SHARE

คัดลอกแล้ว

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ โพสต์เฟซบุ๊กกรณีการประมูลรถเมล์เอ็นจีวีของขสมก. ระบุมีความซับซ้อน จึงยังตอบคำถามได้ไม่ชัดเจน

เมื่อวันที่ 4 พ.ค.61 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร เเละอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์เฟซบุ๊ก เเสดงความคิดเห็นกรณีการประมูลรถเมล์เอ็นจีวีของขสมก. โดยเนื้อ หาระบุว่า

 

ตอบแล้วแต่ตะแบง! ขสมก.แจงปมร้อนประมูลรถเมล์

ในที่สุดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ตอบคำถาม ข้อสังเกต หรือข้อสงสัยของผมเกี่ยวกับการประมูลรถเมล์เอ็นจีวีจำนวน 489 คัน เป็นครั้งที่ 3 แต่การตอบทั้ง 3 ครั้ง เป็นการตอบที่ไม่ตรงประเด็น พูดได้ว่าเป็นการตอบแบบข้างๆ คูๆ หรือตอบเหมือนไม่ตอบตามเคย ก่อนที่จะพูดถึงเหตุผลที่ผมมีความเห็นเช่นนั้น ผมขอเท้าความถึงการประมูลตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงครั้งล่าสุดคือครั้งที่ 8 ก่อน จากการประมูลทั้งหมด 8 ครั้ง ปรากฏว่ามีปัญหาทุกครั้ง แต่ครั้งที่ควรจะพูดถึงมี 3 ครั้ง ประกอบด้วยครั้งที่ 3 ครั้งที่ 4 และครั้งที่ 8 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุด

การประมูลครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ 2558 บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะด้วยการเสนอราคาประมาณ 3,800 ล้านบาท แต่มีปัญหาบางประการทำให้ถูกยกเลิกไป ราคาดังกล่าวเป็นราคาค่ารถ 489 คัน รวมค่าบำรุงรักษาเป็นระยะเวลา 10 ปี

การประมูลครั้งที่ 2 ในปี พ. ศ. 2559 บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด เป็นผู้ชนะด้วยการเสนอราคาประมาณ 3,389.7 ล้านบาท แต่มีปัญหาบางประการทำให้ถูกยกเลิกไปเช่นเดียวกัน

การประมูลครั้งที่ 8 ในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุด และเป็นครั้งที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากอยู่ในเวลานี้ ปรากฏว่า ช.ทวี ร่วมกับบริษัท สแกนอินเตอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะด้วยการเสนอราคาประมาณ 4,260 ล้านบาท แต่มีปัญหาถูกร้องเรียนว่า ขสมก.ไม่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรรมการบริหารกิจการ ขสมก. (บอร์ด ขสมก.) ให้ทำสัญญากับ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์ จนถูกศาลปกครองกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 ให้ทุเลาการบังคับตามมติของบอร์ด ขสมก. ในการประชุมเมื่อวันที่ 18 และ 20 ธันวาคม 2560 เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น นั่นหมายความว่าบอร์ด ขสมก.ไม่มีมติให้ ขสมก.ทำสัญญากับ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์ ดังนั้น สัญญาที่ทำไว้แล้วนั้นอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์

ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2561 เป็นต้นมา ผมได้เขียนบทความเกี่ยวกับการประมูลรถเมล์เอ็นจีวีจำนวน 489 คัน ที่ถูกกล่าวหาว่ามีความไม่ชอบมาพากล 4 บทความแล้ว บทความนี้เป็นบทความที่ 5 เหตุที่ผมต้องเขียนบทความต่อเนื่องมาหลายบทความก็เพราะว่าต้องการค้นหาความจริงให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน โดยผมได้ตั้งคำถาม ข้อสังเกต หรือข้อสงสัยต่อ ขสมก. แต่ ขสมก. ได้ชี้แจงแบบไม่ตรงประเด็นมาแล้ว 3 ครั้ง อ้างแต่เพียงว่าได้ดำเนินการอย่างโปร่งใสและถูกต้องตามกฎหมาย ผมขอสรุปคำถามและคำตอบดังนี้

คำถามข้อที่ 1 – ในช่วงระหว่างวันที่ 17-19 เมษายน 2561 หลังจากศาลมีคำสั่งออกมาแล้ว มีผู้บริหาร ขสมก.จำนวน 3 คน เดินทางไปดูงานการผลิตเกียร์รถโดยสารที่มณฑลซีอาน สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเดินทางจากสนามบินดอนเมืองไปสู่เมืองซีอานด้วยสายการบินแอร์เอเชีย เที่ยวบิน FD588 วันที่ 16 เมษายน 2561 เวลา 16.40 น. แต่ตามคำสั่ง ขสมก.ที่ 259/2561 ได้อนุมัติให้เฉพาะนายสมบัติ สีสดเลิก หัวหน้างานตรวจจ่าย กลุ่มงานบัญชี สำนักบัญชีและกองทุนกลาง เดินทางไปศึกษาดูงานเพียงคนเดียวเท่านั้น ไม่พบว่าอีก 2 คน ที่ร่วมเดินทางไปด้วยได้รับอนุมัติหรือไม่

คำถามเกิดขึ้นก็คือ (1) เหตุใด ขสมก.จึงอนุมัติให้นายสมบัติ สีสดเลิก ไปดูงานด้านเทคนิค ซึ่งไม่ใช่งานในหน้าที่รับผิดชอบของตนซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านบัญชี (2) ผู้ร่วมเดินทางอีก 2 คน ได้รับอนุมัติให้เดินทางไปต่างประเทศด้วยหรือไม่ หากไม่ได้รับอนุมัติ แล้วเดินทางไปต่างประเทศได้อย่างไร เพราะเป็นการทำผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลา และ (3) ใครเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด

อนึ่ง ในช่วงเวลาเดียวกันนี้คือระหว่างวันที่ 17-19 เมษายน 2561 ปรากฏว่านายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ ขสมก. และนายสมศักดิ์ นครเอี่ยม หัวหน้ากลุ่มงานจัดซื้อ สำนักบริการและจัดซื้อ ได้รับอนุญาตให้ลาพักผ่อนตามคำสั่ง ขสมก.ที่ 230/2561 และ 233/2561 ตามลำดับ แต่จะเดินทางไปดูงานที่จีนด้วยหรือไม่นั้นผมไม่ทราบ ถ้าใครอยากทราบก็หาได้ไม่ยาก

ก่อนหน้านี้คือระหว่างวันที่ 11-16 มีนาคม 2561 มีผู้บริหาร ขสมก. 3 คน และบอร์ด ขสมก. 2 คน เดินทางไปดูงานประกอบรถโดยสารเอ็นจีวีที่เมืองหนานชาง มณฑลเจียงซี สาธารณรัฐประชาชนจีน ถ้าใครอยากรู้ว่าไปกันได้อย่างไร ไปกับใคร และใครรับผิดชอบค่าใช้จ่ายก็ลองสืบหากันดู

ตำตอบข้อที่ 1 ของ ขสมก.- ขสมก.ไม่ตอบคำถามนี้

 

คำถามข้อที่ 2 – ทำไมจึงเชิญชวนให้บริษัทเข้าร่วมประมูลโดยกำหนดให้ยื่นเอกสารภายในระยะเวลาสั้นๆ หากบริษัทใดไม่รู้ข้อมูลภายในล่วงหน้ามาก่อนก็ไม่สามารถเตรียมเอกสารได้ทัน กล่าวคือ ขสมก.ได้มีหนังสือเชิญชวนบริษัทครั้งที่ 1 จำนวน 7 บริษัท เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 โดยกำหนดให้ยื่นเอกสารในวันที่ 7 ธันวาคม 2560 ทำให้มีเวลาเตรียมเอกสารจำนวนมากทั้งเอกสารด้านคุณสมบัติของบริษัท เอกสารด้านเทคนิคและด้านราคา รวมทั้งเอกสารที่จะต้องแปลจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย และจะต้องให้สถานทูตไทยในต่างประเทศรับรองด้วยเพียง 10 วันทำการเท่านั้น อนึ่ง ในการเชิญครั้งที่ 1 นั้น ปรากฏว่ามี ช.ทวีรวมอยู่ด้วย

คำตอบข้อที่ 2 ของ ขสมก. – การประมูลครั้งนี้เป็นการดำเนินการโดยเร่งด่วน และ ขสมก.เห็นว่าบริษัทที่ได้รับเชิญทั้ง 7 บริษัท มีความพร้อมด้านเอกสารอยู่แล้ว

คำโต้แย้งของผมต่อคำตอบข้อที่ 2 ของ ขสมก. – ระยะเวลาเตรียมเอกสาร 10 วันทำการถือว่าสั้นมาก เป็นผลให้มีบริษัทที่ได้รับเชิญสามารถเตรียมเอกสารได้ทันแค่เพียงบริษัทเดียวเท่านั้น นั่นคือ ช.ทวี ซึ่งขัดแย้งกับคำชี้แจงของ ขสมก.ที่ว่าทั้ง 7 บริษัท มีความพร้อมที่จะเตรียมเอกสารได้ทันเวลา

 

คำถามข้อที่ 3 – เหตุใด ขสมก.จึงเชิญชวนบริษัทเพิ่มเติมในครั้งที่ 2 อีกจำนวน 4 บริษัท เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 โดยกำหนดให้ยื่นเอกสารในวันที่ 7 ธันวาคม 2560 เหมือนเดิม ทำให้มีเวลาเตรียมเอกสารจำนวนมากเพียง 3 วันทำการเท่านั้น ทั้งๆ ที่ การเชิญในครั้งที่ 1 มีจำนวนบริษัทครบถูกต้องตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 อยู่แล้ว นั่นคือมีจำนวนไม่น้อยกว่า 3 ราย อนึ่ง ในการเชิญรอบที่ 2 นั้น ปรากฏว่ามีสแกนอินเตอร์รวมอยู่ด้วย

คำตอบข้อที่ 3 ของ ขสมก.- ต้องการให้มีบริษัทเข้าร่วมแข่งขันมากราย และ ขสมก.เห็นว่าบริษัทที่ได้รับเชิญในครั้งที่ 2 ทั้ง 4 บริษัทนั้น มีความพร้อมอยู่แล้วที่จะเตรียมเอกสารได้ในระยะเวลา 7 วัน ตามที่ ขสมก.กำหนดให้ (ขสมก.พยายามหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่า “วันทำการ” เพราะหากใช้ “วันทำการ” จะทำให้เหลือเวลาเตรียมเอกสารสั้นลง)

คำโต้แย้งของผมต่อคำตอบข้อที่ 3 ของ ขสมก. – หาก ขสมก. มีเจตนารมณ์ที่ต้องการให้มีบริษัทเข้าร่วมแข่งขันมากรายจริง แล้วทำไมจึงยอมให้ ช.ทวีจับมือกับสแกนอินเตอร์ตั้งเป็นกลุ่มร่วมทำงาน เสมือนเป็นบริษัทเดียว ทำให้ไม่มีการแข่งขันทั้งด้านราคาและคุณภาพ ซึ่งอาจเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “พ.ร.บ.ฮั้วประมูล” หากมีใครคนใดคนหนึ่งไปร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) อาจเป็นผลให้คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างถูกลงโทษจำคุกก็ได้ อนึ่ง ระยะเวลาเตรียมเอกสาร 7 วันนั้น เป็นเวลาที่นับตั้งแต่วันส่งเอกสาร และรวมวันหยุดราชการไว้ด้วย ถ้าหักวันดังกล่าวออกจะเหลือเวลาเพียง 3 วันทำการเท่านั้น ซึ่งถือว่าสั้นมากไม่สามารถเตรียมเอกสารได้ทันแน่ ซึ่งก็เป็นจริงเช่นนั้นเพราะจากจำนวนบริษัทที่ได้รับเชิญในครั้ง 2 จำนวน 4 บริษัท มีเพียงบริษัทเดียวเท่านั้นคือสแกนอินเตอร์ที่เข้าร่วมประมูลโดยร่วมกับ ช.ทวีที่ได้รับเชิญในครั้งที่ 1 หากไม่ร่วมกับ ช.ทวีก็คงไม่สามารถเตรียมเอกสารได้ทันเช่นเดียวกับบริษัทอื่นที่ไม่ยื่นประมู

 

คำถามข้อที่ 4 – ทำไม ขสมก. จึงยอมเซ็นสัญญากับ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์ ทั้งๆ ที่ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์เสนอราคาสูงกว่าราคากลาง กล่าวคือ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์เสนอราคาประมาณ 4,260 ล้านบาท ในขณะที่ราคากลางที่ ขสมก. กำหนดไว้ประมาณ 4,020 ล้านบาท นั่นคือ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์เสนอราคาสูงกว่าราคากลางถึง 240 ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบกับราคาที่เบสท์รินเสนอจากการชนะการประมูลครั้งที่ 4 ปรากฏว่า ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์เสนอราคาสูงกว่าเบสท์รินถึง 870 ล้านบาท หรือเมื่อเปรียบเทียบกับราคาที่ ช.ทวีเคยเสนอโดยไม่ร่วมงานกับสแกนอินเตอร์จากการชนะการประมูลครั้งที่ 3 เมื่อปี พ.ศ.2558 ปรากฏว่าครั้งนี้ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์เสนอราคาสูงกว่าที่เคยเสนอถึง 460 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ เวลาผ่านมาเพียง 2 ปีเศษเท่านั้น ที่สำคัญ ในช่วงเวลาดังกล่าวค่าเงินบาทแข็งตัวขึ้นประมาณ 6% ดังนั้น ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์จะต้องเสนอราคาต่ำกว่าเดิม นั่นคือต่ำกว่า 3,800 ล้านบาท อะไรทำให้ ช.ทวีต้องเสนอราคาเพิ่มขึ้นเมื่อร่วมงานกับสแกนอินเตอร์

คำตอบข้อที่ 4 ของ ขสมก. – ขสมก.ตอบไม่ตรงประเด็น โดยชี้แจงว่าราคารถที่ ขสมก.ซื้อจาก ช.ทวีนั้นถูกกว่าราคาที่ ช.ทวีเคยขายรถรุ่นเดียวกันให้กับองค์กรอื่นๆ อยู่มาก

คำโต้แย้งของผมต่อคำตอบข้อที่ 4 ของ ขสมก. – ขสมก.ไม่ได้สืบราคาจากหลายแหล่ง เพียงแต่ได้สอบถาม ช.ทวีว่าเคยขายรถรุ่นเดียวกันให้ใครมาบ้าง พบว่า ช.ทวีเคยขายให้บริษัท มารัตน์ ทรานสปอร์ต จำกัด (มหาชน) จำนวน 40 คัน ในราคา 4 ล้านบาทต่อคัน เพียงรายเดียวเท่านั้น ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท มารัตน์ฯ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 4 ของ ช.ทวี ด้วยเหตุนี้ ศาลปกครองกลางจึงได้ระบุไว้ในคำพิพากษาว่า “เป็นธุรกรรมซื้อขายรถยนต์รุ่นนี้ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว และเป็นธุรกรรมที่เกี่ยวโยงกันที่ไม่ควรใช้เป็นราคาอ้างอิง” อีกทั้ง รถที่ ขสมก.ซื้อมีจำนวนถึง 489 คัน มากกว่าจำนวนที่บริษัท มารัตน์ฯ ซื้อมาก ดังนั้น การที่ ขสมก.ซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่าถือว่าเป็นเรื่องปกติเพราะเป็นไปตามกลไกการตลาด ด้วยเหตุนี้ ขสมก.จึงไม่ควรอ้างว่าซื้อรถได้ถูกกว่ามาก เนื่องจากยังมีราคาสูงกว่าราคากลางอยู่มาก กล่าวคือ ขสมก.กำหนดราคากลางของรถไว้ที่ 3.5 ล้านบาทต่อคัน แต่ ขสมก.ซื้อจาก ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์ในราคา 3.86 ล้านบาทต่อคัน หรือสูงกว่าราคากลาง 360,000 บาทต่อคัน รวม 489 คัน เป็นเงิน 176 ล้านบาท

 

คำถามข้อที่ 5 – ทำไม ขสมก. ไม่แสดงหลักฐานการตรวจรับรถจำนวน 100 คัน ต่อศาลปกครองกลางถ้า ขสมก.ได้ตรวจรับรถจำนวนดังกล่าวแล้วจริง พร้อมทั้งได้จ่ายเงินให้แก่ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์แล้วตามคำให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่บอกว่าได้รับรถจำนวน 100 คัน และได้จ่ายเงินไปแล้วก่อนที่ศาลปกครองกลางจะมีคำสั่ง

คำตอบข้อที่ 5 ของ ขสมก. – ขสมก.ได้ตรวจรับรถเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2561 และได้ทำรายงานเสนอรักษาการผู้อำนวยการ ขสมก.เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่ศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561

คำโต้แย้งของผมต่อคำตอบข้อที่ 5 ของ ขสมก. – คำพิพากษาของศาลปกครองระบุชัดว่าคำกล่าวอ้างของ ขสมก.ที่บอกว่ารับรถ 100 คันแล้วนั้น เป็นคำอ้างที่ปราศจากหลักฐาน ทั้งที่ ขสมก.สามารถจัดส่งหลักฐานต่อศาลได้โดยง่าย นั่นหมายความว่า ขสมก.ไม่ได้ตรวจรับรถก่อนวันที่ 10 เมษายน 2561 ที่น่าสนใจก็คือ ขสมก.ไม่ตอบเรื่องการจ่ายเงิน เพราะไม่ได้จ่ายเงินก่อนวันที่ 10 เมษายน 2561 นั่นเอง

ผมได้ตีแผ่ความลึกลับ ซับซ้อน และซ่อนเงื่อนของการประมูลรถเมล์เอ็นจีวีจำนวน 489 คัน ให้เห็นกันอย่างชัดเจนแล้วว่า “โปร่งใส” ตามคำอ้างของ ขสมก.จริงหรือไม่ หากผู้มีอำนาจเห็นว่าเป็นการประมูลที่ไม่ปกติก็ควรจัดการให้ถูกต้องเสียที ทั้งหมดนี้ เพื่อช่วยให้คนกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะได้มีรถเมล์ใหม่ใช้ได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในเวลาไม่นาน

https://www.facebook.com/samart.ratchapolsitte/posts/10211688083582762

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า