Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ยุทธศาสตร์ชาติที่เพิ่งประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 ต.ค. ที่ผ่านมา มีทั้งสิ้น 6 ด้าน โดยทุกด้านได้ระบุ “เป้าหมาย” และ “ตัวชี้วัด” ไว้อย่างกว้างมาก เช่นในด้านความมั่นคง ระบุว่าหนึ่งในตัวชี้วัดคือ “ความสุขของประชากรชาวไทย” หรือในด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ก็ระบุหนึ่งในตัวชี้วัดไว้เพียงว่า “รายได้ประชาชาติ” โดยที่ไม่ได้บอกว่าความสุขของคนไทย หรือรายได้ประชาชาติของไทย ต้องสูงถึงระดับใดจึงจะถือว่าบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ

อย่างไรก็ตาม ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ได้สืบค้นเอกสารการประชุมคณะกรรมการยุทธ์ศาสตร์ชาติ และพบว่าในร่างแรกๆ ของยุทธศาสตร์ชาติ ได้มีการระบุตัวชี้วัดเป้าหมายในด้านต่างๆ ไว้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม

ทีมข่าวเวิร์คพอยท์จึงอย่างชวนผู้อ่านไปสำรวจกันดูว่า ผู้ร่างยุทธศาสตร์ชาติเคยจินตนาการถึงเป้าหมายแบบไหนให้ประเทศไทยบ้าง และถ้ายึดตามเป้าหมายที่เคยถูกเขียนไว้ในร่างยุทธศาสตร์ชาติเหล่านี้ ยังอีกไกลไหมกว่าที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยจะไปถึง
โดยในครั้งนี้ จะเป็นการนำเสนอเฉพาะยุทธศาสตร์ชาติ 3 ด้านแรก ได้แก่ ด้านความมั่นคง ด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 

ยุทธศาสตร์ชาติฉบับจริงที่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ระบุตัวชี้วัดหนึ่งด้านความมั่นคงไว้เพียงกว้างๆ ว่า “ความสุขของประชากรชาวไทย” แต่จากข้อมูลในร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้นซึ่งถูกนำเข้าพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติครั้งที่ 2/2561 มีการกำหนดรายละเอียดไว้ว่าหนึ่งในตัวชี้วัดเป้าหมายคือ “ดัชนีวัดความสุขของประชากร อยู่ใน 10 ลำดับแรกของโลก”

ปี 2018 ประเทศไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความสุขอันดับ 46 จาก 156 ประเทศ ในรายงานความสุขโลก (World Happiness Report 2018) ที่จัดทำโดยเครือข่ายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Solutions Network) โดย 5 อันดับแรกได้แก่ฟินแลนด์ นอร์เวย์ เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ และสวิสเซอร์แลนด์ ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีอันดับสูงสุดได้แก่ไต้หวัน อยู่ที่อันดับ 26 ตามด้วยสิงคโปร์และมาเลเซียในอันดับ 34 และ 35

การจะเข้ามาเป็นประเทศที่มีความสุขระดับต้นๆ นั้นต้องพัฒนาทั้งด้านรายได้ เสรีภาพ สุขภาพ สวัสดิการ ความเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อรัฐ และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในสังคม

ที่ผ่านมาประเทศที่ไต่อันดับได้มากที่สุดคือ โตโก ที่เลื่อนได้ถึง 17 อันดับในเวลาเพียง 3 ปี ขณะที่สถิติการเลื่อนอันดับของประเทศไทยทำได้มากสุด 3 อันดับ จากอันดับ 36 มาเป็นอันดับ 33 ในระหว่างปี 2556 ถึงปี 2558 แต่ในปีต่อๆ มาอันดับกลับร่วงลงถึง 13 อันดับ จากอันดับ 32 ในปี 2560 มาเป็นอันดับ 46 ในปี 2561

ในด้านความมั่นคง ยุทธศาสตร์ชาติยังได้กำหนดอีกตัวชี้วัดหนึ่ง ได้แก่ “ความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ” โดยแม้ฉบับจริงที่ประกาศใช้ในพระราชกิจจานุเบกษาไม่ได้ลงรายละเอียดตัวชี้วัดเอาไว้ แต่ฉบับร่างที่ถูกนำเข้าพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการระบุว่าตัวชี้วัดเป้าหมายอย่างละเอียดคือ “ระดับความมั่นคงปลอดภัยภายในประเทศและศักยภาพตำรวจระดับสากลอยู่ใน 20 ลำดับแรกของโลก”

การจัดอันดับที่ถูกใช้กันแพร่หลายที่สุดคือดัชนีความมั่นคงและตำรวจโลก (World Internal Security & Police Index -WISPI) ที่จัดทำโดย สมาคมตำรวจศึกษาสากล (IPSA) ซึ่งการจัดอันดับครั้งล่าสุดในปี 2016 ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 69 จาก 127 ประเทศ โดยประเมินจากความรู้ความสามารถของบุคคลากร กระบวนการ การปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน และผลสัมฤทธิ์

ประเทศที่มีความมั่นคงภายในและตำรวจมีศักยภาพที่สุดได้แก่สิงคโปร์ ตามมาด้วย ฟินแลนด์ เดนมาร์ก ออสเตรีย และเยอรมนี ตามลำดับ

ด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ในยุทธศาสตร์ชาติฉบับจริงระบุว่าหนึ่งในตัวชี้วัดคือ “รายได้ประชาชาติ” แต่ในร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้นซึ่งถูกนำเข้าพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติครั้งที่ 2/2561 ระบุรายละเอียดตัวชี้วัดเป้าหมายหนึ่งไว้ว่าคือ “รายได้ต่อหัวมากกว่า 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี”

ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่าในปีที่ผ่านมารายได้ประชาชาติต่อหัวของไทยอยู่ที่ 10,366 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจากข้อมูลย้อนหลังพบว่า ประเทศไทยเคยมีรายได้ประชาชาติต่อหัวสูงสุดในปี 2557 ที่ 10,932 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ในยุทธศาสตร์ชาติฉบับจริงที่ประการใช้ในพระราชกิจจานุเบกษาระบุเพียงว่าตัวชี้วัดหนึ่งของด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันคือ “การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ” แต่ในฉบับร่างเบื้องต้นซึ่งถูกนำเข้าพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติครั้งที่ 2/2561 ได้เขียนระบุตัวชี้วัดเป้าหมายหนึ่งไว้ว่า “อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ต่อปี”

ข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่าในปี 2560 ประเทศไทยมีการขยายตัวของ GDP อยู่ที่ 3.9% และในรอบ 8-9 ปีหลังสุด ก็มีหลายปีที่ GDP ไทยโตสูงกว่าปีละ 7% อย่างไรก็ตาม หากดูเฉพาะช่วง 5 ปีหลังสุด พบว่าไม่มีปีไหนเลยที่เศรษฐกิจไทยเติบโตถึง 4% และบางปีโตไม่ถึง 1% เท่านั้น

การตั้งเป้าหมายให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ถึงปีละ 5% จึงเป็นเป้าหมายทีท้าทายไม่น้อย

ขณะที่ยุทธศาสตร์ชาติฉบับจริงระบุว่าหนึ่งในตัวชี้วัดด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันคือ “ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” แต่ในยุทธศาสตร์ชาติฉบับร่างเบื้องต้นซึ่งถูกนำเข้าพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติครั้งที่ 2/2561 ได้ระบุตัวชี้วัดเป้าหมายด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันไว้ชัดเจนว่าคือ การมุ่งอยู่ในอันดับ 1 ใน 20 ของการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน โดยศูนย์การแข่งขันโลกของสถาบันการจัดการการพัฒนานานาชาติ (International Institute for Management Development – IMD)

ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 30 จากทั้งหมด 63 ประเทศ โดยการจัดอันดับโดย IMD นี้ใช้เกณฑ์ด้านต่างๆ อย่างละเอียดถึง 28 เกณฑ์ เช่น การประกอบการทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของรัฐบาล ประสิทธิภาพทางธุรกิจ โครงสร้างสาธารณูปโภค สถิติการค้า เป็นต้น โดยก่อนหน้านี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 29 ในปี 2558 อันดับ 30 ในปี 2559 และอันดับ 27 ในปี 2560

ทั้งนี้ 5 ประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดในโลกตามการประเมินของ IMD คือ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ และสวิสเซอร์แลนด์

“การพัฒนาคุณภาพชีวิต สุขภาวะ และความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทย” เป็นหนึ่งในเป้าหมายด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติฉบับจริง อย่างไรก็ตาม ในยุทธศาสตร์ชาติฉบับร่างซึ่งถูกนำเข้าพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติครั้งที่ 2/2561 ได้ระบุตั้งเป้าไว้ชัดเจนวัดผลได้กว่านั้น คือ “ดัชนีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HDI) มีค่าคะแนนมากกว่า 0.90“

ดัชนีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Development Index หรือ HDI) เป็นดัชนีที่ใช้วัดคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศต่างๆ โดยวัดจากปัจจัยหลายตัว เช่น อายุไขเฉลี่ย จำนวนปีที่ได้รับการศึกษาเฉลี่ย รายได้ต่อหัว ความเท่าเทียม ความยากจน การจ้างงานและความเสี่ยงถูกเลิกจ้างงาน อาชญากรรม ตัวเลขการนำเข้า-ส่งออก การปล่อยคาร์บอน จำนวนประชากร อัตราแรงงานมีฝีมือ ฯลฯ

ปี 2560 ที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับการประเมินที่ 0.755 คะแนน ได้อันดับที่ 83 จาก 189 ประเทศทั่วโลก และที่ผ่านมาผลการประเมินของประเทศไทยก็มีแนวโน้มดีขึ้นโดยตลอด นับตั้งแต่ปี 2533 ที่ได้ 0.574 คะแนน ปี 2543 ได้ 0.649 คะแนน ก่อนปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน ดังนั้นการตั้งเป้าหมายให้ดัชนี้การพัฒนามนุษย์ของไทยถึง 0.90 ใน 20 ปีก็คงไม่ใช่ความฝันที่ไกลไปนัก

ทั้งนี้ ประเทศที่มีดัชนีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มากกว่า 0.90 ปัจจุบันมีทั้งหมด 24 ประเทศ โดยหัวตารางได้แก่ นอร์เวย์ สวิสเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย เยอรมนี ส่วนประเทศในเอเชียที่มีคะแนนสูงถึงระดับดังกล่าวได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

ยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ได้ระบุตัวชี้วัดไว้กว้างๆ ว่า “ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต” แต่ในฉบับร่างที่ใช้พิจารณาในการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติครั้งที่ 2/2561 ได้ลงรายละเอียดตั้งเป้าหมายไว้ว่า คะแนน PISA สูง 500 คะแนน

การสอบ PISA (โครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกันนานาชาติ) ซึ่งจัดโดยกลุ่มประเทศ OECD ได้ประเมินนักเรียนทั่วโลกที่จบการศึกษาภาคบังคับ (สำหรับประเทศไทยคือระดับชั้น ม.3) ใน 3 รายวิชา/ทักษะ ด้วยกัน ได้แก่ ด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Literacy) ด้านการอ่าน (Reading Literacy) และด้านคณิตศาสตร์ (Mathematical Literacy)

ผลปรากฏว่าผลสอบของประเทศไทยทั้ง 2 ปีต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกทั้งหมด โดยในปี 2558 นักเรียนไทยได้คะแนนเฉลี่ยด้านวิทยาศาสตร์ 421 คะแนน (คะแนนเฉลี่ยทั่วโลก 493 คะแนน) ด้านการอ่าน 409 คะแนน (คะแนนเฉลี่ยทั่วโลก 493 คะแนน) และด้านคณิตศาสตร์ 415 คะแนน (คะแนนเฉลี่ยทั่วโลก 490 คะแนน)

อีกทั้งเมื่อเทียบกับการสอบวัดผลครั้งก่อน ปรากฏว่าเด็กนักเรียนไทยทำคะแนนได้แย่ลง โดยเมื่อปี 2555 นักเรียนไทยสอบได้คะแนนเฉลี่ยด้านวิทยาศาสตร์ 444 คะแนน ด้านการอ่าน 441 คะแนน และด้านคณิตศาสตร์ 427 คะแนน

ฉะนั้นคงต้องมาลุ้นกันต่อไป ว่าเป้าหมายคะแนน PISA ทุกวิชา 500 คะแนนภายใน 20 ปี จะเป็นเป้าหมายที่ยากเกินไปไหมสำหรับการศึกษาและเด็กไทย

 

ติดตามข่าวที่น่าสนใจได้ที่ workpointnews.com

Facebook / facebook.com/WorkpointNews/

Instagram / instagram.com/workpointnews/

Twitter / twitter.com/WorkpointShorts

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า