SHARE

คัดลอกแล้ว

ปี 2551 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยที่สำคัญอีกปีหนึ่ง เป็นปีที่มีผู้ดำรงตำแหน่งและทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ถึง 5 คน จาก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์, นายสมัคร สุนทรเวช, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์, นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล (รักษาการ) และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

การขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ เป็นอีกครั้งที่เกิดการตั้งรัฐบาลแบบชิงไหวชิงพริบ และเป็นครั้งที้่ 2 ของการเกิดตำนานงูเห่าในการเมืองไทย ซึ่งบางคนขนานนามให้ว่าเป็น อนาคอนด้าการเมืองไทย ด้วยซ้ำเพราะเป็นการพลิกขั้วกลับข้างแบบขนานใหญ่

ย้อนกลับไปช่วงต้นเดือน ธ.ค. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยุบพรรคพลังประชาชน จากคดีทุจริตเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้า ซึ่งมีผลให้กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี รวมทั้งนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปด้วย นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล (พ่อของนายอนุทิน ชาญวีรกูล แกนนำกลุ่มเพื่อนเนวิน) ซึ่งเป็นรองนายกฯ ในขณะนั้น ต้องทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี

จากการที่พรรคพลังประชาชนถูกยุบนี่เอง ได้มีการตั้งพรรคเพื่อไทยเพื่อรองรับสมาชิกที่ไม่ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง แต่ปรากฏว่าสมาชิกบางส่วนไม่ได้ย้ายตามไปด้วย ส่วนการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้เกิด 2 ขั้วที่พยายามวิ่งรวบรวมเสียงเพื่อชิงตำแหน่งนี้

พรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นฝ่ายค้าน ได้ติดต่อ 4 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม คือ ชาติไทย เพื่อแผ่นดิน (บางส่วน) มัชฌิมาธิปไตย รวมใจไทยชาติพัฒนา รวมไปถึง ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวินที่แตกออกมาจากพรรคพลังประชาชน เพื่อให้ได้เกิน 250 เสียง พร้อมจะชูนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรี

ส่วนขั้ว เพื่อไทย ที่รวมกับพรรคเพื่อแผ่นดินและประชาราช ได้ 228 เสียง พยายามแก้เกมดึงเสียงกลับมา โดยเสนอให้ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เจ้าของมือเดินเกมคนสำคัญในตำนานงูเห่าการเมืองภาคแรกที่ตอนนั้นสังกัดพรรคชาติไทย เป็นนายกรัฐมนตรี แลกกลับการสลับขั้วกลับมาแต่ก็ไม่สำเร็จ

ต่อมาจึงพยายามเสนอให้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ประธานที่ปรึกษาพรรคเพื่อแผ่นดินขึ้นเป็นนายกฯ เพื่อดึงเสียงกลับ

นายเนวิน ชิดชอบ กอดกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศสนับสนุน จัดตั้งรัฐบาล

ที่สุดนายเสนาะ เทียนทอง แห่งพรรคประชาราช แก้เกมครั้งสุดท้าย ด้วยข้อเสนอเชิญพรรคร่วมรัฐบาลเดิมกลับมาจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติร่วมกัน แต่สายไปแล้ว เมื่ออีกขั้ว ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์เป็นมือประสาน เดินเกมไปไกลถึงแถลงการทำงานร่วมกัน เมื่อ 9 ธ.ค. โดยมีภาพการกอดกันของนายเนวิน ชิดชอบ หัวหน้ากลุ่มเพื่อนเนวิน กับนายอภิสิทธิ์ ระหว่างที่พรรคประชาธิปัตย์นำคณะเข้าพบเพื่อขอบคุณที่มาร่วมรัฐบาลกันโรงแรมสยามซิตี เป็นภาพจำจนถึงทุกวันนี้

 

นายสุเทพ เปิดเผยถึงการเดินเกมจัดตั้งรัฐบาลในเวลาต่อมาในหนังสือที่ออกมาเมื่อครั้งการชุมนุม กปปส. รวมทั้งได้นำมากล่าวซ้ำอีกหลายครั้งระหว่างการปราศรัยหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 62 ว่า เป็นการสร้างปาฏิหาริย์เปลี่ยนขั้วการเมือง ที่แม้แต่ นายชวน หลีกภัย บุคคลสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ ถึงกับพูดกับนายสุเทพในตอนนั้นว่า คุณสุเทพมาพูดในเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อมาขออนุญาตแบบนี้ก็คงไม่มีเงื่อนไขอะไรที่จะไม่อนุญาต

“กำนันสุเทพ” สร้างตำนานงูเห่าการเมือง ภาค 2 โดยเริ่มต้นประสานกับนักการเมืองกลุ่ม 16 ที่กระจายอยู่ในพรรคต่างๆ ทีละคน เช่น นายเนวิน ชิดชอบ, นายสุชาติ ตันเจริญ นายสรอรรถ กลิ่นประทุม รวมไปถึงหัวหน้าพรรคอื่น เช่น นายบรรหาร ศิลปอาชา (ชาติไทย), นายสุวิทย์ คุณกิตติ (เพื่อแผ่นดิน) นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ (รวมใจไทยชาติพัฒนา) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน (มัชฌิมาธิปไตย)

คนแรกที่เขาเลือกคุยด้วย คือ นายเนวิน ชิดชอบ ที่เพิ่งแตกออกมาจากพรรคพลังประชาชน โดยนายสุเทพ ระบุว่า เขารู้ว่านายเนวินที่สนิทกับนายสมัคร สุนทรเวช ไม่พอใจพรรคพลังประชาชน (ก่อนถูกยุบ) ที่ไม่เสนอชื่อนายสมัคร กลับไปลุ้นนายกฯ อีกครั้งหลังหลุดจากตำแหน่งเพราะกรณีการไปเป็นพิธีการรายการชิมไปบ่นไป แต่ไปเสนอชื่อนายสมชาย

ภาพจาก FB สุเทพ เทือกสุบรรณ

นายสุเทพ บินไปอังกฤษไปดักเจอนายเนวิน ตอนที่ทั้งคู่ส่งลูกไปเรียนต่อ แล้วนัดเจอกันที่ร้านนาฬิกาในลอนดอน ทำทีเป็นเลือกนาฬิกาไปคุยกันไปจนโน้มน้าวได้สำเร็จ

ส่วนอีกคนที่นายสุเทพ ต้องออกแรงมากเป็นพิเศษคือ นายบรรหาร ศิลปอาชา ที่เคยกรณีถูกพรรคประชาธิปัตย์อภิปรายไม่ไว้วางใจสมัยเป็นนายกรัฐมนตรีโดยใช้ข้อมูลเท็จ นายบรรหารยื่นเงื่อนไขให้นายสุเทพ ต้องได้คำยืนยันจากกองทัพว่าจะยอมรับรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะจัดตั้ง แม้นายสุเทพ จะแจ้งว่าคุยแล้วทหารขอยึดหลักมีวินัย ถ้าเป็นรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายก็ไม่มีปัญหา จึงเป็นที่มาของการพานายไปบรรหาร ไปพบกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ในขณะนั้น ในกรมทหารราบที่ 1

นายสุเทพ เล่าวว่า ตอนที่กำลังจะเปลี่ยนรถเข้าไปในพื้นที่ทหารปรากฏว่ามีสื่อมวลชนเก็บภาพไว้ได้ จนกลายเป็นที่มาของคำว่า ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร แต่นายสุเทพ ยืนยันว่า ดีลทุกอย่างลงตัวก่อนหน้านั้นแล้ว (และต่อมาเมื่อตั้งรัฐบาลก็มีการเชิญ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาเป็นรัฐมนตรีกลาโหม)

ส่วนฝั่งกองทัพเองก็ปฏิเสธเรื่องการเข้าไปร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผยว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังการจับขั้ว แต่ยอมรับว่า วันที่ 5 ธ.ค.มีกลุ่มนักการเมืองมาปรึกษาหารือด้วยจริง

การเดินเกมทั้งหมดของนายสุเทพ ปรากฏเป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา นัดหมายเลือกนายกฯ คนใหม่ ผลการโหวตฝ่ายประชาธิปัตย์ได้ 235 เสียง จากประชาธิปตย์ 163 เสียง, สมาชิกพรรคพลังประชาชนเดิม 33 เสียง (ทั้งกลุ่มเพื่อนเนวิน กลุ่มนายสุวิทย์ คุณกิตติที่แยกไปพรรคกิจสังคมและอื่นๆ), รวมใจไทยชาติพัฒนา 5 เสียง, มัชฌิมาธิปไตยเดิม 8 เสียง, เพื่อแผ่นดิน 12 เสียงและ ชาติไทยเดิม 14 เสียง

ส่วนฝั่งพรรคเพื่อไทยที่ชู พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก จากพรรคเพื่อแผ่นดินเป็นนายกฯ ได้ 198 เสียง จาก พรรคของตนเอง (พลังประชาชนเดิม) 178 เสียง, รวมใจไทยชาติพัฒนา 2 เสียง, มัชฌิมาธิปไตยเดิม 3 เสียง, ประชาราช 5 เสียง,เพื่อแผ่นดิน 9 เสียง และชาติไทยเดิม 1 เสียง

นายอภิสิทธิ์ จึงขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของประเทศไทย ด้วยการเดินเกมของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ

แต่ในการฟอร์มคณะรัฐมนตรี “อภิสิทธิ์1” พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นแกนนำ ต้องตอบแทนค่าสลับขั้วไปไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มเพื่อนเนวิน ที่ต่อมาย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย ที่ได้ดูแลกระทรวงเกรดเอทั้ง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม และตำแหน่ง รมช.เกษตร จนถึงขั้นเกิดศึกย่อมๆ ในพรรคจากเหล่าคนเก่าแก่ในพรรคประชาธิปัตย์ ที่พลาดเก้าอี้รัฐมนตรี

เช่น นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ที่หลุดโผ รมต.สำนักนายก เพราะนายสุเทพ นำชื่อนายวีระชัย วีระเมธีกุล บุตรเขยซีพีมาเสียบแทน, กลุ่มชลบุรี ที่นำโดยนายประมวล เอมเปีย ก่อนที่ภายหลัง นายสุเทพ ในฐานะผู้จัดการรัฐบาลจะยืนยันว่าเคลียร์ทุกอย่างแล้ว

สิ่งที่กลายเป็นตำนานอีกอย่างจาก งูเห่าการเมือง ภาค 2 คือ วลี “ทุกอย่างจบแล้วครับนาย” จากปากนายเนวิน ชิดชอบ ที่ตอบกลับสายโทรศัพท์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่โทรมาตำหนิว่าไม่สำนึกบุญคุณ

หลายปีต่อมาในหนังสือ “มีรู…มีหนู” นายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่เคยเข้ามาแจงเกิดในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข และช่วยพาณิชย์ ในยุครัฐบาลทักษิณ ก่อนจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองตอนพรรคไทยรักไทยถูกยุบ เล่าถึง การการร่วมกับนายเนวินที่เขาถือเป็นพี่ชายต่างสายโลหิต แยกตัวมาจากฝ่ายทักษิณ นำกลุ่มเพื่อนเนวิน 23 คน ย้ายขั้วการเมืองไปสนับสนุนนายอภิสิทธิ์เป็นนายรัฐมนตรีว่า

เขามองว่าการเมืองตอนนั้นถึงทางตันแล้ว ต้องตัดสินใจเพื่อประเทศ ต้องมีนายกฯ ที่คนรับได้ไม่ใช่เอาใครก็ได้ที่อุปโลกน์ขึ้นมา อนุทิน เผยว่า เขารู้ว่า ตอนนั้นทักษิณคงโกรธแต่เขาไม่มีทางเลือก

หลังยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ การเลือกตั้งครั้งต่อมาเมื่อปี 2554 พรรคภูมิใจไทยของเขาพ่ายพรรคเพื่อไทยยับเยิน เป้าหมายสูงสุด 70 ที่นั่ง ได้เพียง 34 ที่นั่ง สิ่งที่เขาตัดสินใจทำหลังจากนั้น คือ การบินไปปรับความเข้าใจกับ ทักษิณ ชินวัตร จนเคลียร์ใจกันได้สำเร็จ

ตามหลักของเขาที่ต้องการทำงานการเมือง โดยไม่ต้องการเป็นศัตรูกับใคร

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง 

ย้อนตำนานงูเห่าการเมืองไทย ภาค 1

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า