ประเด็นคือ – ปะการังในทะเลอ่าวไทยได้รับความเสียหายทั้งจากการกระทำของมนุษย์ และจากธรรมชาติเอง หลายภาคส่วนจึงรณรงค์เร่งฟื้นฟู เพื่อรักษาระบบนิเวศแนวปะการังให้คงอยู่สืบไป
วันที่ 27 กันยายน 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในโรงแรมโฟซีซั่นส์ รีสอร์ท เกาะสมุย อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี นายนพดล ขาวมะลิ ปลัดอำเภอเกาะสมุย พร้อมด้วยนายเจฟ เรดเนอร์ ผู้จัดการทั่วไปโรงแรมโฟซีซั่นส์ รีสอร์ท เกาะสมุย ได้ให้การต้อนรับนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง พร้อมด้วยคณะกรรมการชุมชน มูลนิธิเพื่อการอนุรักษ์เต่าทะเลหาดไม้ขาว ได้ร่วมในกิจกรรมฟื้นฟูปะการังโดยวิธีการย้ายปลูก เพื่อสร้างองค์ความรู้และการมีส่วนร่วมกับชุมชน เพื่อร่วมปลูกปะการังบริเวณอ่าวท้องพลู หมู่ที่ 5 ต.อ่างทอง
สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ได้ร่วมกันลงปฏิญญาร่วมอนุรักษ์ปะการัง ที่กำหนดให้ตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศแนวปะการัง โดยจะต้องร่วมมือกันฟื้นฟูและอนุรักษ์แนวปะการังบริเวณหาดท้องพลู เพื่อร่วมกันรักษาระบบนิเวศแนวปะการังให้คงอยู่สืบไป ซึ่งจะต้องยึดแนวทางการฟื้นฟูปะการังของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ต้องปฏิบัติตามหลักสากล
โดยมีหน่วยงานในพื้นที่ประกอบด้วย ประมงอำเภอเกาะสมุย และเทศบาลนครเกาะสมุย ให้การส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินโครงการ พร้อมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้การฟื้นฟูมีประสิทธิภาพ โดยมีประชาชนในพื้นที่ร่วมมือกันปกป้อง ควบคู่ไปกับวิถีชุมชนที่ปฏิบัติสืบมา โดยมีศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง ทำหน้าที่ศึกษา วิจัย และติดตาม พร้อมกับประเมินสถานภาพการเจริญเติบโตของปะการัง รวมถึงสิ่งมีชีวิตต่างๆ และสภาพแวดล้อมบริเวณอ่าวท้องพลู
จากอดีตที่ผ่านมา ปะการังที่อยู่ตามแนวชายทะเลในเขตประเทศไทยมีจำนวนมากถึง 148,954 ไร่ แบ่งเป็นปะการังในทะเลอันดามันจำนวน 73,364 ไร่ และปะการังในทะเลอ่าวไทยจำนวน 75,590 ไร่ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าปะการังได้รับความเสียหายจากการกระทำของมนุษย์ และเกิดจากธรรมชาติ โดยในปี 2553 เกิดการฟอกขาวของปะการังบริเวณทะเลอันดามัน ทำให้ปะการังได้รับความเสียหายสูงถึง 50 – 60 เปอร์เซ็นต์
ส่วนทะเลอ่าวไทยเกิดการฟอกขาวของปะการัง ทำให้ปะการังตายเช่นกัน จำนวน 30 – 40 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น เพื่อให้ธรรมชาติใต้ทะเลกลับมามีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ทะเลและอนุบาลตัวอ่อน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง จึงได้ร่วมกับชุมชนและภาคเอกชนในพื้นที่ปลูกปะการังขึ้น โดยปะการังในทะเลอ่าวไทยประกอบด้วย ปะการังเขากวาง ปะการังกิ่งก้อน ปะการังจาน ปะการังโขดหิน ปะการังพุ่ม ปะการังก้อนรูปสมอง ปะการังผักกาด และปะการังเห็ด เป็นต้น