นักเรียนรวมกลุ่มกันยื่นเรื่องร้องศาลปกครองกลางขอให้เลื่อนการสอบ TCAS หลังมีการกำหนดสอบติดต่อกันหลายวิชาและบางโรงเรียน
วันที่ 17 มี.ค.2564 นักเรียนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันเดินทางไปที่ศาลปกครองกลางพร้อมกับผศ.ดร.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรค รวมถึงทนายความ เพื่อยื่นศาลปกครองกลางขอให้ไต่สวนฉุกเฉิน กรณีการออกประกาศขององค์กรด้านการศึกษาให้ยืนยันการสอบ TCAS ตามกำหนดการเดิม โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านการเตรียมความพร้อมของเด็กและการระบาดของโควิด-19
น.ส.พรปวีณ์ ผู้ฟ้องคดีร่วมกับเพื่อนนักเรียนรวม 6 คน กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องมาฟ้องคดีต่อศาลในครั้งนี้ว่า ระบบการสอบคัดเลือกกลางเพื่อเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาของนักเรียนชั้น ม.6 นั้น ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า ผู้ที่จะเข้าสอบต้องเป็นผู้ที่อยู่ในชั้นเรียนจนจบการศึกษาชั้น ม.6 แต่เนื่องจากเมื่อปลายปี 2563 ถึงปัจจุบันได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ต้องมีการปิดเรียนเป็นเวลาเกือบหนึ่งเดือน ทำให้โรงเรียนต่างๆ ต้องเลื่อนการสอบปลายภาคประจำปีการศึกษา 2563 ออกไป
ดังนั้น ผู้ที่รับผิดชอบในการจัดสอบ TCAS จึงควรเลื่อนการกำหนดการสอบที่กำหนดไว้ตั้งแต่ 30 ก.ค. 63 ออกไปก่อน เพื่อให้นักเรียนชั้น ม.6 ได้สอบเสร็จ และจบการศึกษาก่อน หลังจากนั้นเข้าสอบ TCAS ซึ่งในปีการศึกษาที่ผ่านมา จะมีการกำหนดช่วงเวลาการสอบ TCAS ห่างจากการสอบปลายภาคของนักเรียนชั้น ม.6 ประมาณ 2 สัปดาห์
ผู้ฟ้องคดีกล่าวว่า การที่ไม่มีการเลื่อนสอบทำให้การสอบปลายภาคของนักเรียนและการสอบ TCAS ต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายวัน และบางโรงเรียนต้องมีการเริ่มสอบ TCAS ก่อนที่เด็กจะสอบปลายภาค กลุ่มตนเองจึงเห็นว่าการไม่เลื่อนสอบออกไป และให้มีการสอบตามกำหนดการเดิมเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ และยังส่งผลกระทบต่อนักเรียนที่ต้องมีภาระในการสอบติดต่อกันหลายวัน ซึ่งตนเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้ร่วมกันยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในครั้งนี้ และจะขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวโดยให้มีการชะลอการสอบ TCAS ออกไปก่อน 1 ถึง 2 สัปดาห์ หลังจากที่มีการสอบปลายภาคของนักเรียน ม.6 เสร็จสิ้นแล้ว และก่อนหน้านี้เคยเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2564 แล้ว โดยมีนักเรียนที่สนับสนุนให้มีการเลื่อนสอบเกือบหนึ่งหมื่นคน ซึ่งได้ส่งรายชื่อดังกล่าวเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลด้วยแล้ว
ผศ.ดร.อรุณี กล่าวว่า หากดูจากตารางสอบของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปี 2564 พบว่ามีการจัดสอบติดต่อกันมากกว่า 30 วิชา ในช่วงเวลา 22 วัน ทั้งการสอบ GAT, PAT, ONET, TCAS และ 9 วิชาสามัญ ขณะที่ระหว่างนั้นยังมีการสอบโควต้าเข้าสาขาวิชาแพทย์ชนบท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับภูมิภาคอย่างภาคอีสานยังมีการสอบสมรรถนะของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ต้นเดือนเมษายนยังมีการสอบวิชาเฉพาะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ(มจพ.) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยศิลปากร ขณะที่โรงเรียนบางแห่งยังมีการจัดสอบปลายภาคด้วย