“#WeToo ช่วยให้เหยื่อรู้ว่าพวกเธอไม่ได้โดดเดี่ยวแต่มีเราคอยรับฟังและสนับสนุนอยู่”
นักศึกษาคนหนึ่ง เธอทำงานพิเศษที่ร้านอาหาร วันนั้นลูกค้าชายคนหนึ่งฉวยโอกาสก่อนกลับจับหน้าอกเธอ เธอตกใจและรีบแจ้งผู้จัดการร้านแต่ผู้จัดการร้านกลับไม่สนใจเพราะเขาเป็นลูกค้าคนสำคัญ ส่วนเธอเป็นแค่พนักงานเสิร์ฟพาร์ตไทม์ “หลังจากนั้นฉันก็ไม่กล้าเล่าเรื่องนี้ให้ใครฟังเลย” นักศึกษาคนนั้นซึ่งตอนนี้อายุ 26 ปี ตัดสินใจเข้าร่วม #WeToo Japan กลุ่มแสดงพลังต่อต้านการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศซึ่งได้รับอิทธิพลจากความเคลื่อนไหว #MeToo ที่เริ่มในสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว
#WeToo เริ่มในญี่ปุ่นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ นอกจากจะเป็นแฮชแท็กให้เหยื่อที่เคยประสบเหตุการณ์ทำนองนี้ได้แสดงตัวตนและบอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นเหมือน #MeToo แล้ว ยังเป็นแฮชแท็กสำหรับคนที่ต้องการร่วมแสดงพลังต่อต้านแม้จะไม่เคยประสบด้วยตัวเองมาก่อนก็ตาม “เราแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้นด้วยการใช้คำว่า #WeToo ช่วยให้เหยื่อรู้ว่าพวกเธอไม่ได้โดดเดี่ยวแต่มีเราคอยรับฟังและสนับสนุนอยู่”
ในสังคมญี่ปุ่นที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงหลายคนที่ออกมาเปิดเผยตัวว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศ นอกจากจะไม่ได้รับความเห็นอกเห็นใจแล้วยังอาจถูกซ้ำเติมหรือไม่ก็ถูกถากถาง เหยื่อข่มขืนและคุกคามทางเพศในญี่ปุ่นกว่า 2 ใน 3 เก็บงำสิ่งที่เกิดขึ้นไม่กล้าปริปากบอกใคร มีแค่ 4% เท่านั้นที่ไปแจ้งความ
นักข่าวสาวคนหนึ่งที่มองกันว่าเป็นคนแรกในญี่ปุ่นที่ใช้แฮชแท็ก #MeToo เพราะออกมาเปิดเผยว่าถูกเจ้านายงานข่มขืน เธอเผยว่าถูกโลกโซเชียลหยามเหยียด มีทั้งข้อความทั้งเมลทั้งโทรศัพท์จากคนไม่รู้จัก เรียกเธอว่าผู้หญิงสำส่อนบ้าง ผู้หญิงขายตัวบ้าง มีแม้กระทั่งบอกว่าเธอน่าจะไปตายซะ บางคนบอกว่าเธอคงไม่ใช่คนญี่ปุ่นเพราะผู้หญิงญี่ปุ่นไม่มีใครออกมาพูด “เรื่องน่าอายแบบนี้”
เคโกะ โคจิมะ อดีตผู้ประกาศและนักแสดง ยอมรับว่าอุตสาหกรรมสื่อในญี่ปุ่นเป็นโลกของผู้ชาย ผู้หญิงคนไหนอยากอยู่รอดในอุตสาหกรรมนี้ก็ต้องทน “สำหรับนักข่าวสาวคนนั้น ฉันคิดว่าเธอกล้ามากที่ลุกขึ้นประกาศตัวว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศ เราต้องไม่ปล่อยให้เธอสู้เพียงลำพังผ่าน #MeToo แต่ควรสนับสนุนเธอผ่าน #WeToo ด้วย คิดว่าสิ่งนี้จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ค่ะ”
ที่มา Me Too becomes We Too in victim-blaming Japan #WeToo Japan ウィートゥー・ジャパン