ประเด็นคือ – เเรงงานสะท้อนความรู้สึก หลังมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเมื่อวันที่ 1 เมษายน เผยรายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ได้ช่วยเเบ่งเบาค่าครองชีพ แนะอยากให้รัฐบาลปรับค่าเเรงทุกปี
วันที่ 27 เม.ย. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจสถานภาพเเรงงานไทยมีตัวเลขที่น่าตกใจ เเรงงานมีหนี้มากสุดในรอบ 10 ปี ถือเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ เปิดเผยโดย ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่สำรวจสถานภาพแรงงานไทย กรณีศึกษาผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท สำรวจ 1,194 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ เรียนจบ ระดับมัธยมศึกษา ปวช. ปวส.และอนุปริญญา พบว่า พวกเขา มีปัญหารายได้ ไม่พอค่าใช้จ่าย และส่วนใหญ่ไม่มีเงินเก็บ
นอกจากนี้ มีภาระการเลี้ยงดูคนในครอบครัว เกือบทั้งหมดกว่า 96% ของกลุ่มตัวอย่าง เป็นหนี้ ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยพบว่ามีการกู้เงินไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และผ่อนยานพาหนะ โดยมีหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 137,988 บาท การผ่อนชำระต่อเดือนอยู่ที่ 5,326 บาท เป็นหนี้ในระบบ ร้อยละ 65.4 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10.6 ต่อปี และหนี้นอกระบบ ร้อยละ 34.6 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อเดือน และประสบปัญหาผิดชำระหนี้ รายได้ไม่มาก รายจ่ายเยอะ เป็นหนี้ครัวเรือน ซึ่งประเด็นนี้กดดันการบริโภคภายในประเทศ กระทบตรงกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และเกษตรกร เเละกลุ่มนี้ยังก่อหนี้เพิ่ม จากการลงทุนเพาะปลูกใหม่ แรงงานบางส่วน ได้รับเงินค่าจ้างจากจำนวนชั่วโมงล่วงเวลาลดลง ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ผู้บริหาร อีไอซี ธนาคารไทยพาณิชย์ บอกว่าคงต้องติดตามใกล้ชิด
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามความคิดเห็นสุ่มถามเเรงงานลูกจ้างร้านก๋วยเตี๋ยวแห่งหนึ่ง บอกว่าได้รับค่าจ้างเดือนละ 1 หมื่นบาท แต่มีค่าใช้จ่ายต่อวัน 200-300 บาท ไม่เหลือเงินเก็บ จึงอยากให้รัฐดูแลค่าครองชีพและค่าเดินทาง นั่นเป็นเรื่องหนี้สิน ซึ่งจากการสอบถามเเรงงานเรื่องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา พบว่า รายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย สิ่งที่เเรงงานต้องการคือ อยากให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทุกปี ช่วยเหลือผู้ว่างงานและควบคุมราคาสินค้า ดูแลประกันสังคม ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และดูแลควบคุมหนี้นอกระบบ