SHARE

คัดลอกแล้ว

แพทย์จุฬาฯ สร้างนวัตกรรมการรักษามะเร็ง หลักการพัฒนาการปรับระบบภูมิต้านทานมะเร็งด้วยการใช้ยาหรือพัฒนาเซลล์เม็ดเลือดขาวต้านมะเร็งของผู้ป่วยแต่ละราย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ป่วยมาต่อสู้กับมะเร็ง 

เมื่อวันที่ 24 ต.ค.61 ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า โรคมะเร็ง เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก เมื่อประชากรมีอายุยืนขึ้น การสาธารณสุขดีขึ้น หลายโรคที่เคยคร่าชีวิตมนุษย์เป็นอันดับต้นๆก็มีการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นโรคติดเชื้อ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคมะเร็งจึงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งแซงหน้าโรคหัวใจมานานกว่า 10 ปี ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องมีแผนระดับชาติในการต่อสู้กับโรคมะเร็งอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นโรคมะเร็งจะก่อให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์อย่างรุนแรงในเวลาอันใกล้

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯและ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีความพร้อมและความเชี่ยวชาญ ในด้านการเรียนการสอน การวิจัยและการบริการด้านโรคมะเร็ง โดยมีการจัดตั้งศูนย์มะเร็งครบวงจรและศูนย์ความเป็นเลิศด้านต่างๆขึ้น และยังได้ร่วมเป็นสถาบันพันธมิตร กับ M.D. Anderson Cancer Center มหาวิทยาลัยเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสถาบันการแพทย์ด้านมะเร็งวิทยาชั้นนำของโลก นอกจากนี้เรายังได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและร่วมมือทำวิจัยกับสถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลกอีกจำนวนมากเพื่อสร้างผลงานวิจัยนวัตกรรมที่โดดเด่นสามารถเป็นต้นแบบในการดูแลรักษาโรคมะเร็งที่สมบูรณ์ ก้าวนำในการใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทย

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

โครงการนวัตกรรมทางด้านภูมิคุ้มกันบำบัด ได้รับงบประมาณจากทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสภากาชาดไทย โดยเน้นงานวิจัยและพัฒนาเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์จริงต่อสังคม ซึ่งต้องใช้เวลานานและ มีงบสนับสนุนต่อเนื่อง โดยบางส่วนก็ได้ขอการสนับสนุนจากรัฐบาลผ่านงบประมาณแผ่นดิน โดยเฉพาะงบครุภัณฑ์ที่มีราคาแพงต่างๆ ล่าสุดจุฬาฯได้อนุมัติงบประมาณ 160 ล้านบาท/3 ปี เพื่อสนับสนุนศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา มีเป้าหมายในการผลิตต้นแบบของการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดในการรักษาโรคมะเร็งหลายชนิดในประเทศไทย นอกจากนี้แล้วโรงพยาบาลจุฬาฯ สภากาชาดไทย ยังมีการทำงานที่ต่อเนื่องโดยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนและถ่ายทอดงานวิจัยมาสู่การทดลองการรักษาให้กับผู้ป่วยโดยเร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม การลงทุนเพื่อผลิตยาต้องอาศัยทุนจำนวนมหาศาลและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน คณะแพทยศาสตร์ได้ตั้งบัญชีเพื่อขอรับการสนับสนุนเพื่อการวิจัยมาแล้วหลายปีอย่างต่อเนื่อง มีคณะกรรมการจากฝ่ายวิจัยและคณะกรรมการบริหารคณะฯซึ่งมีคณบดีเป็นประธานฯเป็นผู้อนุมัติการใช้เงินรวมทั้งติดตามผลในโครงการที่สำคัญและมีความจำเป็น โดยผู้วิจัยจะต้องเขียนโครงการพร้อมส่งรายงานความก้าวหน้าต่อคณะกรรมการฯทุก 6 เดือน ในครั้งนี้นับเป็นประวัติการณ์ที่ภาคประชาชนมีความสนใจสนับสนุนงานวิจัยอย่างล้นหลาม อยากเน้นให้ทุกคนเข้าใจว่างานนี้ยังอยู่ในขั้นต้นเท่านั้น ยังมีอีกหลายขั้นตอนที่เราจะต้องทำต่อเนื่องและต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกๆหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พวกเราทุกคนรู้สึกซาบซึ้งในน้ำใจของประชาชนคนไทยทุกคนเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมส่งกำลังใจและร่วมบริจาคเข้ามาที่ทีมวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ในวันนี้จึงขอเป็นตัวแทนขอบพระคุณทุกๆคนเป็นอย่างยิ่ง

รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้การต่อสู้กับโรคมะเร็งมี การพัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างมาก ในอดีตและปัจจุบัน การรักษาโรคมะเร็งด้วยยาโดยเฉพาะยาเคมีบำบัด แม้จะสามารถรักษาโรคมะเร็งหลายชนิดอย่างมีประสิทธิภาพและราคาไม่สูงมาก แต่มีข้อจำกัดที่สำคัญคือ ยาเคมีบำบัดออกฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งได้ แต่ขณะเดียวกันก็ทำลายเซลล์ปกติของร่างกายบางอวัยวะด้วย ซึ่งประชากรไทยสามารถเข้าถึงยาเคมีบำบัดหลายชนิดในทุกสิทธิ์การรักษา ต่อมามีการพัฒนาการรักษาโดยใช้ยามุ่งเป้า (targeted therapy) ซึ่งออกฤทธิ์จำเพาะกับมะเร็งชนิดที่มีการกลายพันธุ์ของยีนที่เป็นเป้าหมายในการออกฤทธิ์ของยาด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะมีประสิทธิภาพสูง ตอบสนองได้นานกว่า และมีผลข้างเคียงที่น้อยกว่ายาเคมีบำบัด แต่มีข้อจำกัดสำคัญคือค่าใช้จ่ายที่สูงเฉลี่ยต่อเดือนตั้งแต่ 20,000 ถึง 150,000 บาท และเกิดการดื้อยาในที่สุด อย่างไรก็ตามวิธีเหล่านี้ก็ยังเป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้กันอยู่ในโรงพยาบาลทุกแห่ง

ความก้าวหน้าที่สำคัญที่สุดทางการแพทย์ในการรักษาโรคมะเร็งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา พบว่า แท้จริงแล้ว ร่างกายของผู้ป่วยโรคมะเร็งจำนวนหนึ่ง มีการสร้างภูมิต้านทานมะเร็งด้วยเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ (T cells) ได้ แต่เซลล์มะเร็งมีการส่งสัญญาณต่อต้านการทำงานของทีเซลล์ด้วยกลไกหลายๆ อย่าง จากความรู้ดังกล่าวทำให้ปัจจุบันมีการพัฒนาการปรับระบบภูมิต้านทานมะเร็งด้วยการใช้ยาหรือพัฒนาเซลล์เม็ดเลือดขาวต้านมะเร็งของผู้ป่วยแต่ละราย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ป่วยมาต่อสู้กับมะเร็งได้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพสูง ผลข้างเคียงน้อยกว่าการรักษาด้วยยามุ้งเป้าและยาเคมีบำบัด และผู้ป่วยที่ตอบสนองมักจะตอบสนองได้นาน แต่มีข้อจำกัดคือ ไม่ได้ผลกับมะเร็งทุกชนิด ไม่ได้ผลกับผู้ป่วยทุกราย ดังนั้นผู้ที่สนใจควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนเพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

อย่างไรก็ตามปัจจุบันยาดังกล่าวมีราคาจำหน่ายที่แพงมาก โดยเฉลี่ยค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 150,000 ถึง 300,000 บาทต่อการรักษา 1 ครั้ง และอาจต้องให้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาถึง 2 ปี ทำให้การเข้าถึงยากลุ่มนี้สำหรับประชาชนทั่วไปเป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้เลย โรคมะเร็งที่มีข้อมูลว่าสามารถการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดได้ผลดีมากได้แก่ มะเร็งไฝดำของผิวหนัง (melanoma) ก่อนหน้านี้ ผู้ป่วยมะเร็งไฝดำที่โรคแพร่กระจายไปหลายอวัยวะ จะอยู่ได้ไม่เกิน 1 ปี แต่ด้วยการให้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดสองชนิดร่วมกัน มีผู้ป่วยส่วนมากจะอยู่ได้นานกว่า 2 ปี และพบผู้ป่วยมีชีวิตเกิน 5 ปีได้มากกว่า 1 ใน 3 และยังคงควบคุมโรคได้ มะเร็งปอดชนิดที่ไม่ใช่เซลล์เล็กที่มีโปรตีน PD-L1 ซึ่งใช้ยับยั้งการทำลายจากเซลล์ภูมิคุ้มกันบนผิวเซลล์มากกว่า 50% เมื่อได้รับยาเพื่อปลดปล่อยการต้านภูมิคุ้มกันของร่างกายจากโปรตีน PD-L1 มีผู้ป่วยมากถึง 50% ที่มีชีวิตยืนยาวกว่า 5 ปี

นอกจากนี้ มีหลักฐานจากการศึกษาวิจัยในผู้ป่วยโรคมะเร็งหลายชนิด ได้แก่ มะเร็งส่วนศีรษะและคอ มะเร็งเต้านมชนิดที่ไม่มีตัวตอบรับฮอร์โมนและ HER2 มะเร็งเยื่อบุทางเดินปัสสาวะ มะเร็งตับ สามารถที่จะมีการตอบสนองต่อยาต้าน PD-1 หรือ PD-L1

จากการค้นพบความรู้เกี่ยวกับกลไกภูมิต้านทานมะเร็งของร่างกายมนุษย์ดังกล่าว ทำให้นักวิทยาศาสตร์สองท่าน James P Allison และ Tasuku Honjo ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในปีปัจจุบัน 2561 ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยได้ถูกจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2560 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาวิธีการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดหลายรูปแบบ เพื่อที่จะนำมาวิจัยและพัฒนาให้ได้เซลล์หรือยาต้นแบบในการรักษามะเร็ง ที่จะนำไปต่อยอดการผลิตเพื่อออกมาใช้ในวงกว้าง เพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งชาวไทย สามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพได้อย่างทัดเทียม เช่นเดียวกันกับนานาชาติที่พัฒนาแล้ว ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

กระบวนการพัฒนายาและเซลล์ต้นแบบ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีทุนทรัพย์เพียงพอ เพื่อให้การวิจัยและพัฒนายาต้นแบบเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและราบรื่น จึงเป็นที่มาของการระดมทุนเพื่อต่อยอดโครงการสร้างต้นแบบการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดต้านมะเร็ง อีกทั้งมีความร่วมมือกับสถาบันการแพทย์ชั้นนำในต่างประเทศทั้งในสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ช่วยทำให้ศักยภาพของศูนย์ความเป็นเลิศภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง สามารถพัฒนายาต้นแบบได้สำเร็จในที่สุด

ศ.ดร.พญ.ณัฏฐิยา หิรัญกาญจน์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

ศ.ดร.พญ.ณัฏฐิยา หิรัญกาญจน์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวชี้แจงว่า ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งได้จัดตั้งมาเป็นระยะเวลา 1 ปีแล้ว โดยมีอาจารย์และนักวิจัยจากคณะแพทย์ฯร่วมกับคณะฯอื่นๆในจุฬาฯจำนวนมากมาร่วมมือกัน มีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดด้วยหลายแนวทาง ประกอบด้วย

  1. กลุ่มวิจัยพัฒนายาแอนติบอดีเพื่อการรักษามะเร็ง (Therapeutic antibody)

สำหรับยาในกลุ่มนี้เป็นยาที่มีประโยชน์มหาศาลแต่ก็มีราคาสูงมากเช่นกัน ซึ่งจะเห็นได้จากนโยบายที่รัฐบาลเร่งจะสนับสนุนให้มีการพัฒนายาในกลุ่มนี้ในประเทศ อย่างไรก็ตามขั้นตอนที่อาจจะตรงไปตรงมาและมีความเสี่ยงน้อยที่สุดคือการลงทุนสร้างยาแอนติบอดีที่กำลังจะหมดสิทธิบัตรหรือที่เรียกกันว่ายา Biosimilar ขึ้นเองในประเทศ สำหรับยาภูมิคุ้มกันบำบัดที่สำคัญที่สุดก็คือยาในกลุ่ม Checkpoint inhibitor ที่ผู้ค้นพบคือนักวิทยาศาสตร์ทั้งสองท่านที่ได้รับรางวัลโนเบลในปีนี้นั่นเอง อย่างไรก็ตามยาชนิดนี้เพิ่งมีการอนุมัติให้จำหน่ายและจะหมดสิทธิบัตรเร็วที่สุดในปีพ.ศ. 2577 จึงเป็นที่มาของการริเริ่มโครงการของอ.ไตรรักษ์ เพื่อพัฒนายาใหม่ที่จะสามารถนำมาทดลองใช้ในผู้ป่วยได้ก่อนนั้น นอกจากนี้เรายังมีทีมวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ที่กำลังพัฒนายารูปแบบอื่นๆร่วมด้วย

  1. กลุ่มวิจัยภูมิคุ้มกันด้านเซลล์บำบัดมะเร็ง (Cellular Immunotherapy)

ในกรณีที่ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก หรือไม่มีเม็ดเลือดขาวที่สามารถไปทำลายมะเร็งได้เพียงพอ การให้แอนติบอดี Anti-PD1 หรือ Anti-PDL1ไปปลดเบรกให้ภูมิคุ้มกันทำงานได้ก็ยังไม่เพียงพอ จำเป็นจะต้องกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่วมด้วย วิธีหนึ่งที่ทำได้คือการรักษาด้วยเซลล์บำบัด ซึ่งต้องการห้องปฏิบัติการปลอดเชื้อพิเศษที่สามารถผลิตเซลล์ที่ได้มาตรฐาน รพ.จุฬาฯได้ลงทุนสร้าง Facilityต่างๆไว้แล้ว และในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการขอรับรองตามมาตรฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการรักษาที่ทางศูนย์กำลังพัฒนาได้แก่การรักษาโดยการดัดแปลงยีนเพื่อให้เม็ดเลือดขาวทีเซลล์มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเพื่อต่อต้านโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาวิธีอื่น วิธีนี้ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาในปี 2560 นี้เอง จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนที่เราตั้งเป้าหมายให้มีการบริการนี้ในโรงพยาบาลจุฬาฯโดยเร็วที่สุดเนื่องจากได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นวิธีที่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยมะเร็งด้านโลหิตที่ไม่มีทางรักษาอื่นแล้วได้ประสบผลสำเร็จมากกว่า 80% อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยวิธีเซลล์บำบัดมีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ต้องทำในสถาบันที่มีความพร้อมและมีมาตรฐานเชื่อถือได้เท่านั้น และยังมีผลดีเฉพาะในโรคมะเร็งบางโรค ส่วนใหญ่จะได้ผลดีในมะเร็งของระบบโลหิตเป็นหลัก ดังนั้นจะขอถือโอกาสนี้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลให้ดี อย่าหลงเชื่อสถาบันที่อาจจะโฆษณาเกินจริง นอกจากนี้ยังมีทีมวิจัยที่กำลังพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาโดยกระตุ้นเม็ดเลือดขาวชนิดเอนเคเซลล์ (NK cell) และทีเซลล์ที่จำเพาะต่อไวรัสเพื่อรักษาโรคมะเร็งที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งคงจะหาโอกาสแจ้งความคืบหน้าให้ทราบต่อไป

  1. กลุ่มวิจัยพัฒนาวัคซีนรักษามะเร็ง (Personalized Cancer Vaccine)

นอกจากการให้เซลล์บำบัดซึ่งมีราคาแพงมากดังที่กล่าวข้างต้นแล้ว เรายังมีทีมวิจัยที่กำลังพัฒนาการกระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยการให้วัคซีนด้วย การให้วัคซีนมีความซับซ้อน ไม่ใช่แค่ฉีดอะไรเข้าไปก็ได้ แต่ต้องเป็นส่วนของมะเร็งที่มีความสามารถกระตุ้นเม็ดเลือดขาวได้ดีเท่านั้น และจะยิ่งได้ผลดีต่อเมื่อเป็นวัคซีนที่ออกแบบเฉพาะบุคคลด้วย ในขณะนี้เรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นการศึกษาในสัตว์ทดลองเป็นหลักและจะประกาศให้ทราบถ้ามีโครงการจะทดลองในคนต่อไป

นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

อ.นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าตนเองได้รับการสนับสนุนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 โดยได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการแผนพัฒนาวิชาการ จุฬาฯ สร้างเสริมพลังจุฬาฯ ก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 ทั้งช่วงที่หนึ่งและช่วงที่สอง ซึ่งทำให้สามารถสร้างศูนย์วิจัยพัฒนาแอนติบอดีที่มีความทันสมัยในระดับนานาชาติขึ้นมาได้ โดยได้รับความร่วมมือจากทีมวิจัยจำนวนมากทั้งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่างสถาบัน รวมทั้งจากสถาบันต่างประเทศ เราต้องสร้างยาแอนติบอดีรักษามะเร็งขึ้นเองในประเทศไทย เนื่องจากขณะนี้เราต้องนำเข้ายาแอนติบอดีรักษามะเร็งจากต่างประเทศ 100% ดังนั้นยากลุ่มนี้จึงมีราคาแพงมาก ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยสูงกว่า 8 ล้านบาทต่อราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง เบิกไม่ได้ การผลิตยาใช้เองในประเทศจะทำให้สามารถควบคุมราคาค่ารักษาให้ต่ำกว่ารายละ 1 ล้านบาท สามารถเพิ่มโอกาสให้คนไทยทุกคนเข้าถึงยาแอนติบอดีรักษามะเร็งที่มีราคาถูกลงได้

นอกจากนี้การสร้างยาแอนติบอดีรักษามะเร็งจะสร้างผลดีต่อประเทศโดยรวมในด้านต่างๆ ได้แก่ 1) ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อยาจากต่างประเทศ 2) สร้างอุตสาหกรรม Biologics ที่มีศักยภาพสูง 3) ลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการป่วยเป็นมะเร็ง สืบเนื่องจากการได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการแผนพัฒนาวิชาการ จุฬาฯ สร้างเสริมพลังจุฬาฯ ก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 ทำให้ในขณะนี้ทางศูนย์วิจัยสามารถผลิตยาแอนติบอดีต้นแบบได้แล้วหนึ่งตัว จากผลในหลอดทดลองพบว่ายาต้นแบบของเรามีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับยาจากต่างประเทศซึ่งนับได้ว่าเราประสบความสำเร็จในเฟสแรก

ขณะนี้เรากำลังเร่งผลิตยาต้นแบบเพิ่มอีกหลายตัวเพื่อเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จและกำลังก้าวเข้าสู่เฟสที่สอง ซึ่งเป็นการพัฒนายาแอนติบอดีต้นแบบ ที่ผลิตจากเซลล์หนูทดลองให้มีความคล้ายคลึงกับแอนติบอดีของมนุษย์ ในเฟสที่สองนี้จะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 1 ปีและต้องการเงินลงทุนประมาณ 10 ล้านบาท ถ้าการพัฒนาแอนติบอดีในเฟสที่สองประสบความสำเร็จ ในเฟสที่สามจะเป็นการผลิตยาในโรงงานเพื่อให้ได้ยาในปริมาณมากซึ่งจะใช้ระยะเวลาในขั้นตอนนี้ประมาณ 18 เดือนและต้องการเงินลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท หลังจากนั้นในเฟสที่สี่จะเป็นการทดสอบยาในสัตว์ทดลองเพื่อดูประสิทธิภาพและผลข้างเคียงซึ่งต้องใช้เวลาทดสอบประมาณสองปีและต้องการเงินลงทุนประมาณ 100 ถึง 200 ล้านบาท ในขั้นสุดท้ายเฟสที่ห้าจะเป็นการทดลองในมนุษย์ซึ่งต้องใช้เวลาในการดำเนินการ 4-5 ปี และต้องการเงินลงทุนประมาณ 1000 ล้านบาท

“การผลิตยาจะทำทั้งหมด 5 เฟส ขณะนี้เฟส 1 คือการผลิตยาแอนติบอดีต้นแบบจากหนูเราทำสำเร็จแล้ว ได้ต้นแบบมา 1 ตัว สามารถพัฒนาเฟส2 คือการปรับปรุงแอนติบอดีให้มีความคล้ายของมนุษย์ ตั้งเป้าภายในปี 2566 จะมียาใช้ทดลองในผู้ป่วยได้ การวิจัยพัฒนายารักษามะเร็งขึ้นเองในประเทศไทย เพราะขณะนี้เราต้องนำเข้ายาดังกล่าวจากต่างประเทศ100% ยากลุ่มนี้จึงมีราคาแพง ผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงการรักษา” นพ.ไตรรักษ์กล่าว

ล่าสุด มีประชาชนร่วมสมทบทุนงานวิจัย ที่จะทำให้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดเดินหน้าสู่เป้าหมาย มียอดบริจาคล่าสุด 73 ล้านบาท แล้ว

สามารถร่วมบริจาค เข้าบัญชี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เงินบริจาคเพื่อการวิจัย) ธนาคารไทยพาณิชย์ บัญชีออมทรัพย์ 408-004443-4 และบัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 045-304669-7

https://www.facebook.com/yoke.onout/posts/10156763847821449

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า