SHARE

คัดลอกแล้ว

ปรากฏการณ์ “แหวนเพชรแทงตา – นาฬิกาแทงใจ”  สร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองเป็นอย่างสูง แม้ทางกฎหมายหลายคนเชื่อว่า  “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ น่าที่จะรอดไปได้แบบไม่ยาก เพราะอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายที่แนะนำจากที่ปรึกษาชั้นเซียน บวกกับ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรตรวจสอบโดยตรง แต่ถูกมองว่าเป็นคนใกล้ชิดเพราะมีประธานที่เคยเป็นเลขาธิการของผู้ถูกกล่าวหามาแล้ว

วิกฤตที่เกิดขึ้นมิได้จบลงเพียงแค่เรื่องกฎหมายอีกต่อไป เมื่ออานุภาพแห่งความสงสัยได้ไปไกลกว่าอำนาจที่มีอยู่ในมือจะปิดกั้นได้ อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ในมืออาจห้ามการแสดงออกในเชิงต่อต้าน แต่มิอาจห้ามความสงสัย มิอาจห้ามความไม่เชื่อได้ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ยืนยันได้เป็นอย่างดี

เรื่องนี้ต้องยกให้เป็นผลงานของโลกออนไลน์ที่เป็นผู้เปิดประเด็นจนมาถึงขนาดนี้ และเพราะโลกออนไลน์นี่เองทำให้เรื่องราวนี้ไม่หายไปไหน เนื่องจากมีการขยับของประเด็นตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทยอยเปิดนาฬิกาหรูเรือนละวัน เรียกว่า “เขย่าขวัญ” กันทุกวัน หรือมีประเด็นตอบโต้ได้ตลอดเวลา

ส่วนเจ้าตัวเองก็กางตำรารับทั้งตำรากฎหมายและตำราว่าด้วยการจัดการภาวะวิกฤตจากโลกออนไลน์ เพราะนอกจากข้อแก้ต่างอันว่าด้วยเรื่อง “ยืม” ที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. แล้ว ยังมีเรื่องแชร์นาฬิกา เรื่องเพื่อนรักที่ตายแล้ว ที่ได้ถูกส่งผ่านแหล่งข่าวสู่นักข่าวเข้าโลกออนไลน์ แต่ดูเหมือนว่าโลกออนไลน์ขี้สงสัยมากกว่าที่เจ้าตัวชี้แจงมากนัก กระแสจึงยังไม่จบง่ายๆ

โลกออนไลน์ได้ก้าวสู่โลกออฟไลน์เมื่อมีคนไม่พอใจออกมาแสดงความรู้สึกผ่านการชุมนุมหรือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อื่นมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิงานศิลปะ กราฟิตี้ หรือขบวนล้อการเมืองของนักศึกษา

รัฐบาลเองใช่ว่าจะไม่กังวลกับเรื่องดังกล่าว แต่แทนที่พวกเขาจะดูว่ามีความผิดปกติอะไรเกิดขึ้นกับคนในรัฐบาล กลับไปตั้งโจทย์ว่ามีคนพยายามจ้องล้มรัฐบาลโดยหวังตีวัวกระทบคราด เพื่อไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดังนั้นจึงเลือกที่จะตั้งรับและโต้กลับคนที่โจมตี และระดมองคาพยพตอบโต้เรื่องราวที่เกิดขึ้น

เรื่องราวพัฒนามาถึงขั้นที่มีคนตั้งแคมเปญรณรงค์บนเว็บไซต์ Change.org หลังจากที่ “บิ๊กป้อม” หลุดวาจาหากประชาชนไม่ต้องการ ตนจะลาออก  โดยกระทู้รณรงค์ตั้งชื่อว่า “อยากให้รองนายกประวิตรฯ ลาออก ตามที่ท่านได้กล่าวไว้เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 61 ที่กระทรวงกลาโหม”  โดยมีผู้สนับสนุนกว่า 70,000 คน

ในเวลาไล่เรี่ยกันก็มีผู้ตั้งกระทู้รณรงค์ในชื่อว่า “สนับสนุนท่านรองนายกฯ พล.อ.ประวิตร ให้อยู่ต่อ เพื่อความมั่นคงของประเทศและบอลโลก 2018” อ่านชื่อกระทู้ก็ไม่ต้องเดาว่ามีเจตนาเช่นไร โดยเบื้องต้นมีผู้สนับสนุนเหยียบสองหมื่นคน

แต่ชั่วข้ามคืนตัวเลขนี้กลับลดลงเหลือเพียง 200 เท่านั้น และเหตุผลก็คือทางเว็บไซต์ตรวจพบการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติหรือที่เรียกว่าการ “ปั่น” นั่นเอง

เรื่องนี้จึงกลายเป็นเรื่องโจ๊กของโลกออนไลน์

แน่นอนว่าเป้าย่อมตกไปที่ฝ่ายสนับสนุน “พล.อ.ประวิตร” และมีข้อมูลบางประการที่ทำให้เชื่อได้ว่าเป็น IO หรือ Information Operation  ซึ่งเป็นปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นรายชื่อที่ร่วมรณรงค์อันมาจาก IP เดียวกัน ระยะเวลาทำการก็เป็นเวลาใกล้ๆ กันและทับซ้อนกับเวลาราชการ

เราคงไม่อาจปักใจได้ว่าการกระทำเช่นนี้เป็นฝีมือของใคร แต่ถ้าถามว่าการทำ IO ของรัฐมีหรือไม่ ก็ต้องตอบว่ามีหน่วยงานที่มีศักยภาพพอที่จะทำได้ และหน่วยงานที่ตกเป็นเป้าสงสัยคือ “ศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก”

โดยหน่วยงานนี้เป็นหน่วยขึ้นตรงของกองทัพบก อยู่ในส่วนบัญชาการ (ฝ่ายกิจการพิเศษ) แต่เดิมชื่อ “ศูนย์เทคโนโลยีทางทหารกองทัพบก” เพื่อรับรองการคุกคามทางสารสนเทศ

แต่เมื่อปี 2559 ได้ปรับเปลี่ยนชื่อและเปลี่ยนภารกิจ โดยมีภารกิจหลักอยู่ 3 ประการคือ 1.พัฒนากองทัพให้ทันสมัย 2.ปกป้องงานของตัวเองโดยเฉพาะการถูกแทรกแซงจากแฮกเกอร์ 3.งานที่เกี่ยวข้องกับกองปฏิบัติการข่าวสาร

ทั้งนี้การแบ่งงานมีสามกองประกอบด้วย 1.กองปฏิบัติการไซเบอร์ ทำหน้าที่เฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยคุกคามทางไซเบอร์ 2.กองรักษาความั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ทำหน้าที่เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และดูแลการปฏิบัติงานของหน่วย และ 3.กองสนับสนุนการปฏิบัติการข่าวสารไซเบอร์ ทำหน้าที่เฝ้าระวังแจ้งเตือน ตอบโต้ และสกัดกั้น

แต่ที่ถูกจับตามากที่สุดคือการคอยสอดส่องเว็บและโซเชียลมีเดียที่ถูกมองว่ากระทบกับความมั่นคง และที่ผ่านมามีการปิดเว็บไซต์ที่กล่าวหาว่ากระทบกับความมั่นคงเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. เคยพูดถึงภารกิจหนึ่งไว้ชัดเจนในวันเปิดหน่วยว่า “ผมมีความเป็นห่วงเรื่องการบิดเบือนและเผยแพร่ออกไปมีจำนวนเยอะมาก เราต้องสร้างกลไกในการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ทั้งนี้ในแต่ละหน่วยงานของกองทัพบกมีศูนย์ไซเบอร์ของตัวเองอยู่แล้ว แต่ต้องพัฒนากัน แต่ไปและฝึกให้ประชาชนรู้จักตระหนักแยกแยะในข้อเท็จจริงก่อนจะเผยแพร่ออกไป โดยเฉพาะการส่งข้อความทางไลน์ โซเชียล เพราะประชาชนไม่รู้ว่าอะไรคือเท็จหรือจริงก็ส่งต่อ”

และยังมีการเปิดอบรมการบริหารจัดการข่าวสารทางไซเบอร์ ให้กับแต่ละหน่วยงานในกองทัพอีกด้วย

ว่ากันว่าหน่วยนี้มีภารกิจเรื่อง IO โดยเฉพาะ และมีกำลังรวมถึงงบประมาณอยู่พอสมควร

นอกจากทางทหารแล้ว กระทรวงดิจิทัลก็จัดตั้งศูนย์ความมั่นคงไซเบอร์เช่นกัน โดยมีหน้าที่สอดส่องการใช้เว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ที่ขัดต่อกฎหมายและความมั่นคง

นี่คือหน่วยงานที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการและมีภารกิจอันว่าด้วยปฏิบัติการด้านข่าวสารบนโลกออนไลน์ แต่นอกจากนี้แล้วยังมีหน่วยที่ตั้งขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อต่อสู้กับข้อมูลข่าวสารบนโลก แต่รู้กันทั่วไปว่าตั้งขึ้นโดย “คนใน” ของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นเพจเปรี้ยง ที่รู้ข่าวเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีแบบเอ๊กซ์คลูซีฟ และมีชุดข้อมูลที่ออกมาตอบโต้ฝั่งตรงข้ามรัฐอยู่เรื่อยๆ ด้วยภาษาไม่เป็นทางการ และใช้รูปแบบเดียวกับการเมืองสุดขั้วทั่วไป หรือที่เราเรียกกันว่าเพจสายดาร์ก

หรือแฟนเพจ Gen.Prayut Chan-o-cha ทีมงานก็จะเสนอผลงานด้านบวก รวมถึงแฟนเพจ ไทยคู่ฟ้า ที่เป็นเพจทางการของทำเนียบรัฐบาลก็คอยประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาล

และหลังจากนี้ สงคราม IO จะหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งรัฐบาลบอบช้ำ ปฏิบัติการก็ต้องเพิ่มขึ้นตามลำดับ เพื่อเรียกความนิยม และการตอบโต้ก็จะตรงและแรงยิ่งขึ้น

เหล่านี้คือปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสาร ที่รัฐตั้งทีมมารับมือโดยเฉพาะ เพราะประจักษ์แจ้งว่าโลกสมัยใหม่ก้าวไปทางไหนและสร้างความสั่นสะเทือนกับรัฐบาลและคนในรัฐบาลได้มากเพียงใด ปัญหามีเพียงอย่างเดียวคือ พวกเขาเข้าใจปฏิบัติการเหล่านี้มากน้อยขนาดไหน เพราะที่ผ่านมาดูเหมือนว่า IO จากฝั่งรัฐมักจะใช้ไม่ได้ผลและถูกจับได้อยู่เสมอ ประเด็นของปฏิบัติการนี้ไม่ได้อยู่ที่จำนวนหรือพละกำลังที่มี แต่อยู่ที่ความแนบเนียนและความสมเหตุสมผล

——

บทความโดย “อสรพิษ”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า