วันนี้ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ที่ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้จัดงานเลี้ยงเพื่อระดมทุน ในชื่องาน “ประเทศไทยหนึ่งเดียว” โดยมีการจัดเลี้ยงโต๊ะจีนทั้งหมดจำนวน 200 โต๊ะ โดยขั้นต่ำผู้ที่ต้องการเข้าร่วมงานต้องบริจาคเงินเข้าพรรคค่าโต๊ะจีนขั้นต่ำโต๊ะละ 3 ล้านบาท เพื่อระดมทุนเข้าพรรคให้ได้ตามเป้า 600 ล้านบาท เพื่อใช้ในการเลือกตั้งในปีหน้า
ล่าสุดในงาน นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้เปิดเผยแล้วว่าโต๊ะจีนทั้ง 200 โต๊ะเต็มหมด และสามารถระดมเงินเข้าพรรคได้เกิน 600 ล้านบาทเรียบร้อยแล้ว
สำหรับงานในวันนี้ มีแกนนำพรรคพลังประชารัฐเข้าร่วมอย่างพร้อมหน้า ทั้งนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค รวมถึงอีก 2 รัฐมนตรีในรัฐบาลชุดปัจจุบันที่เข้าร่วมพรรคพลังประชารัฐด้วย ได้แก่ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล
นอกจากนี้ยังมีสมาชิกพรรคเข้าร่วมอีกคับคั่ง ไม่ว่าจะเป็น นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รวมถึงตัวแทนจากพรรคการเมืองอื่น เช่น นายเทวัญ ลิปตพัลลภ
โดยในช่วงเวลาประมาณ 19.40 น. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้กล่าวเปิดงานโดยระบุว่าเดิมทีประเทศไทยมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย แต่ความแตกต่างทางความคิดทำให้ประเทศไทยไม่สามารถก้าวหน้า และถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องก้าวข้ามความขัดแย้งเข้าสู่การพัฒนาประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืน วันนี้ประเทศไทยจึงต้องตัดสินใจเดินหน้าพัฒนา และการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่แค่การเลือก ส.ส. เข้าสภา แต่คือการกำหนดอนาคตของคนไทยทุกคน
ต่อมาในเวลาประมาณ 20.00 ดร.วลัยพร รัตนเศรษฐ ได้กล่างถึงทิศทางของพรรค โดยแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่
ด้านแรกคือการสร้าง นั่นคือสร้างหลักประกันสังคม เริ่มจากสวัสดิการแห่งรัฐที่รัฐบาลปัจจุบันริเริ่มให้มีบัตร แต่พรรคพลังประชารัฐจะให้คนทุกกลุ่มคนละแบบ ตามความจำเป็น โดยจะเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า นอกจากนี้ยังจะมีนโยบายหมดหนี้มีเงินออม โดยจะช่วยบริหารหนี้ผ่านกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนหมู่บ้าน หวังให้คนไทยหมดหนี้ และการสร้างสังคมสีขาว ที่มีความปลอดภัยทั้งจากธรรมชาติ ภัยจากมนุษย์และสังคม และภัยจากภัยพิบัติ อีกทั้งยังจะเน้นการปลอดยาเสพติดซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในหมู่เยาวชน ซึ่งเรื่องนี้จะให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ สุดท้ายจะสร้างสังคมปลอดโรค โดยจะเน้นจากประกันสุขภาพ
ด้านที่ 2 คือการเสริม นั่นคือการเตรียมสังคมสู่ศตวรรษที่ 21 ผ่านการเรียนรู้ใน ”ปัญญาประชารัฐ” เพื่อสร้างปัญญาจากฐานราก เสริมชุมชนเข้มแข็ง เสริมเกษตรยั่งยืน ผ่านการบริหารจัดการน้ำ อาหาร และพลังงาน และสุดท้ายคือการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค
ด้านที่ 3 เป็นการปรับ ซึ่งจะเป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ได้แก่ การสร้างเศรษฐกิจแบบ BCG (bio-circular-green economy) การสร้างนวัตกรรมทางเศรษฐกิจ การปรับสู่เศรษฐกิจแบ่งปัน และการก้าวล้ำทันข้อมูล โดยใช้ AI มาปรับใช้ในภาคเศรษฐกิจไทย
และด้านสุดท้าย คือการเปลี่ยน เป็นการเปลี่ยนการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ประชาชนเป็นเพียงผู้รับราชการ ให้เป็นรัฐบาลที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ยึดถือธรรมาภิบาล เน้นเรื่องความเสมอภาคและเท่าเทียม และลดงานราชการ ร่นเวลาของประชาชน