ประเด็นคือ – สภาวิศวกร ยืนยัน ไทยขาดแคลนเฉพาะวิศวกรระบบราง หลังนักลงทุนญี่ปุ่นห่วงกระทบลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน นายจ้างเอกชน เผยสาเหตุ เพราะบางส่วนย้ายไปทำงานกับภาครัฐที่ปรับเงินเดือนให้สูงขึ้น
กรณีไทยผลักดันโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี และขยายการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ มีเสียงสะท้อนจากนักลงทุนญี่ปุ่น กังวลว่าไทยจะมีวิศวกรไม่เพียงพอ โดยนายฮิโรยูกิ อิชิเกะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร แสดงความเป็นห่วงว่า ไทยอาจประสบปัญหาขาดแคลนวิศวกร ซึ่งจะกระทบกับการลงทุนในอนาคตเนื่องจากได้รับการแจ้งจากบริษัทญี่ปุ่นว่า กำลังประสบกับการจ้างงานวิศวกรไทย จึงต้องการให้ไทย เร่งพัฒนาบุคลากรด้านนี้
ด้านผู้จัดการโครงการสามย่าน มิตรทาวน์ ระบุว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐ ปรับอัตราค่าจ้างและให้ผลตอบแทนสูงใกล้เคียงกับเอกชน โดยปริญญาตรีเริ่มต้นเดือนละ 15,000 บาท ขณะที่ภาคเอกชน 18,000 บาท ทำให้วิศวกรบางส่วน ไปทำงานกับภาครัฐเพิ่มขึ้น
ขณะที่ศาสตราจารย์อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร ระบุว่า ในภาพรวมประเทศไทยไม่มีปัญหาขาดแคลนวิศวกร ยกเว้นบางด้าน เช่น วิศวกรระบบราง ที่ต้องเร่งพัฒนาบุคลากร รองรับการลงทุนของภาครัฐ และผลักดันให้ได้รับใบอนุญาต และปรับจากระดับ ภาคีวิศวกร เป็นสามัญวิศวกร และวุฒิวิศวกร ปัจจุบันประเทศไทย มีวิศวกรที่ขึ้นทะเบียน และได้รับใบอนุญาตจากสภาวิศวกรทั่วประเทศ ประมาณ 1 แสน 5 หมื่นคน ส่วนวิศวกรที่ไม่ได้รับใบอนุญาต มีกว่า 1 แสนคน