SHARE

คัดลอกแล้ว

สามเรื่องที่เป็นประเด็นที่ถูกจับตาโดยสังคมในขณะนี้มีจุดเชื่อมโยงกันอยู่สิ่งหนึ่ง และกำลังสะท้อนภาวะที่น่าตื่นตระหนกเป็นอย่างยิ่ง  สภาวะที่เป็นสัญญาณของ “รัฐล้มเหลว” ได้อย่างแจ่มชัด

ประเด็นแรกคือ “ป้าทุบรถ”  เรื่องนี้เป็นเรื่องของ น.ส.บุญศรี แสงหยกตระการ เจ้าของบ้านในซอยหมู่บ้านเสรีวิลล่า แยก 2 ที่สุดทนหยิบขวาน หยิบเสียม มาทุบรถที่จอดขวางหน้าบ้าน สืบค้นไปมาทำให้ทราบว่าอะไรเป็นแรงจูงใจที่ทำให้เธอต้องทำเช่นนี้

นั่นเพราะบริเวณที่เธออยู่นั้นเกิดตลาด ทั้งตลาดนัด ตลาดสด ผุดรอบตัวบ้านสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่เจ้าของบ้าน ที่ดูเหมือนจะกระทบมากที่สุดคือมีคนมาจอดรถขวางทางเข้าบ้านเธออยู่บ่อยครั้ง จนกลายเป็นความอัดอั้น

เรื่องราวยาวขึ้นพบว่าสิ่งที่เธอกระทำนั้นเป็นเพียงปลายเหตุ เพราะเธอได้ต่อสู้ในทุกทาง โดยเฉพาะกับเจ้าหน้าที่รัฐ กับกระบวนการทางกฎหมาย แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครสามารถช่วยเธอได้ เธอยังต้องพบกับเหตุการณ์เช่นนี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แม้ขึ้นป้ายจนเต็มหน้าบ้าน แต่ก็ยังถูกละเมิดทั้งจากคนซื้อ คนขาย และเจ้าของตลาด โดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถทำอะไรได้

สุดท้ายเรื่องฮือฮาจึงเกิดขึ้น แน่นอนว่าทุกคนรู้ว่าสิ่งที่เธอกระทำนั้นเป็นความผิด แต่ก็ยังเลือกที่จะยืนอยู่ข้างเธอ เพราะเข้าใจหัวอกคนที่ถูกกระทำแต่ไม่สามารถปกป้องสิทธิตัวเองได้ ซ้ำร้ายเมื่อเหตุบังเกิด ตอที่เคยอยู่ใต้น้ำก็ผุดขึ้นมาบนดิน แม้แต่การจดทะเบียนตลาดก็ทำอย่างไม่ถูกต้อง แต่ก็เปิดขายกันอย่างเป็นปกติ

 

ประเด็นที่สองคือ การเข้าป่าล่าสัตว์ของ  “พรานบรรดาศักดิ์”  เมื่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไปพบ “นายพรานหมื่นล้าน” พร้อมลูกน้องตั้งแคมป์พักแรมอยู่ในเขตป่าสงวน “ทุ่งใหญ่นเรศวร” และเมื่อตรวจไปตรวจมาก็ถึงกับผงะเพราะพบว่า “คณะนักท่องเที่ยว” ไม่รู้เที่ยวอย่างไร แต่มีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง ทั้งไก่ฟ้าหลังเทาและเสือดำ

เรียกว่าถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาๆ หลักฐานขนาดนี้ สำนวนก็ทำไม่ยาก ไม่ซับซ้อน และปลายทางคดีน่าจะเห็นชัด

โลกออนไลน์สืบสาวราวเรื่องพบว่า พฤติกรรมของ  “เจ้าสัวนักล่า” ไม่ธรรมดาและไม่น่าจะเคยทำมาแค่ครั้งเดียว ซ้ำเมื่อไปตรวจบ้านก็มีส่วนที่ทำให้เชื่อได้ว่า “ไลฟ์สไตล์” นั้นสร้างความบันเทิงให้ชีวิตด้วยการ “เข้าป่าล่าสัตว์” ประหนึ่งอยู่ในนวนิยายโบร่ำโบราณ

แต่เวลาผ่านไปสังคมเริ่มทำใจว่าอาจจะเอาผิดไม่ได้ เพราะไม่ว่าจะดูไปทางไหนก็ดูติดขัดไปเสียทั้งหมด โดยทีมทนายยกข้อต่อสู้มาหักล้างได้เกือบทั้งหมด โดยเฉพาะการอ้างถึงพยานหลักฐานที่ไม่ได้ชี้ชัดว่าเขาเป็นคน “เหนี่ยวไก” ทั้งๆ ที่เป็นหัวหน้าคณะ

ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อสืบลึกเข้าก็พบว่า คำสั่งที่อนุญาตให้เข้าไป กลับเป็นคำสั่งของคนใหญ่คนโตภายใต้ชื่อ “แขกของนาย” และติดต่อโดยที่ปรึกษาของบริษัทเจ้าสัวที่เคยเป็นผู้ใหญ่ในกรมป่าไม้ ทำให้คนตั้งคำถามว่า นี่หรือคือผู้ที่มีหน้าที่รักษาป่า

.

และประเด็นที่สามคือ เรื่อง “นาฬิกาหรู” ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่วันนี้แทบไม่ต้องเท้าความแล้วว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร

แม้สังคมตั้งคำถามเพียงใด แต่ในทางกระบวนการกฎหมายและผู้มีอำนาจ ดูเหมือนจะมีทางออกสำหรับ “พี่ใหญ่” ของ “รัฐบาล” เสมอ

สิ่งที่สังคมสงสัยคือ ดูเหมือนผู้มีหน้าที่และมีอำนาจโดยตรงกลับไม่ใส่ใจ ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช. หรือ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา”  ที่แสดงท่าทีชัดเจนว่าอยู่เคียงข้าง “พี่ใหญ่” ไม่ว่าจะเป็นการบอกให้สื่อลดราวาศอก

หรือล่าสุด เมื่อประธานคณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ทำหนังสือถึงนายกฯ แสดงความกังวลเรื่องดังกล่าว แต่ปรากฏว่าแทนที่จะได้รับการตอบสนอง นายกฯ กลับตอกย้ำท่าที โดยบอกว่า “อย่าทำให้มันวุ่นวาย”

และกรณี น.พ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ที่ออกมาวิจารณ์ สุดท้ายก็ต้องออกมาขอโทษ

.

เมื่อทำอะไรไม่ได้สังคมก็ต้องออกมาเคลื่อนไหวด้วยตัวเองและแสดงความสิ้นหวัง

.

ท่านผู้อ่านคงเริ่มจับได้แล้วว่าจุดเชื่อมโยงของทั้งสามประเด็นคืออะไร

จุดเชื่อมโยงที่ว่าคือ การที่กฎหมาย กระบวนการตรวจสอบ และกระบวนการยุติธรรม ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมได้ ประชาชนไม่เชื่อในศักยภาพของกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายที่เป็นอยู่

ถ้าตำรวจและเจ้าหน้าที่เขตช่วยดูแล “ป้า” ไม่ให้ถูกละเมิดแต่แรก เธอก็คงไม่ต้องออกมาเรียกร้องด้วยความรุนแรง

ถ้าผู้ใหญ่กรมป่าไม้เข้มงวด ไม่เปิดทางคณะนักล่าด้วยตัวเอง  ขณะที่กระบวนการทางกฎหมายเดินหน้าเอาผิดกับ “พรานบรรดาศักดิ์” อย่างจริงจัง  ชาวบ้านคงไม่สิ้นหวังขนาดนี้

เรื่อง “นาฬิกาหรู” ประชาชนก็ไม่เชื่อในระบบตรวจสอบของรัฐ รวมถึงผู้นำที่ไม่มีทีท่าว่าจะเอาจริงเอาจังกับข้อสงสัย ถึงวันนี้ไม่มีใครเชื่อแล้วว่าการปราบคอร์รับชั่นเป็นเป้าหมายของรัฐบาล และการเคลื่อนไหวก็ไม่ได้หวังพึ่ง “รัฐ” อีกต่อไป หากแต่เคลื่อนไหวในรูปแบบของตนเอง

.

นี่คือสัญญาณอันตรายยิ่ง เพราะประชาชนเริ่มมองว่ากฎหมายไม่ใช่สิ่งที่สามารถอำนวยความยุติธรรมหรือรักษาสิทธิของพวกเขาไม่ให้ถูกละเมิด กฎหมายที่อ้างขึ้นมากลับถูกเลือกใช้กับคนเฉพาะกลุ่ม และถูกละเลยไม่นำมาใช้ในคนบางกลุ่ม และหากความเชื่อนี่ขยายออกไปเรื่อยๆ ประชาชนก็จะลงมือลงแรงปกป้องการละเมิดด้วยตัวเอง

นั่นหมายถึงระบบยุติธรรม และหลักการของกฎหมาย ที่เป็นเหมือนเสาค้ำยันบ้านเมืองได้ล่มสลายลงอย่างสิ้นเชิง ภาพกลียุคก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป

ลองหลับตานึกว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากคนลุกมาทำเช่น “ป้าทุบรถ” กันทุกคน และคนที่ถูกทุบรถก็ลุกขึ้นสู้ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนลุกขึ้นตามล่าคนล่าสัตว์ และคนล่าสัตว์ลุกขึ้นตอบโต้ จะเกิดอะไรถ้าคนลุกฮือต่อต้านคนทุจริตที่ถืออำนาจ และอำนาจสวนคืนด้วยความรุนแรง

หากปล่อยไปและไม่ดึงประเทศของเรากลับสู่หลัก “นิติรัฐ-นิติธรรม” เรื่องราวเช่นนี้จะเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า รากฐานของบ้านเมืองจะพังทลายเกินกว่าจะกู้คืน

เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่ความผิดพลาดของตัวบุคคล หรือเป็นเรื่องความไม่ดีที่เกิดขึ้นเฉพาะตัว หากแต่เกิดจากความล่มสลายของหลักการที่ถูกกระทำโดยระบอบ

—–

บทความ โดย “อสรพิษ”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า