เจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราชออกคำสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่พระสังฆาธิการ เจ้าอาวาสวัดชื่อดัง แหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีสำคัญ หลังมีชาวบ้านรวมตัวร้องเรียนจริยาวัตรพระสังฆาธิการเกือบ 10 ประเด็น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (20 ก.ค. 61) ที่ จ.นครศรีธรรมราช พระศรีธรรมประสาธน์ เจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ออกหนังสือคำสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ของพระครูปิยะคุณาธาร จากพระสังฆาธิการและเจ้าอาวาสของวัดเขาขุนพนม พร้อมทั้งคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินวัดเขาขุนพนม ขึ้นเพื่อทำการตรวจสอบทรัพย์สินทั้งหมดของวัด
จากกรณีที่ชาวบ้านร้องเรียนพระครูปิยะคุณาธาร ว่าถือวิสาสะเข้าไปพำนักในพระตำหนักสมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระณาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก องค์ที่ 19 ซึ่งพระตำหนักนี้พุทธศาสนิกชนหลายฝ่ายสร้างถวาย โดยตั้งอยู่ในวัดเขาขุนพนม ต.บ้านเกาะ อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช และสมเด็จพระสังฆราชเคยเสด็จมาประทับยังพระตำหนักแห่งนี้ ซึ่งหลังจากนั้นได้ปิดป้ายห้ามผู้ใดเข้าใช้สถานที่
นอกจากนี้ ชาวบ้านยังร้องเรียนเรื่องต่างๆ อีก 7 ประเด็นคือ 1. การบริหารการเงินไม่โปร่งใส 2. มีอุบาสิกาคนหนึ่งเป็นผู้บริหารการเงินของวัด 3. ขายวัตถุมงคลของวัดที่จัดสร้างไว้แล้วไม่สามารถตรวจสอบเงินได้ และไม่นำเงินเข้าบัญชีวัด 4. เงินผ้าป่าไม่เข้าบัญชีวัด ทั้งที่มียอดผ้าป่าหลายครั้งมีวงเงินสูง 5. ใช้อำนาจปลดกรรมการวัดโดยไม่ชอบธรรม 6. ขัดขวางการจัดทำทะเบียนทรัพย์สินของวัด 7. ใช้จ่ายเงินของมูลนิธิสินพนมพรหมคีรีพิทักษ์ธรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ขณะที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินของวัด ได้เข้าตรวจสอบเบื้องต้นนั้นพบว่า เงินในบัญชีมูลนิธิของวัดนั้นมีทุนเริ่มต้น 500,000 บาท คงเหลืออยู่ในบัญชีเพียง 39 บาท โดยไม่ทราบว่าเงินดังกล่าวนั้นถูกเบิกถอนไปใช้จ่ายการใดบ้าง ซึ่งยังไม่ปรากฏหลักฐาน ส่วนเงินของวัดคงเหลืออยู่ประมาณ 1,400,000 บาท และยังไม่สามารถตรวจสอบบัญชีรายจ่ายใดๆ ได้ โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินอีกครั้งในวันที่ 22 ก.ค.นี้
ด้านพระครูปิยะคุณาธร ซึ่งยังคงพำนักอยู่ในกุฏิหลังหนึ่งในวัดระบุว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความพยายามในการเข้ามาจัดการผลประโยชน์ของวัดแล้วไม่สำเร็จ เป็นการขัดผลประโยชน์จึงเกิดข้อร้องเรียนตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทางผู้ปกครองสงฆ์จึงต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนและยินดีที่จะให้คณะกรรมการกลางเข้ามาตรวจสอบและรับช่วงในการบริหารจัดการวัดแทน และยืนยันการใช้จ่ายเงินของวัดมีรายได้เพียงเดือนละ 8-9 หมื่นบาทเท่านั้น ซึ่งหมดไปกับค่าไฟฟ้าและค่าบริหารจัดการ
นายนิภา ฝั่งชลจิตต์ หนึ่งในผู้ร้องเรียนยืนยันว่าไม่ใช่เฉพาะการร้องไปยังคณะผู้ปกครองสงฆ์เท่านั้น ยังได้แจ้งความดำเนินคดีในฐานะเหรัญญิกมูลนิธิ ที่ไม่สามารถเข้าจัดการทางการเงินให้ถูกต้องได้ และเงินสดจำนวน 500,000 บาทของมูลนิธิกลายเป็นว่าเหลือเพียง 39 บาท ถูกเบิกจ่ายไปอย่างผิดขั้นตอนกฎหมาย ที่ควบคุมการบริหารจัดการมูลนิธิโดยไม่รู้ว่ามีการใช้จ่ายอะไร
อย่างไรก็ตามชาวบ้านใกล้เคียงกับวัดตั้งข้อสังเกตว่า เงินที่ไหลเข้าวัดในรอบหลายปีที่ผ่านมามีเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีใครตรวจสอบได้ และไม่มีรายละเอียดการใช้จ่ายใดๆ แจ้งให้ชาวบ้านทราบ ทำให้ชาวบ้านต่างเกิดข้อกังขาซึ่งหากมีการตรวจสอบและจัดการอย่างชัดเจนจะก่อให้เกิดศรัทธามากขึ้น