Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ปี 2562 เราน่าจะได้เลือกตั้งกันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ คสช. เข้ายึดกุมอำนาจการบริหารประเทศเมื่อปี 2557 โดยครั้งนี้คาดการณ์ว่าอย่างช้าสุดไม่น่าจะเกินเดือนพฤษภาคม ประชาชนน่าจะได้เข้าคูหาไปใช้สิทธิในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย

แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งยังไม่ประกาศใช้ ทำให้ คสช. ยังไม่ยอมยกเลิกประกาศห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง ทำให้ภาพของผู้ที่จะนำพรรคต่างๆ ลงสู้ศึกเลือกตั้งยังไม่ชัดเจน แม้จะเหลือเวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งปีก็ตาม

วันนี้เราจึงมาตรวจแถว ตรวจแนวรบล่าสุดว่าพรรคไหน จะชูใครเป็นแม่ทัพสู้ศึกเลือกตั้ง ใครจะเป็นแม่บ้านพรรคคอยดูแลปัดกวาด และว่ากันว่าในอดีตหมายถึงผู้เดินเกมทางการเมือง

.

1. พรรคเพื่อไทย

ผู้นำพรรค : สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์   70%

เลขาธิการพรรค : ภูมิธรรม เวชชยชัย 99%

“เพื่อไทย” นั้นถูกมองว่าเป็นพรรคอันดับหนึ่ง แต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ “เพื่อไทย” ผ่านความเจ็บปวดมาเยอะ และรู้ว่าผู้ที่นำพรรคในการสู้ศึกเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องเป็นหัวหน้าพรรคเช่นเดียวกับที่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เคยเป็น

ครั้งนี้ก็เช่นกัน โดยคนที่ถูกจับตาว่ามีภาษีดีที่สุดน่าจะเป็น “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” โดยวงในเล่าว่า ถึงนาทีนี้ “คุณหญิงหน่อย” ลงมาเดินงานอย่างเต็มตัวมาพักใหญ่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางการเมืองในพื้นที่ และที่สำคัญการประชุมพรรคอย่างไม่เป็นทางการ เธอนั่งหัวโต๊ะแทบทุกครั้ง

มีเสียงร่ำลือวาเธอได้รับฉันทานุมัติจาก “ทักษิณ ชินวัตร” และ “พจมาน ณ ป้อมเพชร์” เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม ที่ยังไม่สามารถฟันธงว่าเธอจะเป็นเบอร์หนึ่ง 100% นั่นเพราะยังมีหลายคนในพรรคที่ดูเหมือนยังไม่ยอมรับในตัวเธอ และพยายามเดินเกมเพื่อขอเปลี่ยนผู้นำ

แต่ตราบใดที่ยังไม่ใกล้วันเลือกตั้ง หรือประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ หลายคนจึงเผื่อใจว่าเธออาจเป็นตัวหลอกทางการเมืองได้

ขณะที่เลขาธิการพรรคนั้น ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด “เดอะอ้วน-ภูมิธรรม เวชชยชัย” น่าที่จะนั่งในตำแหน่งนี้ เพราะเขานั้นถือเป็นมันสมองทางการเมืองที่แท้จริง พร้อมทั้งเป็นแกนกลางของเพื่อนๆ แถมตอนนี้ยังเป็นรักษาการเลขาธิการพรรคพร้อมทั้งเดินหน้าปะ ฉะ ดะ กับฝ่ายตรงข้าม ดังนั้นถ้าฟ้าไม่ถล่ม ดินไม่ทลาย เขาคงนั่งในตำแหน่งนี้  ทั้งเดินงานพรรคและเดินเกมการเมืองต่อไป

.

2.พรรคประชาธิปัตย์

หัวหน้าพรรค :อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ 70%

เลขาธิการพรรค  : จุติ ไกรฤกษ์ ???

พรรคฝ่ายค้านอันดับหนึ่งและพรรคอันดันดับสอง มาวันนี้ต้องเจอความท้าทายและการแข่งขันทั้งจากคู่แข่งเดิม คู่แข่งใหม่ และคนกันเองที่ออกไปตั้งพรรคใหม่

“อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ” ยังคงได้รับความไว้วางใจจาก “ผู้อาวุโส” ของพรรค แต่คนอื่นดูเหมือนจะไม่ได้เชื่อมั่นในตัวเขามากขนาดนั้น และมองว่าเขามีวิกฤติศรัทธาจากสมัยที่เป็นนายกรัฐมนตรี  นอกจากนี้ยังมีความไม่เชื่อมั่นจากการที่ไม่เคยนำพรรคชนะการเลือกตั้งเลย

ขณะที่มีอีกหลายคนมองว่าการประกาศตัวไม่สนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นจุดอ่อนที่อาจทำให้พรรคเข้าสู่ทางตัน เพราะมีแนวโน้มว่าพรรคและเครือข่ายของ “พล.อ.ประยุทธ์” อาจจะเข้ามาสืบต่ออำนาจ อีกทั้งกองเชียร์ประชาธิปัตย์หลายๆ กลุ่มก็สนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์”  ดังนั้นมีความเป็นไปได้ว่าตำแหน่งหัวหน้าพรรคของ “อภิสิทธิ์” ที่ครองมากว่า 10 ปี อาจถูกท้าทายอีกครั้งทันทีที่มีการประชุมพรรคเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่

แต่งานของเขาก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพราะคนที่คิดต่างจำนวนหนึ่งแยกออกไปสนับสนุน ทั้งพรรค “รวมพลังประชาชาติ” และรอร่วมพรรค “พลังประชารัฐ” ที่เตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการ

ขณะที่ตำแหน่งเลขาธิการพรรค ยังคงต้องจับตา เพราะนับตั้งแต่ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” จากมา ดูเหมือนว่าประชาธิปัตย์ยังไม่มีเลขาธิการพรรคตัวจริงที่จะทำหน้าที่เดินเกมการเมืองอย่างเต็มรูปแบบ

“จุติ ไกรฤกษ์” เลขาธิการพรรควันนี้ อาจจะเก๋าไม่น้อย แต่หากมองเลขาธิการพรรคในรูปแบบมือประสานสิบทิศ ยังคงต้องสงสัยว่าเขาเหมาะกับงานนี้หรือไม่ หรือที่สุดแล้วพรรคต้องหาเลขาธิการพรรคตัวจริงมาเดินเกมการเมือง โดยเฉพาะการเมืองยามที่ถูกล็อกสเป็คให้มีรัฐบาลผสม

.

3.พรรคพลังประชารัฐ

หัวหน้าพรรค : สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ , อุตตม สาวนายน 30%

เลขาธิการพรรค : สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ 30%

พรรคนี้ยังไม่เปิดตัวอย่างเป็นทางการ แต่รู้กันไปทั่วแล้วว่าพรรคนี้เป็น “อวตาร” ของใครและถือกำเนิดมาเพื่ออะไร โดยผู้ที่เดินเกมในการตั้งพรรคนี้คือ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” แต่ตัวเขายังไม่ลงมาเล่นเอง โดยคนที่ไปจดตั้งพรรคก็คือ “ชวน ชูจันทร์” ที่ว่ากันว่าเบื้องหลังมีความสัมพันธ์กับ “สมคิด” เป็นอย่างดี  หรือทั้งชื่อของ “อุตตม” และ “สนธิรัตน์” ก็เป็นเด็กในคาถาของ “สมคิด”

การเลือกตั้งครั้งที่จะถึง แน่นอนว่าคงไม่ได้ชูตัวหัวหน้าพรรค แต่จะชูการสนับสนุน “พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ทั้งนี้ขึ้นกับว่าเขาจะเลือกเป็นนายกฯ จากระบบไหน จากบัญชีนายกฯ ของพรรค หรือจะเข้ามาในฐานะคนนอก งานนี้ต้องรอความชัดเจนจาก “หัวหน้า คสช.” เพียงคนเดียวเท่านั้น

ส่วนเลขาธิการพรรคนั้น ถึงขณะนี้ยังคาดหมายว่าจะเป็น “สนธิรัตน์” เพราะคนเห็นเขาในเกม “ดูด” อยู่หลายๆ ที่ และเป็นมือเป็นไม้ของ “สมคิด” แต่เอาเข้าจริงพรรคนี้อาจมีคนพร้อมและรอเป็นเลขาธิการพรรคอีกมาก ไม่ว่าจะเป็น “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ”, “สมศักดิ์ เทพสุทิน” หรือ “อนุชา นาคาศัย” จากกลุ่ม “สามมิตร”

พรรคนี้ผู้นำพรรคหรือเลขาธิการอาจเป็นใครก็ได้ แต่วาระหลักคือหนุน “ประยุทธ์” เพียงคนเดียว

.

4.พรรคอนาคตใหม่

หัวหน้าพรรค : ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 99.99%

เลขาธิการพรรค : ปิยบุตร แสงกนกกุล 99.99%

สองคนนี้ถือเป็นทั้งแรงงาน ทั้งมันสมองของการก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ พรรคที่วางตำแหน่งเป็นพรรคทางเลือกและพรรคคนรุ่นใหม่ พรรคชู  “ธนาธร” ในฐานะหัวหน้าพรรคสู้ศึกเลือกตั้ง เป็นทั้งผู้นำความคิดและเป็นกระเป๋าเงิน  เพราะชื่อของ “จึงรุ่งเรืองกิจ” นั้นติดตัวเขามาด้วย พรรคนี้จึงไม่ต้องอาศัยทุนจากที่ไหน

ถ้า “ธนาธร” เป็นแขนขวา “ปิยบุตร” ก็เป็นแขนซ้าย เป็นนักคิดหัวก้าวหน้าผู้ร่วมอุดมการณ์ก่อตั้งพรรคมาด้วยกัน และเป็นมันสมองสำคัญ

แต่ที่ต้องเผื่อ 0.01% เอาไว้ เพราะต้องยอมรับว่าความเคลื่อนไหวของพวกเขาถูกจับตาโดยชนชั้นอำนาจ เพราะท้าทายต่อระบอบการปกครองปัจจุบันไม้น้อย และอาจถูกทำให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองได้ทุกเมื่อ

.

5.รวมพลังประชาชาติไทย

หัวหน้าพรรค : ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล 100%

เลขาธิการพรรค : ทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง 90%

พรรคนี้คือพรรคของ กปปส. โดยมีแกนกลางแห่งความเคลื่อนไหวอยู่ที่ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ชูธงการปฏิรูป และพร้อมสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรี  โดยการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา พวกเขาตัดสินใจเลือก “หม่อมเต่า” ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เป็นหัวหน้าพรรค

“หม่อมเต่า” เคยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และถูกปลดสมัย ”ทักษิณ ชินวัตร” เขามีภาพลักษณ์เป็นนักเศรษฐศาสตร์  เป็นมือเศรษฐกิจและการคลัง แม้ว่าปัจจุบันจะอายุถึง 74 ปี โดยคาดว่าที่เลือกเป็นหัวหน้าพรรคนั้นก็เพื่อแสดงการมีมืออาชีพมาร่วมงานกับพรรค ซึ่งจนถึงเลือกตั้งพรรคคงไม่เปลี่ยนแปลงหัวหน้าอีก เพราะพวกเขาไม่ได้ตั้งเป้าเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หรือแข่งขันเป็นนายกฯ หากพร้อมสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” นั่นเอง

ขณะที่ “ทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง” นั้นเป็นสายตรง “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ซึ่งเป็นผู้มีบารมีตัวจริงในพรรค และเป็นผู้กำหนดทิศทางการเดินเกม แต่ที่ไม่ลงมาเพราะเคยให้คำมั่นว่าจะไม่มีตำแหน่งทางการเมือง แต่ก็ไม่แน่ว่าถ้าถึงทีเด็ดทีขาดเขาจะลงมาเองหรือไม่

.

6.ภูมิใจไทย

หัวหน้าพรรค : อนุทิน ชาญวีรกูล 100%

เลขาธิการพรรค : ศักดิ์สยาม ชิดชอบ 100%

ถ้าอนาคตใหม่มี “ธนาธร-ปิยบุตร” ภูมิใจไทยก็มี “อนุทิน-เนวิน” แต่ “เนวิน ชิดชอบ” ในทางสังคมเขาประกาศวางมือทางการเมือง แต่ความเป็นจริงที่ทุกคนรู้ดีว่า เขาเป็นผู้มากบารมีการเมืองขนาดไหน ไม่เชื่อลองดู ครม.สัญจรที่ “บุรีรัมย์” ได้ แต่เมื่อเลือกจะไม่เปิดหน้าเล่นการเมือง จึงเป็นหน้าที่ของน้องชายอย่าง “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ที่จะเข้ามาทำหน้าที่

หัวหน้าพรรคนั้นย่อมหนีไม่พ้น “อนุทิน” ผู้รับมรดกพรรคและธุรกิจ “ซิโน-ไทย” จาก “ชวรัตน์ ชาญวีรกูล” เขาเป็นเจ้าของพรรคตัวจริง กุมทั้งอำนาจกุมทั้งกระเป๋าเงิน

พูดกันตามหน้าเสื่อ “ภูมิใจไทย” ยังไงก็ไม่ถึงพรรคอันดับหนึ่งหรือเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่อยู่ในฐานะตัวแปร ที่เอนเอียงไปทาง คสช. อย่างไรก็ตามว่ากันว่าหากสถานการณ์เหมาะสม ชื่อของ “อนุทิน” อาจสอดแทรกมาเป็น “นายกฯ” ได้ในฐานะคนกลาง

ขณะที่เลขาธิการพรรคนั้นต้องเป็นชื่อของ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” โดยมีเงาของ “เนวิน ชิดชอบ” อยู่เบื้องหลังและเป็นผู้เดินเกมทางการเมืองตัวจริง

.

7.ชาติไทยพัฒนา

หัวหน้าพรรค : วราวุธ ศิลปอาชา 100%

เลขาธิการพรรค : สิริพงษ์ อังคสกุลเกียรติ 100%

 

“มรดกเตี่ย” ทำให้ไม่ว่าอย่างไรพรรคชาติไทยพัฒนาก็เป็นของ “ลูกท็อป” วราวุธ ศิลปอาชา เพราะเมื่อสิ้นบุญ “บรรหาร ศิลปอาชา” เขาก็ได้เข้ามาทำงานพรรคอย่างเต็มตัว พร้อมเปิดอย่างไม่เหนียมว่าพร้อมจะเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค พร้อมขับเคลื่อนพรรคร่วมกับ “เลือดใหม่” ที่หลายคนค่อนแคะว่าเป็นเพียงทายาทอสูร เพราะแต่ละคนล้วนมิใช่มือใหม่ทางการเมือง หากแต่เป็นทายาทนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นตระกูล “เที่ยงธรรม” หรือตระกูล “ปริศนานันทกุล”

ส่วนเลขาธิการพรรคก็คงไม่หนีไปไหน เมื่อเจ้าของพรรคพูดชัดว่าวางไว้ให้ “โต้ง – สิริพงษ์ อังคสกุลเกียรติ” นักการเมืองและนักธุรกิจหนุ่มจากศรีสะเกษ ผู้ประสบความสำเร็จทางธุรกิจอย่างมหาศาล จนได้ฉายา “อายุน้อยร้อยล้าน” เป็นทั้งนักการเมือง นายกสมาคมกีฬาศรีสะเกษ และสนับสนุนการสร้างภาพยนตร์ “ไทบ้านเดอะซีรีส์” ด้วย

อย่างไรก็ตาม พรรคนี้ก็คล้ายพรรคภูมิใจไทย เมื่อไม่ได้หวังเป็นแกนนำ แต่วางตำแหน่งไว้ที่พรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งเอนเอียงไปทางผู้มีอำนาจปัจจุบัน แต่หลังการเลือกตั้งคะแนนเสียงจะเป็นคำตอบว่าจะเลือกทางไหน
.

8.พรรคประชาชนปฏิรูป

หัวหน้าพรรค : ไพบูลย์ นิติตะวัน 100%

เลขาธิการพรรค : มโน เลาหวนิช 100%

พรรคนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อเป้าหมายเดียว คือสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกฯ และตั้งโดยหัวหมู่ทะลวงฟันผู้ไม่สนเสียงวิพากษ์หรือเสียงติฉินจากสังคมอย่าง “ไพบูลย์ นิติตะวัน” โดยครั้งนี้เขาจับมือกับ “หมอมโน” เจ้าของฉายา “ธรรมกายกลับใจ”  เพราะเคยเป็นผู้ที่บวชในวัดพระธรรมกาย ต่อมาเป็นผู้แฉเรื่องในวัดและร่วมมือกับ “ไพบูลย์” ในยุทธการทลายวัดพระธรรมกาย

บทความโดย “อสรพิษ”

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า