ขยับหรือนิ่ง ไม่มีผลเกี่ยวกับความเครียด หรือมีปัญหาทางจิต ! อ.จุฬาฯ ไขปริศนาภาพลวงตา ที่โลกออนไลน์แห่แชร์
วันที่ 17 พ.ย. 61 อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจ “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์”
ถึงกรณีที่มีการแชร์ภาพลวงตาในโลกออนไลน์ ที่อ้างว่า เป็นผลงานของศาสตราจารย์ทางด้านประสาทวิทยาชาวญี่ปุ่น หากใครเห็นภาพนี้เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง แสดงว่าเครียดมาก และอาจมีปัญหาทางจิตนั้น ซึ่ง อ.เจษฎา ได้ยืนยันว่า “ไม่เป็นความจริง”
และได้อธิบายว่า ภาพดังกล่าวเป็นภาพลวงตาที่เรียกว่า optical illusion ที่หลอกให้สมองเชื่อว่ากำลังขยับ สร้างขึ้นจากนักวิจัยชาวยุโรป ต่อมา Alice Proverbio นักประสาทวิทยาและนักจิตวิทยา ของมหาวิทยาลัย Milano-Bicocca ประเทศอิตาลี ได้เผยแพร่ผ่านทวิตเตอร์
“โพรเวอบิโอ ทวีตบอกว่า ในสมองของคนเรา มีบริเวณที่ตอบสนองต่อการดูภาพแบบนี้อยู่ 2 จุด คือ บริเวณที่เรียกว่า V5 ที่ตอบสนองต่อการเคลื่อนที่ และบริเวณ V4 ที่ตอบสนองต่อรูปทรงและสีสัน
“และพบว่าเมื่อ V4 (รูปทรงและสีสัน) ถูกกระตุ้นอย่างเต็มที่แล้ว จะทำให้ V5 (การเคลื่อนที่) ถูกกระตุ้นตามไปด้วย นั่นคือ ทำไมเวลาจ้องมองภาพนิ่งที่เต็มไปด้วยสีสันและรูปทรงแบบนี้ เราจึงรู้สึกว่ามันหมุนหรือขยับได้
“…ขณะที่บางคนดูรูปแล้วเหมือนมันขยับ แต่บางคนก็อาจจะเห็นมันนิ่งไม่ขยับเลย ซึ่งก็แล้วแต่ระบบการรับรู้ของสมองแต่ละคน แต่ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดอะไรเรื่องความเครียด หรือภาวะทางจิต แบบที่แชร์กันครับ”