กฎหมายใหม่ที่กำหนดบทลงโทษเรื่องไม่มี-ไม่พกใบอนุญาตขับขี่รถ ที่มีอัตราโทษสูง ปรับ 50,000 บาท จนทำให้มีประชาชนออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย กรมการขนส่งทางบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมาแถลง ยืนยันการเพิ่มโทษจะช่วยลดอุบัติเหตุ


นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า จากสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนของไทย ที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO จัดอันดับให้ไทยอยู่สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นที่มาของแนวคิดที่จะปรับรูปแบบและพัฒนาใบอนุญาตขับขี่ให้ออกยากและมีประสิทธิภาพมากขึ้นหวังช่วยลดอุบัติเหตุ และปัจจุบันมีข้อมูลการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์กับกรมการขนส่งทางบก ที่ไม่สอดคล้องกับจำนวนใบอนุญาตขับขี่ โดยพบว่ามีรถจดทะเบียน 20 ล้านคัน แต่มีผู้ขอทำใบอนุญาต 12 ล้านใบ นั่นหมายว่าว่าอาจมีประชาชนอีกกว่า 8 ล้านคนที่ใช้รถโดยไม่มีใบอนุญาต
ส่วนความเห็นของประชาชนที่มองว่าโทษปรับ 50,000 บาท สูงเกินไป กรมการขนส่งทางบกจะรวบรวมส่งให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.ประกอบการพิจารณา ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายที่ออกมาจะเป็นไปตามที่ปรากฎทั้งหมด เชื่อว่าอาจมีการปรับเปลี่ยนไปตามความเห็นของ สนช. ส่วนการบังคับใช้จริงก็จะต้องระหลังวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา 1 ปี เพื่อให้ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชนเตรียมความพร้อม

พล.ต.ต.เอกลักษณ์ ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 3 ในฐานะคณะทำงานแก้ไขปัญหาจราจร ระบุว่า ในกฎหมายฉบับใหม่ ดุลยพินิจในการสั่งปรับหรือจำคุกจะเป็นอำนาจศาลเท่านั้น คล้ายกับกรณีเมาแล้วขับในปัจจุบันที่ต้องประกันตัว ส่งฟ้องศาสล และตำรวจจะไม่สามารถเรียกปรับได้อีกต่อไป
ส่วนอัตราค่าปรับที่สูงสุดถึง 50,000 บาท นั้นเชื่อว่าศาลจะพิจารณาตามลักษณะของการกระทำ และการกระทำผิดซ้ำของแต่ละบุคคล ซึ่งที่ผ่านมาตามกฎหมายฉบับปัจจุบันค่าปรับกรณีขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่ที่ 1,000 บาท ตำรวจไม่เคยปรับเต็มอัตรา

นพ.ธนะพงศ์ จินวงศ์ ผอ.ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ระบุว่า การไม่มีใบขับขี่ในระดับสากลถือว่าสำคัญมาก เนื่องจากเป็นการปล่อยให้คนที่ไม่มีทักษะไปใช้รถ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ จากการเก็บข้อมูลเด็กที่บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจำนวน 1,200 คน จาก 12 โรงพยาบาลทั่วประเทศพบว่ามีค่าเฉลี่ยอายุอยู่ที่ 9 ขวบ และส่วนใหญ่จะเป็นการเรียนรู้การขับรถจากครอบครัวและเพื่อน ซึ่งไม่ได้เรียนรู้ในเรื่องทักษะการขับรถที่ถูกต้องเหมือนกับการเข้าอบรมกับกรมการขนส่งทางบก เชื่อว่าการเพิ่มโทษในกฎหมายใหม่นี้ จะช่วยให้ผู้ปกครองตระหนักถึงอัตราโทษที่สูง และไม่อนุญาตให้ลูกหลานที่ไม่มีใบขับขี่ใช้รถ จะช่วยลดความเสี่ยงอุบัติเหตุในกลุ่มอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่ไม่สามารถทำใบขับขี่ได้