พายุโซนร้อนปาบึกยังไม่ส่งผลกระทบชายฝั่งทะเลภูเก็ต ขณะที่ท่าเรือประมงภูเก็ตประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการประมงพาณิชย์ ติดตามประกาศจากทางการอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินสถานการณ์วันต่อวัน โดยการนำเรือออกไปแต่ละครั้งให้อยู่ในดุลยพินิจและภายใต้ความปลอดภัย
เช้าวันนี้ (3 ม.ค.62) ภายหลังกรมอุตุนิยมวิทยามีประกาศเตือนผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึก ซึ่งจะเข้าปกคลุมภาคใต้ของประเทศไทย ในช่วงวันที่ 3-5 ม.ค. 2562 และจากการลงพื้นที่สำรวจบริเวณชายหาดต่างๆ ใน จ.ภูเก็ต พบว่าสภาพคลื่นลมยังคงปกติ ในขณะที่บริเวณท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต หรือองค์การสะพานปลาภูเก็ต ที่ ต.รัษฎา อ.เมือง จุดที่เรือประมงพาณิชย์นำสัตว์น้ำมาขึ้น เพื่อจำหน่ายให้กับพ่อค้าและแม่ค้า โดยบรรยากาศยังคงเป็นไปด้วยความคึกคัก มีเรือเข้ามาจอดเทียบท่าเป็นจำนวนมาก
และในช่วงเย็นวันเดียวกันนี้ ก็จะขอตรวจสอบสภาพอากาศก่อนว่าจะเป็นเช่นใด เพราะเกรงจะได้รับผลกระทบจากพายุลูกดังกล่าว ประกอบกับทางสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต ได้มีประกาศเตือนให้ชาวเรือ ผู้ควบคุมเรือ เจ้าของเรือหรือผู้ประกอบการเดินเรือ ให้ใช้ความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 5 ม.ค.
ไต๋ปุ๊ก ไต๋เรือเทพศิริพร 12 กล่าวว่าในส่วนของตนได้ติดตามประกาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิด แต่ขณะนี้จังหวัดภูเก็ตมีเพียงการเตือนให้ระมัดระวังในการเดินเรือ และเท่าที่ตรวจสอบกับเรือที่ยังทำประมงอยู่กลางทะเลในฝั่งของจังหวัดภูเก็ต ตอนนี้คลื่นลมยังปกติ อากาศโปร่งสบาย แต่ก็ไม่มั่นใจเหมือนกันว่าจะมีความแปรปรวนเกิดขึ้นตอนไหน
หากออกไปอยู่กลางทะเลและเกิดปัญหาขึ้นก็คงต้องใช้วิธีการหาเกาะเพื่อหลบภัย แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าลมจะพัดมาทางทิศทางใด ดังนั้นก่อนออกเรือทุกครั้งก็จะมีการติดตามรายงานสภาวะอากาศเพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหา
ขณะที่นายกรกฎ เภรีภาส หัวหน้าท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต กล่าวว่าหลังจากที่มีประกาศเตือนเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากพายุโซนร้อนปาบึก ในส่วนของท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต ได้มีการทำประชาสัมพันธ์ให้กับทางผู้ประกอบการเรือได้รับทราบแล้ว และขอให้ติดตามข่าวสารของทางราชการอย่างใกล้ชิด รวมทั้งให้มีการประเมินสถานการณ์วันต่อวัน โดยการตัดสินใจนำเรือออกไปแต่ละครั้งให้อยู่ในดุลยพินิจและภายใต้ความปลอดภัย
“ในส่วนของวันนี้ (3 ม.ค.) มีเรือที่กลับเข้ามาฝั่งแล้วบางส่วน และยังเหลือบางส่วนที่ยังทำประมงอยู่ ซึ่งทางผู้ประกอบการและไต๋เรือจะทำการประเมินสถานการณ์อีกครั้งว่า จะยังคงทำประมงต่อหรือนำเรือกลับเข้าฝั่ง รวมทั้งในส่วนของเรือที่เข้ามาจอดเทียบท่าแล้วว่า จะนำเรือออกไปหรือไม่อย่างไร โดยในสภาวะปกติเรือประมงพาณิชย์ทุกประเภท เช่น อวนลาก อวนล้อมจับ เป็นต้น จะเข้ามาจอดเทียบท่าวันละประมาณ 20-30 ลำ” นายกรกฎ กล่าว