“กรณ์” เห็นด้วยรัฐบาลทำโครงการให้ผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสมีบ้าน แต่ติงรูปแบบกลายเป็นประชานิยมไม่ยั่งยืน และการเร่งให้ประชาชนใช้สิทธิ์ทั้งที่ยังไม่พร้อมส่อเกิดความต้องการเทียมซ้ำรอยนโยบายรถคันแรก
วันที่ 25 ธ.ค. นายกรณ์ จาติกวณิช รองห้วหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และประธานกรรมการนโยบายพรรคฯ แถลงถึงนโยบายบ้านล้านหลังของรัฐบาล โดยระบุว่า เป็นโครงการที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้ประชาชนรายได้น้อย ได้มีโอกาสมากขึ้นในการมีบ้านของตนเอง ซึ่งสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็ได้ทำโครงการ “บ้านหลังแรก” ดอกเบี้ย 0% 2 ปี สำหรับประชาชนที่ต้องการมีบ้านหลังแรก หลังละไม่เกิน 3 ล้าน โดยราคาบ้านเฉลี่ยที่ประชาชนเข้าโครงการคือ 1.4 ล้านบาท สะท้อนถึงการช่วยประชาชนตรงกลุ่มเป้าหมาย
ในส่วนของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์มีโครงการบ้านล้านหลัง โดยมีตัวเลขเพดานที่ 1 ล้านบาทต่อหลังถือว่าเหมาะสม และธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้ระบุเกณฑ์ในรายละเอียดได้อย่างถี่ถ้วน ทั้งในเรื่องของการระวังหนี้เสีย และราคาผ่อนบ้านที่เดือนละ 3,800 บาท สะท้อนความเป็นไปได้ที่ตรงกับค่าเฉลี่ยของค่าเช่า โดยเปลี่ยนจากค่าเช่าเป็นค่าผ่อนบ้าน จนสุดท้ายประชาชนมีทรัพย์สินเป็นของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ยังมีข้อด้อยสำคัญ 3 ข้อ
1.ลักษณะการออกแบบโครงการสร้างความต้องการเทียมส่งผลอันตรายต่อผู้กู้ยืมในอนาคต เหมือนโครงการรถคันแรก เนื่องจากมีการจำกัดวงเงินโครงการ ดังนั้นตามข้อเท็จจริงไม่มีทางถึงล้านหลังเพราะวงเงินตั้งไว้ 5 หมื่นล้านบาท อย่างมากช่วยได้ประมาณ 5 หมื่นหลังเท่านั้น เป็นเพียงการตั้งชื่อกระตุ้นความต้องการ และทำให้หลายคนที่ไม่พร้อมเหมือนกรณีรถคันแรก แต่เห็นว่ามีสิทธิ์ต้องรีบใช้
2.สร้างความหวังเทียม มีประชาชนจำนวนมากมาจับจองสิทธิ์ แต่อาจไม่ทราบเงื่อนไขการพิจารณาที่จะทำให้จำนวนครึ่งนึงอาจจะต้องผิดหวัง
3. รูปแบบโครงการสุ่มเสี่ยงประชานิยม ขาดความยั่งยืนและถ้วนหน้าในสิทธิ์
“สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์จะทำที่แตกต่างคือ เมื่อเรามองว่าประชาชนที่มีรายได้น้อยแต่มีศักยภาพในการแบกรับภาระหนี้ได้ ควรจะมีสิทธิ์เข้าถึงแหล่งเงินสินเชื่อจากธนาคารของรัฐในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ เราจะคงสิทธิ์ถาวรในรูปสวัสดิการ โดยไม่จำกัดวงเงิน ไม่จำกัดระยะเวลา เพื่อให้ประชาชนไม่ต้องรีบต้องเร่งต้องแย่ง เมื่อพร้อมสามารถมาติดต่อธนาคารของรัฐ คือ ธอส.ได้ ซึ่งแบบนี้จะยุติธรรมกว่า มีความมั่นคงมากกว่า”
ขณะเดียวกันพรรคได้เสนอนโยบายที่เกี่ยวกับเรื่องที่ทำกิน โดยนโยบาย” โฉนดสีฟ้า” ประกอบด้วย การยกระดับ ‘โฉนดชุมชน’ เพื่อความมั่นคงของเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ , การยกระดับ สปก. เอกสารสิทธิในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อเพิ่มความมั่นคงและโอกาสการเข้าถึงทุนของเกษตรกร และ การยกระดับกระบวนการแปลงเอกสารครอบครองขนิดต่างๆ ให้เป็นโฉนดโดยเร็ว