การเลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ 2500 ถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้ง เพื่อเป็นการปรามว่าอย่าให้ประเทศไทยกลับไปเป็นแบบในครั้งนั้นที่ได้รับการขนามนามว่า “การเลือกตั้งสกปรก”
การเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และมีพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นเลขาธิการพรรค ชนะการเลือกตั้งได้ 86 ที่นั่ง ส่วนคู่แข่งอย่างพรรคประชาธิปัตย์ได้ 30 ที่นั่ง แต่ถูกสื่อมวลชนประโคมข่าวการทุจริต และมีการประท้วงโดยนิสิต นักศึกษาและประชาชน รวมตัวเดินขบวนไปที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ จอมพล ป. กล่าวในตอนนั้นว่า อย่าเรียกว่าเลือกตั้งสกปรก ควรเรียกว่า “การเลือกตั้งไม่เรียบร้อย” และยอมให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่

จอมพล ป. และ พล.ต.อ.เผ่า (ภาพจาก th.wikipedia.org)
รูปแบบการโกงการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น คือ “พลร่ม” หมายถึง การจัดคนที่อยู่ต่างถิ่นมาลงคะแนนเสียงในหน่วยเลือกตั้งที่ตนเองไม่ได้มีชื่อในบัญชีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง วิธีการนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ทะเบียนในการทุจริต
“ไพ่ไฟ” คือ การนำบัตรเลือกตั้งปลอมที่ลงคะแนนให้พรรคที่ต้องการไว้แล้วไปใส่ในหีบลงคะแนน โดยใช้จังหวะปลอดคนหรือเพิ่งเปิดหน่วยและช่วงใกล้ปิดหน่วยเลือกตั้ง วิธีการนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง
.
“เวียนเทียน” คือ การเวียนใช้บัตรประชาชนใบเดียวใช้สิทธิ์เลือกตั้งซ้ำหลายรอบ โดยต้องได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งเช่นกัน
การเลือกตั้งในปี 2500 เริ่มพบพิรุธตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งเมื่อมีผู้พบบัตรลงคะแนนให้พรรคเสรีมนังคศิลามีตราประทับของอำเภอดุสิตไว้เรียบร้อยพร้อมใช้งาน เป็นที่มาของพาดหัวหนังสือพิมพ์ว่า “ไพ่ไฟเกลื่อนกรุง” ส่วนวันเลือกตั้งหลายหน่วยไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย ทำให้เกิดการนำ “ไพ่ไฟ” มาใส่หีบลงคะแนนได้ง่ายดาย ไม่นับการข่มขู่ผู้ที่จะลงคะแนนให้พรรคตรงข้าม
ส่วนการนับคะแนนบางพื้นที่นับคะแนนกันข้ามคืนและเกิดไฟดับขณะฝ่ายค้านมีคะแนนนำแต่ภายหลังเมื่อไฟติดและนับต่อกลับเป็นคะแนนของพรรครัฐบาลมาแซงนำ

ชลอ วนะภูติ (ภาพจากwww.executive.moi.go.th)
การทุจริตเลือกตั้งอย่างมากมาย ทำให้ นายชลอ วนะภูติ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนคร ต้องลาออกเพราะไม่สามารถควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยได้
นอกจากสารพัดวิธีในปี 2500 แล้วหลังจากนั้นมีอีกหลายรูปแบบการทุจริตหรือโกงเลือกตั้งเกิดขึ้น เช่น ในพื้นที่ที่คู่แข่งคะแนนนำ จะมีการจัดทอดผ้าป่าหรือพาไปเที่ยวก่อนวันเลือกตั้งในที่ไกลๆ แล้วรถเสียกลับมาลงคะแนนไม่ทัน, การเลี้ยงเหล้าก่อนวันเลือกตั้ง เพื่อให้เมาข้ามวันข้ามคืนไปลงคะแนนไม่ไหว, การซื้อบัตรประชาชนในพื้นที่ที่คู่แข่งคะแนนนำไปเก็บไว้ เพื่อไม่ให้ไปใช้สิทธิ์ในวันเลือกตั้ง, การแบล็กเมล์หัวคะแนนคู่แข่ง จัดเลี้ยงแล้วหาหญิงสาวมาให้ก่อนถ่ายรูปไว้ข่มขู่
ไปจนถึง การใช้วิธีที่เรียกว่า “ซื้อเพิ่ม” คือ รู้ว่าคู่แข่งซื้อเสียงแล้วใช้วิธีจ่ายเพิ่มให้บางคนในกลุ่มที่ถูกซื้อ เพื่อให้ไปพูดต่อว่ามีการให้เงินเพิ่ม คนที่ถูกซื้อไปก่อนหน้าแล้วไม่ได้เงินเพิ่มในส่วนนี้ก็จะไม่พอใจที่ตนเองไม่ได้เพิ่ม จนไม่ไปลงคะแนนให้
อ้างอิง
ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
ชื่อฉายาและสมญานามทางการเมืองไทย โดย วีระ เลิศสมพร
ภาพข่าว “ไพ่ไฟ” จาก วิกิพีเดีย