เพราะเชื่อว่างานศิลปะมีพลังสร้างแรงตระหนักแก่สังคมได้ ทำให้ศิลปิน เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล สร้างผลงานสื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมมาตลอด ล่าสุดนำฝุ่นมลพิษมาทำงานประติมากรรม สื่อถึงอันตรายที่มองไม่เห็น
แม้เป็นรูปปั้นคนนั่งอ่านหนังสือ และใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป แต่ประติมากรรมชุดนี้มีความหมายที่น่ากลัวแฝงอยู่ เพราะไม่เพียงถูกแขวนกลับหัวกลางอากาศเหมือนร่างไร้ชีวิต แต่ทั้งหมดยังถูกปั้นขึ้นจากฝุ่นที่เก็บมาจากแหล่งอุตสาหกรรมทั้งโรงโม่ โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงเผาซากอ้อย ซึ่งมีขนาดเล็กเพียง 2.5 ไมครอน หรือที่เรียกว่า PM 2.5 สามารถผ่านระบบกรองและเข้าไปสะสมในร่างกาย สร้างอันตรายถึงชีวิตโดยไม่รู้ตัว
ผลงานของศิลปิน “เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล” บอกเล่าถึงภัยใกล้ตัว ส่วนหนึ่งของโครงการ Right to Clean Air ของกรีนพีช
“ชีวิตประจำวันที่เราคิดว่าเราปลอดภัย มันไม่จริง มีหลายอย่างที่เราไม่รู้ มีหลายอย่างที่เรามองไม่เห็น ตัวฝุ่นเป็นสิ่งที่เบาบาง ดูไม่มีความหมาย ดูเฉยชา แล้วก็ฝุ่นมันเกี่ยวข้องกับความรู้สึกซ้ำซาก เก่าแก่ โบราณ แต่พอเป็นงานประติมากรรม มันกลับดูหนักได้ ดูน่าหดหู่ได้ ผมเลยแทรกเอาสองอย่างมาเชื่อมโยงกัน ที่น่าสนใจมากที่สุดของสังคมไทย ถ้าเราไม่เห็น เราคิดว่ามันโอเค เฮ้ย นี่มันน่าตกใจมากนะ ไม่ใช่แค่สายวิทย์อย่างเดียว เราเฉยชากับมัน เราปล่อยวางกับมัน ทั้งๆ ที่มันเป็นสิทธิ์ของเราเองที่เราจะเรียกร้องได้” เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล กล่าว
กว่า 5 เดือนของการทำงาน ศิลปินต้องสร้างห้องทำงานแบบปิดมิดชิด เพื่อไม่ให้ฝุ่นกระจายตัว พร้อมหาวิธีป้องกันตัวเองจากฝุ่นมลพิษให้ได้มากที่สุด หวังใช้งานศิลปะสร้างความตระหนัก เพราะปัจจุบันมีหลายพื้นที่ในประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยฝุ่นมลพิษ PM 2.5 อยู่ในจุดน่าวิตก เช่น สระบุรี อยู่ที่ 36 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามมาด้วยธนบุรี และกรุงเทพมหานคร เชื่อว่าศิลปะสะท้อนสังคมจะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลง
จากการศึกษาของธนาคารโลก พบว่า มลพิษอากาศในไทยเป็นต้นเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยของคนไทยราว 5 หมื่นรายต่อปี กรีนพีชจึงใช้เวลาหลายปีจัดงานเพื่อให้ความรู้ และรณรงค์ เรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษนำฝุ่นมลพิษ PM 2.5 มาคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ เพื่อจะแก้ไข้ปัญหานี้อย่างชัดเจนต่อไป
โดยนิทรรศการ Right to Clean Air จัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ถึงวันที่ 28 มกราคมนี้