ประเด็นคือ – มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงผลสุ่มตรวจการปนเปื้อนสารตะกั่วและแคดเมียม ในช็อกโกแลตยี่ห้อดัง 19 ตัวอย่าง พบว่ามี 8 ตัวอย่างปนเปื้อนสารตะกั่วและแคดเมียม และอีก 10 ตัวอย่างปนเปื้อนแคดเมียม
เมื่อวานนี้ (วันที่ 4 ต.ค.60) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงผลการสุ่มทดสอบการปนเปื้อนสารตะกั่วและแคดเมียมในช็อกโกแลตยี่ห้อดัง 19 ตัวอย่างที่ผลิตในประเทศและนำเข้า โดยสุ่มเก็บตัวอย่างในเดือนสิงหาคม – กันยายน 2560 แบ่งเป็นดาร์กช็อกโกแลต จำนวน 10 ตัวอย่าง และช็อกโกแลตประเภทอื่นๆ 9 ตัวอย่าง
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขานุการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า จากการทดสอบของศูนย์ทดสอบนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบว่า มีช็อกโกแลตที่พบการปนเปื้อนของสารตะกั่วและแคดเมียม 8 ตัวอย่างส่วนช็อกโกแลตที่พบการปนเปื้อนของแคดเมียม มี 10 ตัวอย่าง นอกจากนี้ยังมีช็อกโกแลต 2 ตัวอย่างที่ไม่มีการแสดงฉลากเป็นภาษาไทยและไม่มีการแสดงเลขสารบบอาหาร ซึ่งผลิตในประเทศมาเลเซีย
ทั้งนี้เมื่อเทียบกับค่ามาตรฐานตะกั่วทั้งในและต่างประเทศ แม้จะพบว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานทุกตัวอย่าง แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานการปนเปื้อนสารแคดเมียม จึงอยากเรียกร้องให้คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำมาตรฐานแคดเมียม เนื่องจากในยุโรปได้มีการกำหนดมาตรฐานเรื่องแคดเมียมไว้แล้วและจะบังคับใช้ในปี 2562
ด้าน น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การปนเปื้อนของสารตะกั่วและแคดเมียมในอาหารไม่สามารถทำลายได้ด้วยความร้อน เพราะเป็นสารที่ทนความร้อนสูง แม้ผลทดสอบการปนเปื้อนตะกั่วและแคดเมียมในช็อกโกแลตดังกล่าวจะไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่สารโลหะหนักเหล่านี้สามารถสะสมในร่างกายได้
ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 83 (พ.ศ. 2527) ได้กำหนดให้ปริมาณสารตะกั่วที่ตรวจพบในช็อกโกแลตต้องไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แต่หากเป็นช็อกโกแลตชนิดไม่หวาน ตรวจพบได้ไม่เกิน 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แต่สำหรับแคดเมียมในช็อกโกแลตนั้น ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์เอาไว้