ถือเป็นครั้งแรกที่กองทัพบกได้เปิดโอกาสให้ชมสมรรถนะของรถถังที่จัดซื้อมา เมื่อวันที่ 24 มกราคม และ 26 มกราคม 2561 ที่ค่ายอดิศร ศูนย์การทหารม้า จ.สระบุรี หลังจากที่มีข้อสังเกต และคำถามเกี่ยวกับการจัดหายุทโธปกรณ์จากสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเฉพาะ รถถัง VT-4 จำนวน 1 กองพัน ที่มีการเซ็นสัญญาในการจัดซื้อระยะแรกโดย พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ดูแลงานด้านส่งกำลังบำรุง กับตัวแทนรัฐบาลจีนนั้น จะเป็น “รถถังเสิ่นเจิ้น” ไร้ประสิทธิภาพ และ มีปัญหาเรื่องอะไหล่การส่งกำลังบำรุงเหมือนรถถัง T-69 ในอดีตที่ต้องขนส่งขึ้นเรือไปซ่อมกันถึง “เมืองจีน” หรือไม่
แต่ในที่สุด ก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อประเทศยูเครนเกิดสงคราม การผลิตและจัดส่งยานเกราะล้อยาง BTR-3E1 ที่กองทัพบกจัดหาเข้าประจำการไม่เป็นไปตามกำหนดเดิม ส่งผลให้การพิจารณายานรบ ประเภทรถถังเพื่อเข้าประจำการในระยะต่อมาได้รับผลกระทบไปด้วย กองทัพบกมองหาตัวเลือกบริษัทใหม่ๆ เพราะ ได้มีการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีไปแล้ว จากเดิมบริษัทตัวแทนจำหน่วยรถถัง T-84 oplot ซึ่งเป็นตัวแทนเดียวกับยานเกราะล้อยาง BTR ไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการฯ เนื่องจากเกรงว่าจะมีผลกระทบจากการจัดส่งล่าช้าเหมือนรถเกราะล้อยาง (ในปัจจุบัน oplot ส่งถึงมือ ทบ.ไทย และเข้าประจำการที่กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์แล้ว 25 คัน)
หวยเลยไปออกที่ “จีน” เพราะมาถูกที่ -ถูกเวลา เมื่อภาพรวมของสถานการณ์การเมืองภายในประเทศไทย ที่ช่วงแรกๆ ของการรัฐประหาร ฝ่ายมหาอำนาจตะวันตกยังมีท่าทีบอยคอต-กดดันไทย แต่จีนยืนเคียงข้างช่วยคานอำนาจกับสหรัฐฯ ให้ไทยด้วย อีกทั้ง จีนเองก็ต้องการเปิดตลาดรถถังรุ่นดังกล่าว ในหลายประเทศ ทั้งเอเชีย และอเมริกาใต้ การเสนอ “ออฟชั่น” ให้กับไทยจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่คณะกรรมการฯ นำมาชั่งน้ำหนักและเลือกซื้อ “ของจีน” ในที่สุด โดยเฉพาะการตั้งศูนย์ซ่อมในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นฐานการผลิตเรื่องอะไหล่และซ่อมบำรุงในภูมิภาค เพื่อสนองตอบต่อการขายอาวุธให้กับประเทศในภูมิภาคนี้
พรีเซ็นเตอร์ “รถถัง” มหามิตร
หากย้อนกลับไป การจัดหารถถังดังกล่าวก็เพื่อทดแทนรถถังเบา M-41 ที่กำลังจะปลดประจำการ โดยระยะที่ 1 วงเงิน 5,020 ล้านบาท จัดหาจำนวน 28 คัน (ส่งถึงไทยครบหมดแล้ว) และ เปิดแสดงสมรรถนะให้ดู, ห้วงที่ 2 วงเงิน 2,030 ล้านบาท จัดหาจำนวน 10 คัน พร้อมด้วย ยุทโธปกรณ์สนับสนุนรวมทั้งกระสุนประเภทต่างๆ (ดำเนินกรรมวิธีเอกสารสัญญาไปเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา) ห้วงที่ 3 วงเงิน 1,900 ล้านบาทเศษ จัดหาจำนวน 10 คัน พร้อมรายการสำคัญอื่นๆ “ดีดลูกคิด” รวมงบประมาณในการจัดหา 1 กองพันเท่ากับ 8,900 ล้านบาท
VT-4 เป็นรถถังหลักรวมเทคโนโลยีที่ทันสมัย ออกแบบเป็นพิเศษเพื่อรองรับสภาวะการสงครามแบบสมัยใหม่ ระบบควบคุมการยิงเป็นระบบไฟฟ้าทั้งหมด มีระบบนำวิถีด้วยแสงเลเซอร์ และสามารถยิงได้ไกลสุดถึง 4,500 เมตร พร้อมทั้ง ระบบควบคุมการยิงแบบ HUNTER KILLER มีระบบป้องกันตัวเองแบบแอคทีฟเชื่อมต่อกับระบบแจ้งเตือนการถูกตรวจจับด้วยแสงเลเซอร์ติดตั้งระบบดับเพลิ งและ ระงับการระเบิดชนิดใหม่ ควบคุมการทำงานในตัวรถด้วยระบบดิจิทัลโดยสมบูรณ์ ติดตั้งระบบนำทางและระบุตำแหน่ง
คุณลักษณะเฉพาะ มีความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่บนถนน 70 กม./ ชม. ในภูมิประเทศเฉลี่ย 35-40 กม./ ชม. ระยะปฏิบัติการ 500 กม. ปีนลาดชันได้สูงสุด 60 เปอร์เซ็นต์ ลุยน้ำลึก 4-5 เมตร ส่วนระบบอาวุธ ประกอบด้วย อาวุธหลัก ปืนใหญ่รถถังลำกล้องเรียบขนาด 125 มม. ปืนกลต่อสู้อากาศยาน ปืนกลร่วมแกน เครื่องยิงระเบิดควัน และ ลูกระเบิดสังหาร ระบบกระสุน ความเร็วในการบรรจุ 8 นัด / นาที
จีน ได้อบรมบุคคลที่กองทัพบกไทยส่งไปฝึกในตำแหน่งช่างอาวุธปืนใหญ่รถถัง และช่างยานยนต์สายพาน ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนก่อน และกลับมาฝึกอบรมตามหลักสูตรพลประจำรถเพิ่มเติม ใช้เวลา 8 สัปดาห์ ชุดแรก 60 คน ที่ศูนย์การทหารม้า จังหวัดสระบุรี โดยมีเจ้าหน้าที่จากจีนให้คำแนะนำ โดยจะจบหลักสูตรการฝึกในต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้
ส่วนการบรรจุรถถังเข้าประจำการนั้น จะส่งมอบให้กองพันทหารม้าที่ 6 กรมทหารม้าที่ 6 (ม.6 พัน.6 ) ขอนแก่น ซึ่งปัจจุบันมีรถถังเบา 32 (Stingray) ประจำการอยู่ก็จะปรับโอนย้าย ให้กับกองพันทหารม้าที่ 9 (ม.พัน 9)และ กองพันทหารม้าที่ 21 กรมทหารม้าที่ 6 (ม.6 พัน.21) จ. ร้อยเอ็ด ส่วน M- 48 A-5 จะคืนคลังกรมสรรพาวุธ ทบ. เพื่อปรนนิบัติบำรุงก่อนส่งไปแทน M41 A3 ที่ กองพันทหารม้าที่ 8 กรมทหารม้าที่ 7 (ม.7 พัน.8) นครราชสีมา
สลายภาพลักษณ์“ของก็อป-ต่อยอด”
ด้วยความทันสมัย และรูปลักษณ์ที่ “จีน” หวังว่าจะลบภาพ “ของก๊อป” ทำให้ VT-4 กลายเป็นรถถังลูกผสม ที่มีรูปลักษณ์ปราดเปรียว ทันสมัย มีสมรรถนะที่ดีที่จะใช้ในการเป็นรถถังในเจนเนอเรชั่นใหม่ เพื่อใช้เปิดสายการผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นสินค้า โดยมีกองทัพบกไทยเป็น “พรีเซ็นเตอร์” ในการเป็น “ผู้ซื้อ” ประเทศแรก จึงทำให้ “จีน” ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข่าว มากกว่าจะใช้วิธีปิดลับ เหมือนโครงการอาวุธอื่นๆ และในวันที่มีการเปิดแสดงสมรรถนะ สื่อจีนก็เดินทางมาเก็บภาพข่าว การสัมภาษณ์สื่อไทยเพื่อเก็บเป็นไฟล์ข้อมูลด้วย โดย บีบีซี ได้นำเสนอประเด็นดังกล่าวในการนำเสนอ
ทบ.เปิดตัวรถถัง VT4 จากจีนซึ่งไทยเป็นลูกค้ารายเดียวในโลก http://www.bbc.com/thai/thailand-42828518
ขณะที่ เพจอาวุธชื่อดังอย่าง “TAF” https://www.facebook.com/thaiarmedforce/ เทียบรูปลักษณ์ของ VT-4 ว่าเป็น “Baby Abram?
“เมื่อวิเคราะห์จะมุมมองของตัวรถในหลายมุม จะเห็นได้ชัดเลยว่า VT-4 เป็นรถถังเจเนอเรชั่นใหม่ของจีนที่นำอิทธิพลจากการออกแบบรูปทรงภายนอกของตะวันตกมาปรับใช้แทนที่สไตล์การออกแบบของสหภาพโซเวียตเกือบทั้งหมดแล้ โดยตัวรถมีรูปทรงคล้ายกับ M-1 อับรามส์ของสหรัฐฯที่ย่อส่วนลงมา ส่วนรูปทรงของป้อมปืนเป็นการผสมกันระหว่างM-1 กับเลโอปาร์ด2 เอ5ของเยอรมันเข้าด้วยกัน โดยมีการออกแบบแผ่นเกราะปฏิกริยา(ERA)ที่แนบไปกับรูปทรงของตัวรถ สิ่งที่ยังดูมีความเป็นโซเวียตเดิมในตอนนี้คือรูปแบบของล้อกดสายพานเท่านั้น แม้แต่ตัวสายพานยังเป็นแบบมีแผ่นยางรอง2ชิ้นทรงเหลี่ยมที่มีใช้งานในM-1A1/2” เพจชื่อดังระบุ
“รถถังปฏิวัติ” สู่ “รถถังไฮเทค”
ทหารม้า เป็นทหารเหล่ารบหลัก ที่เคยเป็นตำนานในอดีต แต่ช่วงสองทศวรรษถูกลดบทบาทลง ไม่มีผู้บัญชาการทหารบกที่ขึ้นจากเหล่าม้า หลังจาก “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ที่ถือเป็นพ่อม้าอาวุโสสูงสุดของประเทศ และกลายเป็นตำนานเกือบจะหน้าสุดท้ายของทหารม้า
ในด้านการสงคราม สมรภูมิรบสำคัญของโลก “ทหารม้า” คือกำลังสำคัญ และสร้างประวัติศาสตร์มากมาย ส่วนในประเทศไทย “รถถัง” เข้าร่วมการรบหลายครั้ง และยังคงทำหน้าที่ในการใช้อำนาจการยิงและเสียงข่มขวัญข้าศึก เช่น สมรภูมิที่ โนนหมากมุ่น จ.สระแก้ว มีรถถัง M41 เข้าสนับสนุน หรือสมรภูมิการรบที่ร่มเกล้า ปี 2529 ใช้รถถังเบา “scorpion” จาก ม.พัน.26 จ.เพชรบูรณ์ เป็นฐานยิง
ขณะที่ ชายแดนด้านกองทัพภาคที่ 3 ในการปะทะกับ “พม่า” มีการเตรียมการรถเกราะ V-150 ขึ้นไปไว้ที่เชียงราย แต่ไม่ได้อออกปฏิบัติ หรือแม้กระทั่ง เหตุปะทะชายแดนกองทัพภาค 2 ในกรณีพื้นที่พิพาทบริเวณเขาพระวิหารกับกัมพูชา มีการเคลื่อนย้าย รถถังM-60A3 จากม.พัน.5 และ ม.พัน 17 เข้าไปในพื้นที่แต่ยังไม่ได้มีการปฏิบัติการ ขณะที่รถถัง M-48A1 จาก ม.พัน.21 ภาคอีสานเข้าทำการยิงช่วยสนับสนุนปืนใหญ่ ถือว่ายังมีเลเซอร์ในการชี้เป้า
ในขณะนั้น M-48 เป็นรถถังที่กองทัพบกไทยจัดหามาในยุครัฐบาลพลเรือน ภายใต้โครงการ FMS ของสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าทอดระยะเวลานานพอสมควรก่อนจะมีการซื้อรถถังเข้าประจำการอีกครั้ง ก่อนที่กองทัพบกจะพิจารณาภัยคุกคามและเล็งเห็นถึงความสำคัญของ “รถเกราะ” และเลือกรถเกราะจากค่ายยูเครนเข้ามาหลายกองพัน ตามมาด้วย “ รถถัง” Oplot เข้าประจำการหน่วยทหารด้านตะวันออก ซึ่งถือเป็นพื้นที่ในทางยุทธวิธีที่เหมาะสมกับการใช้รถถังทำการ การดำเนินการ
ยังไม่นับรถถังที่ถือว่า เก่าแก่ และผ่านทหารม้ามาหลายชั่วอายุคน คือ M41 ที่กำลังทยอยปลดประจำการเนื่องจากใช้งานมากว่า 30 ปี อะไหล่และสายการผลิตหมดไปตามกาลเวลา เทคโนโลยีการพัฒนาระบบต่างๆ ล้าสมัยไม่ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป
“แต่รถถัง เอ็ม41 นี่ถือเป็นเหมือนชีวิตของทหารม้าเหมือนกันนะ มันอยู่กับพลประจำรถถังมาหลายรุ่น อยู่กับสิบเอกมาแล้วไม่รู้กี่ยุค ถือว่าคนเข้ากับอาวุธได้เป็นอย่างดี เหมือนเป็นเนื้อเดียวกัน รู้ใจกัน” ทหารม้ารายหนึ่งระบุ
แถมรถถังรุ่นดังกล่าว ยังผ่านการปฏิวัติรัฐประหารมาหลายครั้ง เนื่องจากประจำการอยู่ในหน่วยรถถังในเขตกองกำลังรักษาพระนคร คือ ม.พัน.4 กองพันรถถังใน กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.)ย่านเกียกกาย ที่เมื่อเกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจขึ้นเมื่อใด ก็จะมีรถถังรุ่นดังกล่าวออกมาแสดงสัญลักษณ์ยึดพื้นที่จุดศูนย์ดุลสำคัญ เช่นเดียวกับการปฏิวัติดอกไม้ ปี 2549 ยุค “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. ก็ใช้บริการรถถังรุ่นดังกล่าว ส่วนการยึดอำนาจของ คสช. ใช้แค่รถบรรทุกทางทหาร FTS จำนวน 3 คันปิดทางเข้าออกสโมสร ทบ. และอีก2 คันผิดทางแยกไปยังอาคารกำลังเอก ที่ทำงานสื่อมวลชน รวมถึง รถฮัมวี่ 4 คัน ไม่มีการเปิดตัวของรถถังในการแสดงสัญลักษณ์เหมือนในอดีต
ยุทโธกรณ์ดังกล่าวจึงมีบทบาทหลักในเตรียมความพร้อม การป้องปราม เมื่อเกิดปัญหากระทบกระทั่งกันขึ้นตามแนวชายแดนเป็นหลัก การเลือกพิจารณาเลือกซื้อจึงคำนึงในเรื่องยุทธศาสตร์และคานอำนาจกับมหาอำนาจที่มองไทยเป็นภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญในภูมิภาคนี้เท่านั้น
จึงไม่แปลกที่เมื่อ ทหารม้า พลประจำการรถถังจะรู้สึกดีใจ ที่จะได้สัมผัสเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มากับVT-4 นอกจากการเรียนรู้ พัฒนาตัวเองแล้ว แต่ยังหมายถึงการที่ผู้บังคับบัญชาใส่ใจที่จะพัฒนาเขี้ยวเล็บให้กับหน่วยทหารม้า และให้ความสำคัญเท่าเทียมกับเหล่าอื่น ภายใต้แผนพัฒนากองทัพตามที่ควรจะเป็น
ส.อ.กฤษฎา ศรีบุตรตา ผบ.รถ ม.6พัน 6 กล่าวว่า ดีใจที่มีรถถังใหม่เข้ามาประจำการ และเป็นรถถังรุ่นใหม่ มีความทันสมัยเพื่อให้กำลังได้เรียนรู้ มีระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการยิงถือที่เชื่อถือได้อย่างมาก เท่าที่ได้สัมผัสการยิงมา 20-30 นัดแล้ว การชดเชยมุมยิงต่างๆ ถือว่าทำได้ดี ที่สำคัญคือมีระบบ ออโต้ แท็คกิ้ง ช่วยในการเจาะเป้าหมายเคลื่อนที่ได้ง่ายเพิ่มมากขึ้น สำหรับระบบ ล่าสังหาร ขณะที่พลยิงจะเลือกการยิงเป้าหมาย ระบบจะสามารถเลือกเป้าหมายรอไว้ได้เลยเพื่อความรวดเร็วในการทำลายเป้าหมายต่อไป สำหรับกระสุนเจาะเกราะถือเป็นกระสุนที่มีอานุภาพร้ายแรงมาก ในระยะ 1,100 เมตรใช้เวลาไม่ถึงครึ่งวินาที อีกมีการล็อคเป้าหมาย ปืนวิ่งตามเป้าหมายโดยอัตโนมัติโดยคนยิงไม่ต้องควบคุม เมื่อเทียงกับ รถถัง “สติงเรย์” ที่ใช้อยู่ก็จะอายุประมาณ 30 ปี ระบบควบคุมการยิงก็เป็นไปตามยุคสมัย แต่ก็ยังเป็นยุทโธปกรณ์ที่ใช้ทำลายเป้าหมายได้เป็นอย่างดี
พี่ไทยเนื้อหอม – “จีน” ม้าตีนต้น
เมื่อไทยผนวกแผนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่ร่วมมือกับมิตรประเทศโดยริเริ่มกับ สาธารณรัฐประชาชนจีนก่อน ก็เริ่มมีเสียงเซ็งแซ่จาก “มหามิตร” เดิม อย่างสหรัฐฯ ที่กลับมารื้อความสัมพันธ์กับไทยมากขึ้น จากที่หลายปีก่อนก็มาลงทุนในการสร้างท่าเรือทุ่งโปรง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี แบบเงียบๆ
พอรัฐบาลทหารอนุมัติ จัดหาเรือดำน้ำจีน เลยมาถึงการจัดหารถถัง-รถเกราะจากจีนล็อตใหญ่ ข่าวคราวการหารือเรื่องความร่วมมือตั้งศูนย์ซ่อมอาวุธฯ กับสหรัฐฯ เริ่มออกมาบ้างประปราย แต่สถานฑูตฯสหรัฐ ปฏิเสธข่าวดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง ทว่า แผนเดิมที่ “จีน” กระตือรือร้นอย่างหนักในการลงทุนร่วมกับไทย ที่โคราชนั้น กลับมีการยืนยันว่า มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว โดยจะมีการย้ายไปสร้างที่ จังหวัดขอนแก่นแทน เพราะเป็นจังหวัดที่ จีนจัดตั้งสถานกงสุลอยู่ที่นั่น อีกทั้งเป็นจังหวัดที่มี รถถังVT4 เข้าประจำการอยู่
และในอนาคตยังมี โครงการจัดซื้อรถเกราะ VN-1 จากจีน ที่กองทัพบกซื้อเข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งเป็นโครงการระยะต่อเนื่องในการซื้อรถเกราะเข้าประจำการ หลังจาก BTR ส่งล่าช้ากว่ากำหนด ถือเป็นอาวุธอีกล็อตใหญ่ที่ต้องพึ่งพาศูนย์ซ่อมสร้างของจีนในอนาคต
แม้ช่วงต้นปี การขับเคลื่อนเรื่องอุตสาหกรรมประเทศ ที่กระทรวงกลาโหมเดินหน้าตามนโยบายของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นรูปธรรม และชัดเจน มีแผนการดำเนินการทั้งระยะสั้น – กลาง – ยาว แต่หลังจากที่สหรัฐฯ กลับมารื้อฟื้นความสัมพันธ์ ดูเหมือนว่า ไม่ได้ลื่นไหลเหมือนก่อนหน้านี้ สอดคล้องกับกระแสข่าวว่า “จีน” ยังขอดูท่าทีของไทยในระยะนี้พอสมควร แต่ก็เชื่อว่าเป็นเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งให้การเมืองภายในและภายนอก เห็นภาพชัดมากกว่า
แต่สิ่งที่สำคัญคือ สถานะของ “บิ๊กป้อม” ที่แม้จะดูแข็งแรง แต่กระแสโจมตีในเรื่องนาฬิกาหรู ไม่ได้จบลงง่ายๆ อีกทั้งยังส่งผลต่อภาพรวมทางการเมือง สัญญาณเหล่านี้ มวลหมู่มหามิตร ที่กำลังมองอยู่ก็ต้องประเมินจังหวะก้าวพอสมควร เพราะ อย่าลืมว่า “บิ๊กป้อม” คือคีย์แมนสำคัญในการสานสัมพันธ์กับจีน จนเป็นที่มาของโครงการ จัดซื้อเรือดำน้ำ และซื้อรถถังจากจีน เชิงยุทธศาสตร์ พลิกโฉมวงการอาวุธในประเทศไทยอย่างที่หลายคนไม่คาดคิด
สังคมต้องจับตามองต่อไป และดูในระยะยาว ในเรื่อง “คุณภาพ” แม้นักยุทธวิธีจะมองว่าการซื้อเทคโนโลยีก็คุ้มค่ามหาศาล อีกทั้งจีนในยุคใหม่ ไม่เหมือนเมื่อก่อน ได้มีการพัฒนาเรื่องยุทโธปกรณ์ไปไกลแล้ว แต่ก็ต้องรอดูในช่วงของการซ่อมบำรุง
“เขาเริ่มจากการ copy ไปสู่ develop ไปสู่ innovation รถถังยุคนี้ไม่ต่างกัน เพราะเป็นรถถังในโลกยุคใหม่ แต่จีนให้อะไรที่เหนือกว่าประเทศอื่น คือการถ่ายทอดเทคโนโลยี หลักประกันเรื่องการส่งกำลังบำรุง และอะไหล่ ที่กองทัพให้ความสำคัญจุดนี้ ถ้าเทียบง่ายๆ คือ หัวเหว่ยรุ่นใหม่ ไม่ใช่ซัมซุง ไอโฟน คือเทคโนโลยี ไม่ต่างกัน อยู่ที่อนาคตว่าการใช้งานจะคงทน เสถียร มีศูนย์ซ่อมและการดูแลหลังการขายดีไหมเท่านั้น” ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธรายหนึ่งกล่าว.