญ 2560 ในการคำนวณ “ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ” ผลการเลือกตั้งจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ทั้งนี้ การจำลองการเลือกตั้งดังกล่าวนี้ทำขึ้นบนสมมติฐาน 2 ข้อคือ หนึ่ง พฤติกรรมการตัดสินใจกาบัตรเลือกตั้งของผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั่วประเทศไม่เปลี่ยนแปลง และสอง กำหนดให้จำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขต ยังคงเท่ากับ 375 ที่นั่ง และจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ยังคงเป็น 125 ที่นั่งตามเดิม เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการคำนวณ โดยใช้กลไกแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาคิดแทน

.

ย้อนดูผลการเลือกตั้งปี 2554

ในการเลือกตั้งปี 2554 ซึ่งยังเป็นระบบการบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ นั่นคือใบหนึ่งกาเพื่อเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขต หรือ “เลือกคน”  ส่วนอีกใบหนึ่งกาเพื่อ “เลือกพรรค” และนำคะแนนในส่วนหลังนี้ไปคำนวณจัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อ  ผลการเลือกตั้งในครั้งนั้น ปรากฏว่ามีทั้งสิ้น 11 พรรคการเมือง ที่ได้ ส.ส. เข้าไปทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้
.

.

คำนวณใหม่ ด้วยระบบจัดสรรปันส่วนผสม

เพื่อจำลองดูว่าระบบเลือกตั้งแบบนี้ส่งผลต่อผลลัพธ์สุดท้ายของการเลือกตั้งอย่างไร ทางทีมข่าวเวิร์คพอยท์ได้ดึงข้อมูล ผลการเลือกตั้ง “ส.ส. แบบแบ่งเขต” ปี 54 ของจริง (https://goo.gl/JfojGh) ซึ่งมีข้อมูลคะแนนของ “ผู้สมัครทุกคน ของทุกพรรค ในทุกเขตเลือกตั้ง” มาคำนวณ  โดยได้ตัดคะแนนโหวตในส่วนบัตรเลือกตั้งใบที่สอง หรือของปาร์ตี้ลิสต์ออกทั้งหมด เนื่องจากในระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งสามารถกาบัตรเลือกตั้งได้ใบเดียว นั่นคือกาเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขต โดยระบบจะนำคะแนนโหวต ส.ส. เขต ดังกล่าวไปคำนวณเพื่อจัดสรร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อด้วย

โดยผลรวมคะแนนการเลือกตั้ง “ส.ส. แบบแบ่งเขต” ของทุกพรรค (ในทุกเขตเลือกตั้ง และของผู้สมัครทุกคน) เป็นดังต่อไปนี้

ทั้งนี้โดยรวมทั้งประเทศแล้ว มีคะแนนโหวต ส.ส. เขต ของทุกพรรค ทุกเขต ทั้งสิ้น 31,760,760 เสียง พรรคที่ได้คะแนนโหวตรวม ส.ส. เขตทั่งประเทศมากที่สุดคือ พรรคเพื่อไทย ประมาณ 14.2 ล้านเสียง อันดับสองคือพรรคประชาธิปัตย์ 10.1 ล้านเสียง และอันดับ 3 คือพรรคภูมิใจไทย ประมาณ 3.5 ล้านเสียง  ในขณะที่บางพรรคที่ไม่ส่งผู้สมัคร ส.ส. เขตเลย ก็จะไม่มีคะแนนในส่วนนี้ เช่น พรรครักประเทศไทย เป็นต้น

จากตัวเลขผลโหวตดังกล่าว เราสามารถคำนวณหา “คะแนนโหวตที่ควรจะมีเพื่อให้ได้ ส.ส. 1 คน” ได้ โดยการนำ “คะแนนโหวตรวมของทุกพรรค” นั่นคือ 31,760,760  หารด้วยจำนวน ส.ส. ทั้งสภา นั่นคือ 500 คน จะได้เท่ากับประมาณ 63,521 คะแนน

ตัวเลขนี้หมายความว่า ทุกคะแนนโหวต 63,521 เสียง สมควรที่จะถูกแปลงเป็น ส.ส. 1 คนในสภา

เมื่อได้ตัวเลขดังกล่าวมาแล้ว ต่อไปก็จะสามารถคำนวณได้ว่า แต่ละพรรค “พึงมี ส.ส. ในสภา” ได้ทั้งสิ้นกี่คน โดยการนำคะแนนโหวตที่แต่ละพรรคได้รับทั้งหมด หารด้วย 63,521 ซึ่งเราคำนวณได้ก่อนหน้านี้  ผลลัพธ์เป็นดังต่อไปนี้

ผลจากการคำนวณ ปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยได้ตัวเลขสูงสุดที่ 224.69  นั่นแปลว่าพรรคเพื่อไทย ควรจะมี ส.ส. ในสภา 224 ที่นั่ง (ปัดจุดทศนิยมทิ้ง) พรรคประชาธิปัตย์รองลงมา 159 ที่นั่ง พรรคภูมิไทยใจ 55 ที่นั่ง ฯลฯ

คราวนี้ตามกลไกระบบจัดสรรปันส่วนผสม แต่ละพรรคจะได้รับการจะจัดสรร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อเท่าใด ต้องนำจำนวน ส.ส. เขต ที่พรรคนั้นๆ ได้มาคำนวณด้วย โดยมีกฎการจัดสรรดังนี้คือ

ถ้าพรรคใดมี “ส.ส. เขต” มากกว่าหรือเท่ากับ “ส.ส. ที่พึงมี” พรรคนั้นจะไม่ได้รับการจัดสรร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่ออีก
ถ้าพรรคใดมี “ส.ส. เขต” น้อยกว่า “ส.ส. ที่พึงมี” ให้จัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อเพิ่มให้พรรคนั้นๆ จนมีจำนวน ส.ส. รวม “เท่ากับ” จำนวน ส.ส. ที่พึงมี

และเมื่อจัดสรรตามนี้แล้วยังมีเศษเหลือ ให้พรรคที่มีเศษคะแนนโหวตมากที่สุด ได้รับ ส.ส. เพิ่มไปอีกตามลำดับ

ตามกฎดังกล่าวนี้ เราสามารถจัดสรร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ให้กับพรรคการเมืองต่างๆ ได้ดังนี้

ทั้งนี้การจัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อจะแบ่งเป็น 2 รอบ คือรอบแรก และรอบเศษ

โดยในรอบแรก พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการจัดสรร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อมากที่สุด นั่นคือ 44 ที่นั่ง (159-115 = 44) รองลงมาคือพรรคภูมิใจไทย 26 ที่นั่ง (55-29 = 26) และพรรคเพื่อไทย 20 ที่นั่ง

ทั้งนี้ขอให้สังเกตว่า พรรคพลังชลไม่ได้รับการจัดสรร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีก เนื่องจากมี ส.ส. แบบแบ่งเขต (6 คน) มากกว่าจำนวน ส.ส. ที่พึงมี (3 คน) แล้ว

และเมื่อจัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อรอบแรกจนทุกพรรคการเมือง มี ส.ส. เท่ากับจำนวน ส.ส. ที่พึงมีแล้ว ปรากฏว่ายังเหลือ ส.ส. อีก 5 ที่นั่งที่ไม่ได้รับการจัดสรร ซึ่งในส่วนนี้จะถูกนำมาจัดสรรในรอบเศษ ผลปรากฏว่าพรรคที่มีเศษเหลือมากที่สุดได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน พรรคมาตุภูมิ และพรรคกิจสังคม  ทั้ง 5 พรรคเหล่านี้จึงได้รับการจัดสรร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกพรรคละ 1 คน

เมื่อจัดสรรเสร็จตามกระบวนการ เราก็จะได้จำนวน ส.ส. ของแต่ละพรรคใหม่ ตามตารางช่องขวาสุด โดยพรรคไทยรักไทยยังคงมีจำนวน ส.ส. ในสภามากที่สุดที่ 225 ที่นั่ง
.

เปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้งจริงปี 2554

เมื่อเราได้จำนวน ส.ส. ทั้งหมดจากการจัดสรรตามระบบใหม่นี้แล้ว ก็สามารถนำตัวเลขดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้งจริงในปี 2554 ได้ เพื่อดูว่า “กลไกการเลือกตั้ง” ที่เปลี่ยนไปนี้ ส่งผลให้ “ผลการเลือกตั้ง” เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง พรรคไหนได้ ส.ส. เพิ่มขึ้น พรรคไหนได้ ส.ส. น้อยลงเท่าไหร่ โดยผลลัพธ์จากการเปรียบเทียบเป็นดังนี้

จากตารางเห็นได้ว่าพรรคเพื่อไทยจะสูญเสียที่นั่งในสภาไปมากที่สุด โดยลดลงถึง 40 ที่นั่ง จากในระบบเดิมที่เคยได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อถึง 61 ที่นั่ง แต่ในระบบใหม่จะลดลงเหลือเพียง 21 ที่นั่ง ส่วนพรรคใหญ่อีกพรรคคือประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส. ไม่ต่างจากเดิม คือเพิ่มขึ้น 1 ที่นั่ง

ในขณะที่พรรคที่จะได้ประโยชน์จากการเลือกตั้งระบบใหม่นี้ คือพรรคขนาดกลาง เช่น พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ที่ได้ ส.ส. เพิ่มขึ้นถึง 21 ที่นั่ง และ 13 ที่นั่งตามลำดับ

ส่วนพรรคที่เคยประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งก่อนโดยใช้กลยุทธ์ไม่ส่ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลย และหวังคะแนนจาก ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์อย่างเดียว เช่น พรรครักประเทศไทย ก็จะไม่สามารถทำได้แล้วในระบบใหม่นี้ เพราะเมื่อไม่ส่งผู้สมัคร ส.ส. เขต ก็เท่ากับว่าไม่มีคะแนนโหวตในระบบบัญชีรายชื่อไปด้วย

.

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ระบบและกลไกการเลือกตั้งสามารถเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งไปได้อย่างสำคัญ แต่ผลการเลือกตั้งจริงในครั้งหน้าจะออกมาเป็นเช่นไร คงไม่มีใครบอกได้ เพราะมีปัจจัยอีกร้อยแปดที่อาจส่งผลต่อผลการเลือกตั้งได้

ทั้งกลยุทธ์ของพรรคการเมืองต่างๆ เอง ที่ก็คงจะปรับเปลี่ยนไปตามกฎกติกาที่เปลี่ยนแปลง

รวมถึงการตัดสินใจกาบัตรเลือกตั้งของประชาชนทั่วประเทศที่อาจเปลี่ยนไป เพราะต้องคิดให้มากและคิดให้หนักกว่าเดิม เนื่องจากไม่สามารถเลือก “คนที่รัก” และ “พรรคที่ชอบ” แยกกันได้เหมือนการเลือกตั้งครั้งก่อนอีกต่อไป

—–

บทความโดย กฤดิกร เผดิมเกื้อกูลพงศ์

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า