SHARE

คัดลอกแล้ว

“เกม” กลายเป็นกีฬายอดนิยม ที่สร้างรายได้ให้กับนักกีฬาเกม หรือเกมเมอร์ และนักแคสเกม เหยียบหลักหมื่นหลักแสน ไม่นับรวมอาชีพและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเกมหรืออีสปอร์ต (E-Sport) ที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ต ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่สร้างรายได้ให้กับหลายประเทศจำนวนมหาศาล รวมถึงประเทศไทย สะท้อนจากตัวเลขการเติบโตของตลาดเกมในปัจจุบัน ที่มีมูลค่าสูงถึงแสนล้านเหรียญสหรัฐฯ

และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 2025 โดยตลาดใหญ่สุดของโลกคือ จีน รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา ในขณะที่ ประเทศไทย อยู่ในอันดับ ท็อป 20 ของโลก

เนื่องจากในเวลานี้ “เกม” ถือเป็นสิ่งที่มาแรงแซงโค้งตลาดสื่อดิจิทัล โดยเฉพาะเกมบนมือถือ ซึ่งเล่นได้ทุกที่ทุกเวลา รองลงมาคือเกมออนไลน์บนพีซี (PC Online) ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน ทำให้ตลาดเกมออนไลน์ทั่วโลกโตก้าวกระโดด ท่ามกลางความวิตกกังวลของพ่อแม่ที่ห่วงว่า “เกม” จะทำให้ลูกเสียการเรียน เสียสุขภาพ ขณะที่งานวิจัยในหลายประเทศระบุว่า เกมเป็นกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย เสริมสร้างทักษะด้านร่างกายและสมอง กระตุ้นเชาน์ปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ และปลูกฝังผู้เล่นให้มีน้ำใจนักกีฬา เช่นเดียวกับกีฬาชนิดอื่น

ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของ อัลเลน ซู ผู้จัดการอาวุโสด้านพันธมิตรทางธุรกิจเกม บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำตลาดเกมในประเทศไทย ระบุว่า ปี พ.ศ.2559 มูลค่าการเติบโตของตลาดเกมเมืองไทยอยู่ที่ 8.7 พันล้านบาท แบ่งเป็นเกมพีซี 5.6 พันล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 10% และเกมมือถือ (Mobile game) 3.1 พันล้านบาท ซึ่งเติบโตประมาณ 30% จากปีก่อนหน้า และปี พ.ศ.2560 เติบโตต่อเนื่อง โดยเกมพีซีโต 13% มูลค่า 6.3 พันล้านบาท และเกมมือถือเติบโตสูง 30% เพิ่มเป็น 4 พันล้านบาท

การเติบโตที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจเล็ก-ใหญ่หันมาลงทุนในตลาดเกมและอีสปอร์ตอย่างคึกคัก เช่น “การีนา” ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจเกม ที่เดินหน้าสนับสนุนกีฬาอีสปอร์ตของไทย โดยจัดการแข่งขันเกมในรายการต่างๆ เพื่อส่งเสริมนักกีฬาอีสปอร์ตของไทย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและระดับโลก

โดยเมื่อปลายปี พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา ได้ร่วมกับ กันตนากรุ๊ป เปิดตัวรายการ King of Gamers ในรูปแบบ E-Sports Reality ครั้งแรกของโลก เพื่อค้นหาสุดยอดนักกีฬาอีสปอร์ตดาวรุ่งไทย สู่การแข่งขันรายการเมเจอร์ลีกระดับประเทศและระดับนานาชาติ

นอกจากนี้ ยังร่วมกับ สถาบันการศึกษา เปิด หลักสูตรเกมอีสปอร์ต เพื่อผลิตคนป้อนอุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ต ที่ยังขาดแคลนจำนวนมาก เช่นเดียวกับ “กลุ่มทรู” ที่ร่วมทุนกับ Axion Ventures (แอกซิออน เวนเจอร์ส) จากแคนาดา ตั้งบริษัท True Axion Games เพื่อพัฒนาเกมมือถือ พร้อมเปิดสถาบันนักพัฒนาเกมมืออาชีพ “True Axion Academy” เอาใจคนทำเกม โดยเชิญอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญการทำเกมระดับโลกมาสอน ตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงระดับสูง ผู้ที่มีผลงานผ่านเกณฑ์ที่สถาบันกำหนดจะได้ร่วมงานกับ True Axion Interactive อีกด้วย โดยตั้งเป้าผลิตบุคลากรป้อนตลาด 800 คน ภายใน 3 ปี

ยังมีบริษัทผู้ผลิตเกมอีกมากที่กำลังขยายตลาด เพื่อรองรับเกมเมอร์และอีสปอร์ตฟีเวอร์ ไม่ว่าจะเป็น บมจ.ทีวีธันเดอร์ ที่ได้เปิดตัวบริษัทร่วมทุน ทริปเปิ้ลเอส อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด ให้บริการเกมออนไลน์ โดยได้ลิขสิทธิ์เกมซีรีส์ Neo MU จากบริษัท เว็บเซ็น ของเกาหลีใต้ เพียงผู้เดียวในประเทศไทย

อีกทั้งยังมีบริษัทเกมออนไลน์ของไทยอีกหลายเจ้า ที่ได้รับความนิยมจากนักเล่นเกม อย่างเช่น “Debuz” เจ้าของเกม “อสุรา” ซึ่งติดอันดับ 1 ใน 10 ของเกมออนไลน์ที่มีผู้นิยมเล่นมากที่สุดในประเทศ และเป็นเกมไทยที่สามารถช่วงชิงสัดส่วนทางการตลาดจากเกมออนไลน์นำเข้าได้สำเร็จ

เช่นเดียวกับ ARAYA เกมผีสุดหลอนที่สร้างโดยคนไทย ซึ่งเป็นทีมสร้างเดียวกับผู้พัฒนาเกม Hospital Haunted BE Lost ที่เขย่าขวัญเกมเมอร์ทั่วโลก และเป็น 1 ในเกมไทยที่ประสบความสำเร็จในตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับคนรุ่นใหม่ที่สนใจจะก้าวสู่อาชีพนี้ ทั้งในฐานะนักกีฬาเกม เจ้าของธุรกิจ และคนทำงานเบื้องหลัง

เกมเมอร์เฮ กกท.รับ eSports เป็นกีฬา

มหาวิทยาลัย เปิดหลักสูตรรับตลาด

การเติบโตของตลาดเกม และรูปแบบของการเล่นเกมที่เปลี่ยนจากการเล่นเพื่อ “เอาสนุก” มาเป็นกีฬาเกม หรืออีสปอร์ต ซึ่งมาจากคำว่า “Electronic Sports” เป็นเกมกีฬาที่มีกฎ กติกา ข้อบังคับ และมีรางวัลตอบแทนแก่ผู้ชนะ ที่สำคัญ เป็นกีฬาที่ก่อให้เกิดธุรกิจ และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องมากมาย สามารถสร้างเม็ดเงินไหลเวียนในธุรกิจเป็นหลักหมื่นล้านบาท

ข้อมูลจาก “สยามสปอร์ต” ระบุว่า ในปี 2016 อีสปอร์ตทำรายได้รวมทั่วโลกเป็นเงิน 493 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 16,000 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 696 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 23,000 ล้านบาท ในปี 2017 ส่วนความนิยมในแง่ของผู้ชมออนไลน์พบว่ามากกว่าแสนคน

จากกระแสความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและแพร่หลายไปทั่วโลก ทำให้ The Olympic Council of Asia (OCA) จึงเห็นชอบ บรรจุอีสปอร์ตลงในเอเชียนเกมส์ 2018 ซึ่งจะจัดที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในรูปแบบของกีฬาสาธิต ก่อนจะจัดการแข่งขันจริงเต็มรูปแบบในปี 2022 ที่เมืองหางโจว ประเทศจีน

ส่วนประเทศไทย คณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้เพิ่ม E-Sport เป็น 1 ในชนิดกีฬา และเห็นชอบให้อีสปอร์ตเป็นกีฬาที่สามารถจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมกีฬาได้ พร้อมกับเปิดโอกาสให้เยาวชนที่มีความสามารถ ได้เข้าร่วมแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติในนามของประเทศไทยแล้ว

ในขณะที่สถาบันการศึกษาทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศผู้นำตลาดเกมและอีสปอร์ต เดินหน้าผลิตคนป้อนตลาด  ไม่ว่าจะเป็น นักกีฬาอีสปอร์ต, โค้ช, ผู้จัดการทีม, ผู้จัดการแข่งขัน, กรรมการ, ผู้ดูแลเกม (Game Master), นักออกแบบเกม, นักพัฒนาเกม, แคสเตอร์เกม, นักพากย์ (Shoutcast), นักสร้างคอนเทนต์ และอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง เช่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายบัญชี แม้แต่ฝ่ายกฎหมาย เนื่องจากธุรกิจเกมเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น

เช่น มหาวิทยาลัย Chongqing Energy ประเทศจีน เปิดสอนวิชาที่เรียกว่า “Recent Development of Electronic Sports and Analysis of Dota” หรือ “พัฒนาการกีฬาอิเล็กทรอนิกส์และการวิเคราะห์ Dota”, โรงเรียนอาชีวศึกษา “Tokyo School of Anime” ของญี่ปุ่น เปิดหลักสูตร eSports เน้นการพากย์และการแข่งขันเป็นหลัก,  มหาวิทยาลัย Chung-Ang ในเกาหลีใต้ รวมทั้งมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศในยุโรปและอเมริกา เช่น ฝรั่งเศส นอร์เวย์ สวีเดน สหรัฐอเมริกา

สำหรับประเทศไทย มีมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนไม่ต่ำกว่า 8 แห่ง เปิดหลักสูตรเกม ผลิตบุคลากรป้อนตลาดเกมและอีสปอร์ตฟีเวอร์ เช่น  คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ “มหาวิทยาลัยกรุงเทพ” ร่วมกับ “การีนา” เปิด “หลักสูตรเกมและสื่ออินเทอร์แอ็กทีฟ” โดยมีมหาวิทยาลัย Full Sail University สหรัฐอเมริกาซึ่งมีชื่อเสียงด้านสาขา Game design  ร่วมพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ตั้งเป้าผลิตบุคลากรรองรับทุกสายงาน ที่เกี่ยวข้องกับตลาดเกมและอีสปอร์ต ตั้งแต่นักพัฒนาเกม, นักออกแบบเกม, การพัฒนาอินเทอร์แอ็กทีฟมีเดีย คอนเทนต์, เทรนด์ของธุรกิจเกมทั้งในประเทศและต่างประเทศ และฝึกงานจริงกับการีนา ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเกม การทำโปรเจ็กต์เกม โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านเกมเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา และพาไปศึกษาดูงานกับบริษัทผู้ผลิตเกม งาน อีเวนต์ รายการแข่งขันเกม และกีฬาอีสปอร์ตในรายการต่างๆ

อาจารย์พจนีย์ จันทรศุภวงศ์ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม ม.กรุงเทพ และที่ปรึกษาชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศและกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้คณะฯ จัดตั้งชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศและกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้นักศึกษาจากทุกคณะ เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมและการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ต และเร็วๆ นี้จะสร้างห้องนักกีฬาสำหรับฝึกซ้อม และส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันในแมตซ์ต่างๆ พร้อมกับผลักดันให้อีสปอร์ตเป็นที่ยอมรับในฐานะกีฬาประเภทหนึ่ง อย่างเช่น การรับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันอีสปอร์ตระดับอุดมศึกษา U-League Thailand 2017 เป็นการแข่งขันอีสปอร์ตในรูปแบบ VR ครั้งแรกของไทย โดยนักศึกษาสาขาเกมของ ม.กรุงเทพ คว้าแชมป์ Alienware Challenge Episode: Virtual Reality ในรายการนี้ด้วย

ขณะที่ คณะดิจิทัลมีเดีย “มหาวิทยาลัยศรีปทุม” เปิดสอน “สาขาวิชาการออกแบบอินเทอร์แอ็กทีฟและเกม” อยู่แล้ว ก็ได้ต่อยอดการเรียนการสอน โดยเน้นทั้งการพัฒนาเกมและพัฒนาคนในวงการเกม ตั้งแต่การเตรียมตัวฝึกซ้อมเพื่อเป็นนักกีฬา ผู้จัดการทีม นักพากย์เกม ผู้จัดการแข่งขัน หรือออร์แกไนเซอร์ ไปจนถึงการเป็นผู้บริหารในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเกม

พร้อมกับรีโนเวต ตกแต่งห้องเรียน คอมพิวเตอร์รองรับการแข่งขันเกมสเป็กสูง เกมมิ่งเกียร์ และระบบพากย์เกมที่ทันสมัย รองรับการเรียนการสอนสาขาวิชาอีสปอร์ตโดยเฉพาะ และอนาคตจะต่อยอดไปสู่การจัดการแข่งขันเกม ผ่านระบบ VR และ AR ที่กำลังได้รับความนิยมจากเหล่าเกมเมอร์อย่างมากในขณะนี้

โดยได้ 3 บริษัทใหญ่แห่งวงการเกมและอีสปอร์ต ได้แก่ การีนา, Twitch ซึ่งเป็นที่รู้จักของเหล่าเกมเมอร์ด้านการถ่ายทอดสด การแข่งขันกีฬาอีสปอร์ตและการ Live Streaming, Beyond God Likes และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟแวร์เกมไทย ร่วมจัดการเรียนการสอน ทั้งส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษา และรับนักศึกษาเข้าฝึกงาน  นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับประเทศจีน ไต้หวัน และรัสเซีย ส่งนักศึกษาไปเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การแข่งขันอีสปอร์ตในระดับนานาชาติ

ด้าน วิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์เทคโนโลยี  “มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์” เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต “สาขาการออกแบบเชิงตอบโต้และการพัฒนาเกม”(GT) เปิดสอน 3 แขนง ได้แก่ Game Development เน้นด้านการเขียนโปรแกรม แขนงที่2 คือ Game Design สำหรับนักออกแบบเกมกราฟิก และ Visual Effect จบแล้วสามารถไปทำงานด้าน Tools 2D, Illustrator ตัดต่อภาพยนตร์ และการทำแอนิเมชัน และแขนงที่ 3 คือ eSports Management เน้นนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับอาชีพ เช่น การแข่งขันกีฬาอีสปอร์ต, แคชเตอร์, การทำ Visual Effect

พร้อมส่งเสริมนักศึกษานำผลงานเข้าประกวดและจัดแสดงในเวทีต่างๆ เช่น งาน  SIGGRAPH Asia 2017, งาน  Digital Thailand Big Bang 2017 เพื่อสั่งสมทักษะและประสบการณ์ นอกจากนี้ ยังได้จัดแข่งขันเกมชิงทุนการศึกษาจำนวน 1 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมเยาวชนที่สนใจและต้องการจะเรียนต่อทางด้านเกมและอีสปอร์ต ได้มีโอกาสเข้ามาเรียนต่อ และสร้างความมั่นใจให้พ่อแม่ผู้ปกครองว่า เกมสามารถสร้างอาชีพได้

นอกจากนี้ ยังมีมหาวิทยาลัยไทยอีกหลายแห่งที่เปิดหลักสูตรเกมและอีสปอร์ต รองรับความต้องการของอุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ตของประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดสอนในสาขาวิชาคอมพิวเตอร์เกม มัลติมีเดีย,

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีดิจิเพน สหรัฐอเมริกา เปิดหลักสูตรเทคโนโลยีดิจิทัลแนวสร้างสรรค์ และหลักสูตรการออกแบบเชิงนวัตกรรมดิจิทัล หลักสูตรนานาชาติ ผลิตคนรองรับอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการสร้างเกม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดสาขาการพัฒนาสื่อประสมและเกม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดวิชาเอกการพัฒนาเกม ในสาชาวิชาเทคโนโลยีมีเดีย ส่วน มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดการเรียนการสอนการออกแบบเกมคอมพิวเตอร์ในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต

ความสำเร็จของเหล่าเกมเมอร์ไทย-เทศ ที่ฝึกฝนฝีมือจนสามารถคว้าแชมป์อีสปอร์ต กวาดรางวัลทั้งในระดับประเทศและระดับโลก เป็นคำตอบว่า “เกม” เป็นหนึ่งในอาชีพที่สร้างเงิน สร้างอนาคต

เหมือนดังที่นักเกมเมอร์มืออาชีพได้กล่าวไว้ว่า “เล่นเกมต้องไปให้สุด อย่าหยุดอยู่แค่เอามัน เอาสนุก”

 

บทความโดย: สิริลักษณ์ เล่า

ผู้สื่อข่าวอาวุโส เชี่ยวชาญด้านการศึกษา, อดีต บก.ฉบับพิเศษ บมจ.มติชน

———-

ขอบคุณภาพจาก pixabay, gamergreanredbullkitsugagamingroom

———-

อ่านบทความย้อนหลัง

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า