พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศอาจจะไม่เข้าร่วมหารือกับ คสช. หาก พล.อ.ประยุทธ์ นั่งหัวโต๊ะชี้มีผลประโยชน์ทับซ้อนกำลังจะเล่นการเมืองเอง ไม่ควรมาเป็นประธานประชุมอีกควรเป็นหน้าที่ กกต. พร้อมระบุไม่หวั่นถูกนำไปเป็นสาเหตุเลื่อนเลือกตั้ง
วันที่ 4 ธ.ค. นายธนา ชีรวินิจ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวถึงการประชุมร่วมกันของแม่น้ำ 5 สายกับพรรคการเมืองในวันที่ 7 ธ.ค. นี้ว่า จากหนังสือเชิญของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่าให้พรรคการเมืองเข้าร่วมประชุมชี้แจง ไม่ได้ให้ตัวแทนพรรคการเมืองหารือเพื่อร่วมจัดทำแผน เพราะมีการทำแผนและขั้นตอนดำเนินการไว้หมดแล้วเพียงเชิญไปร่วมฟัง รวมทั้งเวลามีประชุมแค่ 2 ชม. 13.00-15.00 น. ไม่ใช่การหารือแน่นอน จึงไม่ได้เป็นไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ข้อ 8 ที่ระบุให้เชิญหรือไม่เชิญพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง เพื่อร่วมจัดทำแผนและขั้นตอนการดำเนินการทางการเมือง
ขณะเดียวกันปัจจุบันมีพรรคการเมืองบางพรรคใช้นโยบายรัฐบาลเป็นชื่อพรรค ซึ่งประชาชนก็ทราบว่าพรรคนี้รัฐบาลอยู่เบื้องหลัง โดยรัฐบาลไม่ได้ปฏิเสธความเกี่ยวข้อง และการที่ต่อมามีคำสั่ง คสช.เข้ามาแทรกแซงจัดการเลือกตั้ง เช่น คำสั่งที่ 16/2561 ในกรณีการแบ่งเขตเลือกตั้ง และยังมีพฤติกรรมอีกหลายอย่างที่แสดงให้เห็นว่า คสช.กลายมาเป็นพรรคการเมืองเพื่อสืบทอดอำนาจ ทำให้เห็นได้ชัดว่าไม่ได้เข้ามาเพื่อยุติความขัดแย้งหรือแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นตามที่กล่าวอ้าง
ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีหลายสถานะ คือ หัวหน้าคสช. นายกรัฐมนตรี และว่าที่ผู้ที่จะถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ จึงขอตั้งคำถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมีผลประโยชน์ขัดแย้งกัน ยังเหมาะสมจะเป็นประธานในที่ประชุมดังกล่าวหรือไม่
นายธนา กล่าวว่า ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมการประชุมหรือไม่ ต้องดูว่า พล.อ.ประยุทธ์จะตัดสินใจอย่างไร หากไม่นั่งเป็นประธาน เราจะพิจารณาอีกครั้ง เพราะเห็นว่าการจัดเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของกกต. ไม่ใช่หน้าที่ของคสช. การตัดสินใจเช่นนี้ไม่ได้เป็นการตีรวน เพราะที่ผ่านมาพรรคให้ความร่วมมือตั้งแต่ปี 2557 ให้ประเทศกลับมาสู่ความสงบเรียบร้อย ถ้าวันนี้คสช.อ้างว่ายังมีปัญหาความสงบเรียบร้อย แสดงว่า 4 ปีกว่าของคสช.ไม่ประสบความสำเร็จ และไม่กังวลว่าการไม่เข้าร่วมจะถูกนำไปเป็นข้ออ้างในการเลื่อนการเลือกตั้ง