ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไป บุหรี่ในประเทศจะปรับราคาขึ้นจากซองละ 60 บาท เป็น 90 บาท ตามเงื่อนไขพระราชบัญญัติสรรพสามิตฉบับใหม่ โดยไม่มีการเลื่อน หรือ ทบทวน ท่ามกลางแรงกดดันจากเกษตรกร ใบยาสูบ และสัญญาณปัญหาบุหรี่เถื่อนทะลักเข้าประเทศ
วันที่ 10 ก.พ. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าของร้านโชว์ห่วย ย่านวิภาวดีรังสิ ขายบุหรี่มานานกว่า 30 ปี เผยยุคนี้คือยุคที่ยากลำบากที่สุด หลังยอดขายบุหรี่ ตกต่ำกระทั่ง บุหรี่บางยี่ห้อ ที่เคยขายดิบขายดี กลายเป็นขายไม่ออก จนบุหรี่ใกล้ขึ้นรา จึงตัดใจขายต่ำกว่าทุน เพื่อให้ได้เงินกลับมาหมุนในร้านบ้าง
อำภา กอเกียรติสกุล เจ้าของร้านโชว์ห่วย กล่าวว่า ยอดขายบุหรี่ไทยลดลงมากกว่าร้อยละ 70 แต่ยังพอขายบุหรี่นอก และยาเส้น ได้บ้าง แต่เริ่มประสบปัญหาบุหรี่นอกขาดตลาด หลังมีข่าวเตรียมปรับภาษีบุหรี่ขึ้นอีกรอบ แพงขึ้นไม่น้อยกว่า ซองละ 30 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562
ซึ่งบุหรี่นอก เริ่มครองส่วนแบ่งตลาดบุหรี่ในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่บุหรี่ไทย การยาสูบแห่งประเทศไทย ผลิตและขายได้ลดลงกว่าร้อยละ 25 ถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดเหลือร้อยละ 59 จากที่เคยเป็นเจ้าตลาด ครองอยู่ร้อยละ 79
การปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่รอบนี้ ทำให้ นางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย ประเมินว่า อาจกระทบยอดขาย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 จึงไม่รับซื้อใบยาจากเกษตรกร ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป
เงื่อนไขในกฎหมายสรรพสามิตฉบับใหม่ ซึ่งกำหนดให้บุหรี่ทุกราคา ถูกเก็บภาษีเท่ากันหมด ซึงอธิบดีกรมสรรพามิต ยอมรับว่า อาจกระทบการยาสูบแห่งประเทศไทย แต่ขณะนี้ ยังไม่มีนโยบายเลื่อนการบังคับ ขณะเดียวกันกรมสรรพามิต กำลังเร่งศึกษาอัตราภาษียาเส้นใหม่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปก่อนเดือนกันยายน
ในปีงบประมาณ 2561 การยาสูบแห่งประเทศไทย มียอดขายบุหรี่ ลดลงกว่า 1 หมื่นล้านมวน อาจสะท้อนภาพนักสูบบางส่วน ปรับพฤติกรรมตามโครงสร้างภาษีใหม่
แต่บริษัท วิจัย นิลสัน รายงานข้อมูลเมื่อต้นปี 2561 พบซองบุหรี่เปล่า กว่า 1 หมื่นซอง เป็นบุหรี่ ที่ไม่ติดแสตมป์สรรพสามิต หรือ บุหรี่เถื่อน ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6
หลักฐานนี้ อาจเป็นส่วนหนึ่งยืนยันว่า ยังคงมีบุหรี่เถื่อน ปะปนในท้องตลาด ไม่น้อยกว่า 100 ล้านซอง โดยเฉพาะจังหวัดตามแนวชายแดน ซึ่งสร้างความเสียหายภาครัฐ ในปีนั้น ไม่น้อยกว่า 3 พัน 6 ร้อยล้านบาท