กรมสุขภาพจิต พบผู้สูงอายุสมองเสื่อมกว่า 8 แสนคน พร้อมย้ำเตือนผู้ดูแลต้องเข้าใจปัญหาของภาวะสมองเสื่อม เกรงผู้สูงอายุถูกทำร้ายหรือถูกทอดทิ้ง
วันที่ 17 มิ.ย. 61 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นาวาอากาศตรี นายแพทย์ บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันมีคนไทยอายุ 60 ปีขึ้นไปกว่า 9 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด มักพบปัญหามีภาวะสมองเสื่อม สูญเสียความจำ มีอาการหลงลืม ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งผลสำรวจของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ในปี 2557 พบผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีภาวะสมองเสื่อมร้อยละ 8.1
คาดว่าขณะนี้มีประมาณกว่า 8 แสนคนทั่วประเทศ พบในผู้หญิงมากกว่าชาย และในจำนวนนี้ร้อยละ 90 หรือประมาณ 7 แสนคน พบปัญหาพฤติกรรมและจิตใจร่วมด้วย จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง หากไม่ดูแลตัวเองเพื่อป้องกันก่อน และที่สำคัญหากผู้ดูแลขาดความรู้ ความเข้าใจ อาจทำให้ผู้สูงอายุถูกทำร้าย หรือถูกทอดทิ้งได้
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุสมองเสื่อมอาจเกิดจากพยาธิสภาพบางอย่างในสมอง การเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาท หรือเกิดจากผู้ป่วยไม่สามารถสื่อสารถึงสิ่งที่ต้องการได้ เช่น หิว เจ็บปวด กลัว รวมทั้งสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น อากาศร้อน เสียงดัง ฯลฯ
สถิติของโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นศูนย์เชี่ยวชาญเรื่องโรคจิตเวชในผู้สูงอายุ พบว่า มีผู้ป่วยสมองเสื่อมเข้ารักษาที่โรงพยาบาลประมาณ 500 คนต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
เกือบทุกคนจะมีอาการผิดปกติทางพฤติกรรมและจิตใจอย่างน้อย 1 อาการร่วมด้วย ซึ่งที่พบบ่อยมี 9 อาการ เช่น เฉยเมย ไม่สนใจสิ่งรอบตัว ภาวะซึมเศร้า ปัญหาด้านการกิน อารมณ์หงุดหงิด โกรธง่าย เป็นต้น
ผู้ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม ควรทำความเข้าใจกับภาวะสมองเสื่อม พยายามพูดสื่อสารกับผู้สูงอายุเป็นประจำ อธิบายว่ากำลังทำอะไรทีละขั้นตอน และพยายามให้ผู้สูงวัยทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง และรู้สึกว่าชีวิตยังมีความหมาย และมีส่วนร่วม
รวมถึงควรทำสร้อยคอติดป้ายบอกว่าเป็นผู้สูงวัย มีปัญหาด้านความจำ และระบุหมายเลขโทรศัพท์ เพื่อใช้ติดต่อกรณีสูญหาย
(เครดิตภาพปก: pixabay)